‘พิธา’ คุยสมาพันธ์เอสเอ็มอีชื่นมื่น เร่งดัน “หวยใบเสร็จ - ชงตั้งสภา SME”

‘พิธา’ คุยสมาพันธ์เอสเอ็มอีชื่นมื่น เร่งดัน “หวยใบเสร็จ - ชงตั้งสภา SME”

‘พิธา’ พบสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย พร้อมเดินหน้านโยบายหวยใบเสร็จ ชงตั้งสภาเอสเอ็มอี ชู 3 มาตรการฟื้นรายย่อย เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส

วันที่ 13 มิ.ย. ที่สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และว่าที่นายกรัฐมนตรี นำทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล ร่วมประชุมกับสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย นำโดย นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย หารือนโยบายเร่งด่วนช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยปัจจุบันมีการจ้างงานมากกว่า 12 ล้านคน และเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

นายพิธา กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกันว่า ทีมเศรษฐกิจพรรคได้ร่วมหารือกับสมาพันธ์เอสเอ็มอีถึงสถานการณ์ของผู้ประกอบการในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และสอบถามถึงความต้องการของสมาพันธ์รวมทั้งรับสมุดปกขาว โดยได้เสนอ 3 มาตรการหลักที่จะเร่งฟื้นฟูเอสเอ็มอี ได้แก่ 1.การเพิ่มรายได้ อาทิ นโยบายหวยใบเสร็จ

2.การลดรายจ่าย ทั้งด้านต้นทุนพลังงาน และการเงิน 

3.ขยายโอกาสให้เอสเอ็มอี โดยผ่านกฎหมายให้สมาพันธ์เอสเอ็มอีตั้งเป็นสภาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยเพื่อให้มีโอกาสได้เข้าร่วมประชุมกับรัฐบาล และสร้างกลไกที่จะเป็นแต้มต่อในการต่อรอง การมีส่วนร่วมในการผลักดัน และแก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย รวมทั้งการตัดกฎหมายที่เป็นอุปสรรค และไม่จำเป็น การออกใบอนุญาตของราชการ

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย นายแสงชัย กล่าวว่า วันนี้ทั้งสองฝ่ายได้ข้อสรุปรวมทั้งมาตรการที่คิดเห็นตรงกันถึงแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโตสู่สากล ประกอบด้วย 

1. มาตรการปลุกเศรษฐกิจฐานราก กระจายรายได้ส่วนท้องถิ่น มีผลต่อการเพิ่มสัดส่วนจีดีพีประเทศ จากรายได้และกำลังซื้อเพิ่มขึ้น พร้อมสร้างตลาดส่งออกไปยังต่างประเทศ

2. มาตรการแก้ไขปัญหาต้นทุนให้เอสเอ็มอีรวมถึงการลดค่าครองชีพประชาชนในมิติต่างๆ เช่น เรื่องการปฏิรูปโครงสร้างพลังงาน ตั้งแต่ไฟฟ้า น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม ปุ๋ย โดยส่งเสริมการผลิตในประเทศทดแทนการนำเข้าสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เข้มแข็ง ให้ผู้ประกอบการมีขีดความในการแข่งขัน

รวมถึงการทบทวนมาตรการช่วยเหลือภาคแรงงาน โดยใช้มาตรการคนละครึ่งแบบมุ่งเป้า เฉพาะกลุ่มแรงงานคนไทยรายวัน เพื่อลดผลกระทบทั้งผู้ประกอบการและแรงงาน 

3.มาตรการเข้าถึงแหล่งต้นทุนต่ำ สำหรับเอสเอ็มอี และฟื้นฟูหนี้ NPL ซึ่งยังไม่ฟื้นจากวิกฤติเศรษฐกิจโควิด โดยเน้นการสร้างแต้มต่อดอกเบี้ยต่ำให้เอสเอ็มอี รวมทั้งจัดตั้งกองทุนฟื้นฟู และพัฒนาเอสเอ็มอี โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง รายย่อยที่ไม่อยู่ในระบบ

4.มาตรการยกระดับขีดความสามารถเอสเอ็มอี และภาคแรงงาน โดยจูงใจแรงงานนอกระบบจำนวนมากให้เข้าสู่ระบบ รวมทั้งการพัฒนาฝีมือ และทักษะในการทำงานของผู้ประกอบการ และแรงงานซึ่งจะเป็นการเพิ่มรายได้

ให้กับทั้งสองฝ่าย

5. มาตรการแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค ซึ่งก่อนหน้านี้ทีดีอาร์ไอได้รวบรวมไว้

‘พิธา’ คุยสมาพันธ์เอสเอ็มอีชื่นมื่น เร่งดัน “หวยใบเสร็จ - ชงตั้งสภา SME”