กองทัพนักธุรกิจจีนบุกไทย หนุนเศรษฐกิจฟื้นตัวหลังโควิด
ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพประชุมใหญ่นักธุรกิจจีนในเดือนนี้ หวังดึงการลงทุนจากจีนเพิ่มในหลากหลายสาขา อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า ส่งเสริมเศรษฐกิจหลังโควิด-19
เว็บไซต์นิกเคอิเชียรายงาน หอการค้าไทย-จีนจะเป็นเจ้าภาพการประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก (World Chinese Entrepreneurs Convention-WCEC) ระหว่างวันที่ 24-26 มิ.ย. ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ คาดว่าจะมีนักธุรกิจชาวจีนจากทั่วโลกกว่า 4,000 คนมาร่วมหารือ จัดนิทรรศการ เจรจาการค้า และคุยธุรกิจ
นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน ระบุ “นี่เป็นการประชุมใหญ่ที่นักธุรกิจระดับเวิลด์คลาสมารวมตัวกันในกรุงเทพฯ ธีมการประชุมเพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนเพื่อหุ้นส่วนได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ซึ่งช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว”
นายณรงค์ศักดิ์กล่าวและว่า ผู้จัดได้เชิญนักธุรกิจใหญ่หลายรายของไทย อาทิ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ผู้มั่งคั่งที่สุดในประเทศไทย ประธานอาวุโสซีพีกรุ๊ป บริษัทใหญ่สุดของประเทศ และนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ผู้ก่อตั้งและประธานทีซีซีกรุ๊ป ยักษ์ใหญ่เครื่องดื่มและอสังหาริมทรัพย์ คาดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะร่วมงานด้วย
นิกเคอิระบุว่า การประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทยหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. พรรคก้าวไกลได้เสียงมากที่สุด แต่ไม่แน่ว่าจะตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ เพิ่มความวิตกให้ภาคธุรกิจเรื่องกระบวนการเปลี่ยนผ่านและการต่อเนื่องของนโยบาย
หัวข้อหลักที่จะหารือกันในการประชุมมีทั้งโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) สิทธิพิเศษของการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษ และมาตรการจูงใจสำหรับภาคส่วนอีวีเพื่อดึงดูดผู้ผลิตรถจากจีนเข้ามาลงทุนในเขตนี้มากขึ้น
ทั้งนี้ จีนเป็นแหล่งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ใหญ่สุดของไทยในปี 2565 งานนี้จะยิ่งเป็นตัวเร่งให้การลงทุนจากจีนซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่สุดในเอเชียไหลเข้าไทยมากขึ้น
ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ปี 2565 จีนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย การค้าระหว่างสองประเทศมูลค่า 3.69 ล้านล้านบาท
ที่ผ่านมาไทยติดต่อหลายประเทศให้เข้ามาลงทุนโดยเฉพาะในอีอีซี อย่างไรก็ตาม เอฟดีไอจีนมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากรัฐบาลขณะนี้เน้นย้ำการลงทุนอีวีดึงผู้ผลิตรถยนต์จีนหลายรายให้เข้ามา
ข้อมูลคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ชี้ว่า ปีก่อนจีนเป็นนักลงทุนรายใหญ่สุดของไทยรวม 7.74 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่ลงในภาคส่วนอิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์ ญี่ปุ่นเป็นอันดับสอง 5.08 หมื่นล้านดอลลาร์ สหรัฐ 5.03 หมื่นล้านดอลลาร์ และไต้หวัน 4.52 หมื่นล้านดอลลาร์
เกรทวอลล์มอเตอร์และบีวายดี เป็นหนึ่งในผู้ผลิตรถอีวีรายใหญ่ของจีนที่เข้ามาลงทุนในไทยเรียบร้อยแล้ว บีโอไอกล่าวว่ายังได้หารือกับบริษัทรถอีวีจีนรายอื่นๆ ให้เข้ามาผลิตรถเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย
งาน WCEC จัดขึ้นทุกสองปี เริ่มตั้งแต่ปี 2534 ครั้งล่าสุดจัดขึ้นที่กรุงลอนดอนเมื่อปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาดใหญ่ ไทยเคยเป็นเจ้าภาพมาแล้วในปี 2538 ปีนี้เป็นครั้งที่ 2 นายณรงค์ศักดิ์กล่าวด้วยว่า เฉพาะตัวงาน WCEC มีส่วนหนุนภาคการท่องเที่ยวไทยด้วย เนื่องจากผู้ร่วมงานและคณะผู้ติดตามจำนวนมากจะได้เยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในเมืองไทย
“เงินสะพัดอย่างน้อยๆ 300-400 ล้านบาท เพราะผู้มาร่วมงานส่วนใหญ่วางแผนท่องเที่ยวต่อในเมืองไทย”
แหล่งข่าวระดับสูงรายหนึ่งเผยกับกรุงเทพธุรกิจว่า จีนมองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเหมือนฮับอุตสาหกรรม ความร่วมมือ การค้า การลงทุนด้านเทคโนโลยี กองทัพเอกชนจีนที่มารอบนี้เป็นบริษัทสัญชาติจีนที่มีอยู่ทั่วโลกเน้นด้านเทคโนโลยี สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น
น่าสังเกตว่าก่อนหน้านี้สำนักงานการค้าระหว่างประเทศ (International Trade Administration) สหรัฐ พิจารณาให้ประเทศไทยเป็นสถานที่จัด Trade Winds Trade Mission and Business Development Forumระหว่างวันที่ 13-15 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมีการประชุมกับทูตพาณิชย์ของสหรัฐฯ จากประเทศต่าง ๆ ในเอเชียกว่า 20 ประเทศ การประชุมจับคู่ระหว่างธุรกิจ และการประชุมกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย โดยในทุกการประชุม บริษัทสหรัฐจะได้รับข้อมูลและมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับโอกาสและความร่วมมือที่เป็นไปได้ในตลาดต่าง ๆ
แหล่งข่าวอีกรายเคยเผยกับกรุงเทพธุรกิจ ณ ขณะนั้นถึงงาน Trade Winds ว่า
สหรัฐมีแผนกระชับความร่วมมือกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายในอินโดแปซิฟิกเพื่อให้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโดแปซิฟิก (IPEF) เป็นรูปธรรมมากขึ้น แต่เนื่องจากงาน Trade Winds มีผู้ร่วมงานหลักร้อย ขณะที่ทางฝ่ายจีนมีผู้มาร่วมงานหลายพันคน ดังนั้นช่วงเวลาจัดงานจึงสำคัญมาก
“ถ้าได้พรีเซนต์สินค้าของตนก่อน โอกาสที่ไทยจะร่วมมือทางการค้ากับสหรัฐคงมีมากกว่า” แหล่งข่าวระบุ