1 ปี ‘ชัชชาติ’ เคลียร์หนี้ BTS ก้อนแรก 2 หมื่นล้านบาท

1 ปี ‘ชัชชาติ’ เคลียร์หนี้ BTS ก้อนแรก 2 หมื่นล้านบาท

“ชัชชาติ” โชว์ผลงาน 1 ปี แก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว ชงสภา กทม.ต้นเดือน ก.ค.นี้ เคาะจ่ายหนี้ 2 หมื่นล้านบาท เคลียร์หนี้งานติดตั้งระบบส่วนต่อขยาย หลังหารือร่วม “คีรี” นัดแรก ยืนยันพร้อมให้บริการต่อเนื่อง ส่วนข้อเสนอสัมปทานแลกหนี้ โยนรัฐบาลเคาะต่อสัมปทานตามคำสั่ง ม.44

Key Points

  • ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ รับตำแหน่งผู้ว่าราชการ กทม.ครบ 1 ปี ทำงานบนความคาดหวังที่จะแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว
  • ปัจจุบันกรุงเทพมหานคร เป็นหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าและวางระบบที่ต้องจ่ายให้ BTS รวม 50,000 ล้านบาท
  • ความขัดแย้งทำให้มีการฟ้องร้องและศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้กรุงเทพมหานครชำระหนี้คดีแรก 11,755 ล้านบาท
  • ผู้ว่าราชการ กทม.จะเสนอสภากรุงเทพมหานครให้ชำระหนี้ก้อนแรก 20,000 ล้านบาท จากเงินสะสมของ กทม.

ภายหลังการเข้ารับหน้าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ครบ 1 ปี ได้มีการหารือเพื่อติดตามการแก้ปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือ รถไฟฟ้า BTS และเป็นผู้รับจ้างเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย

ก่อนที่นายชัชชาติ ระเข้ารับตำแหน่งมีการเสียงถึงแนวทางการแก้ปัญหาหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งส่วนที่ต้องจ่ายให้ BTS และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รวมถึงราคาค่าโดยสารที่ 59 บาท และการเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายหมอชิต-คูคต เพื่อเป็นรายได้ของกรุงเทพมหานครที่จะใช้ชำระหนี้

ล่าสุดนายชัชชาติ ได้หารือกับผู้บริหาร BTS ถึงแนวทางการแก้ปัญหาการชำระหนี้ให้กับ นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) วงเงินรวม 50,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นปัญหาที่นำมาสู่การฟ้องร้องศาลปกครอง

นายชัชชาติ เปิดเผยภายหลังการหารือว่า การหารือครั้งนี้เพื่อหาทางออกร่วมกันว่าจะมีแนวทางปฎิบัติมีความเป็นไปได้เกี่ยวกับการใช้หนี้ให้กับภาคเอกชนอย่างไรบ้าง เนื่องจากปัญหาสะสมมานาน และได้เห็นแล้วว่าภาคเอกชนต้องแบกรับต้นทุนจากการลงทุนให้บริการ ซึ่งโครงข่ายรถไฟฟ้าได้เปิดให้บริการและแก้ไขปัญหาการเดินทางของประชาชนจริง

กทม.ได้แบ่งปัญหาเกี่ยวกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวไว้ 2 เรื่อง คือ 

1. หนี้ที่เกิดจากค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง O&M (Operation and Maintenance) รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 (อ่อนนุช-แบริ่ง และสะพานตากสิน-บางหว้า) และส่วนต่อขยายช่วงที่ 2 (แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ซึ่งเรื่องนี้ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนพิจารณาของศาลปกครองสุงสุดแล้ว

2. หนี้ที่เกิดจากค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) โดยก้อนหนี้ส่วนนี้ได้ครบกำหนดต้องชำระให้กับภาคเอกชน ซึ่งที่ผ่านมาทราบว่าคณะกรรมการวิสามัญที่ผ่านมาประชุมแล้ว 5 ครั้ง ดังนั้นคาดว่าปัจจุบันจะมีรายละเอียดเพียงพอต่อการประกอบการพิจารณา หากเปิดการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยหน้า หรือราวต้นเดือน ก.ค.2566 จะสามารถนำเรื่องหนี้ E&M รถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ครบกำหนดชำระเข้าสู่การพิจารณาของสภากรุงเทพมหานครได้

1 ปี ‘ชัชชาติ’ เคลียร์หนี้ BTS ก้อนแรก 2 หมื่นล้านบาท

“ชัชชาติ”เสนอสภา กทม.จ่ายหนี้

“ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้เตรียมการเรื่องการชำระหนี้มาตลอด แต่ต้องชี้แจงว่ากระบวนการในการดำเนินการ อย่างเรื่องที่บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ไปจ้าง BTS เป็นผู้เดินรถไฟฟ้า เรื่องนี้ต้องขออนุมัติจากทางสภากรุงเทพมหานครก่อน และเรื่องการชำระเงินค่าจ้างให้แก่เอกชน ก็ต้องพิจารณานำเงินสะสมจ่ายขาดไปดำเนินการ ซึ่งปัจจุบันมีคงเหลือ 4-5 หมื่นล้านบาท และเรื่องนี้ก็ต้องเสนอให้สภากรุงเทพมหาครพิจารณา” นายชัชชาติ กล่าว

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร จะดำเนินการแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวคู่ขนานใน 2 ทาง คือ 

1.การนำเรื่องเสนอเข้าสภากรุงเทพมหานคร เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับการชำระหนี้ E&M ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วนี้ และสามารถเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครในสมัยหน้าได้ทันที 

2.การติดตามเร่งรัดทางรัฐบาลในหลายประเด็นเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งรวมถึงแนวทางเกี่ยวกับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 44 ในเรื่องพิจารณามูลหนี้ต่อการทำสัญญาสัมปทานใหม่ โดยที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้ทำหนังสือไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหาแล้ว

โยนรัฐบาลเคาะต่อสัมปทาน

โดยประเด็นที่ทวงถามไปยังรัฐบาล อาทิ

  • เรื่องที่ 1 อยากให้การสนับสนุนจากรัฐบาลสําหรับโครงสร้างพื้นฐานกับค่าติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) เนื่องจากก่อนหน้านี้มีคำสั่ง มาตรา 44 มอบหมายให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้รับผิดชอบในโครงการนี้ แต่ไม่ได้ให้ค่าใช้จ่ายมาด้วย ดังนั้น กรุงเทพมหานครต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนค่าจ้างส่วนนี้ และค่าโครงสร้างพื้นฐานเหมือนโครงการลงทุนอื่นๆ
  • เรื่องที่ 2 เรื่องที่ค้างอยู่ตาม มาตรา 44 เกี่ยวกับมูลหนี้ที่เกิดจากในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยก่อนหน้านี้คำสั่งดังกล่าวจะพิจารณาในเงื่อนไขให้สัญญาสัมปทานใหม่ ปัจุจบันกรุงเทพมหานคร ได้ทำหนังสือทวงถามถึงแนวทาง และมูลหนี้ที่เกิดขึ้นว่ามีจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งตอนนี้เรื่องยังคงค้างอยู่ในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังไม่มีข้อยุติ ดังนั้นคงต้องสอบถามและเร่งรัดทาง ครม.ด้วยว่าจะพิจารณาอย่างไร

“เราก็เห็นใจทางเอกชนเพราะมีภาระหนี้ที่เยอะ BTS ก็เป็นตัวสำคัญที่ช่วยบรรเทาเรื่องการเดินทาง แต่ว่าเป็นระเบียบปฏิบัติซึ่งทั้งฝ่ายบริหารกับทางสภากรุงเทพมหานคร ก็เข้ามาหลังจากที่มีการดำเนินการไปแล้วนั้น ทำอย่างไรให้ทุกอย่างมันเป็นไปตามในกรอบระเบียบที่กำหนด” นายชัชชาติ กล่าว

“คีรี” มั่นใจได้หนี้คืน 2 หมื่นล้าน

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากการเจรจาครั้งนี้ทำให้บีทีเอสและกรุงเทพมหานครเข้าใจกันมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะพยายามแก้ไขปัญหาและนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมสภา กรุงเทพมหานคร เพื่อจะผลักดันเรื่องให้มีการใช้จ่าย และ BTS มั่นใจว่าจะได้รับเงินก้อนใหญ่ 20,000 ล้านบาท จากการจ้าง E&M ซึ่งจะทำให้ BTS สามารถนำเงินไปให้บริการผู้โดยสารได้ต่อเนื่อง

ในขณะที่ปัญหาหนี้จากงาน O&M หรือค่าเดินรถและซ่อมบำรุงประมาณ 30,000 ล้านบาท ปัจจุบันยังอยู่ในกระบวนการศาลปกครองพิจารณา และเรื่องนี้อยู่ในคำสั่งเดิมของหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 ซึ่งยอมรับว่า ขณะนี้ไม่ทราบว่าทาง ครม.ชุดรักษาการนี้จะทำอะไรได้บ้าง เพราะเรื่องดังกล่าวไม่ได้ผ่านในชุดรัฐบาลที่แล้วแม้จะมีการนำเรื่องเข้าออกการประชุม ครม.ประมาณ 3-4 เที่ยว

“ส่วนตัวคิดว่ารัฐบาลที่ผ่านมาอาจจะไม่เข้าใจดีถึงปัญหา แต่หากรัฐบาลรักษาการจะทำให้เรื่องนี้จบได้ ถ้าทำได้ก็อยากให้ทำ เพราะเป็นเงินก้อนใหญ่สำหรับบริษัทอีกประมาณกว่า 3 หมื่นล้านบาทที่ยังคงค้างอยู่ และเราก็มั่นใจว่าสัญญาที่ทำไว้ในทุกโครงการของเราถูกต้องชี้แจงได้” นายคีรี กล่าว

คดีค้างศาลปกครอง 2 คดี

สำหรับหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวระหว่างบีทีเอส กับกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันแบ่งออกเป็น ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 (อ่อนนุช-แบริ่ง และสะพานตากสิน-บางหว้า) และช่วงที่ 2 (แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ประมาณ 30,000 ล้านบาท และค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้า/เครื่องกล (E&M) รวมกว่า 22,800 ล้านบาท

โดยหนี้ในจำนวนนี้ ปัจจุบันได้มีการยื่นฟ้องและอยู่ในขั้นตอนศาลปกครองพิจารณา แบ่งเป็น 

1.หนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ศาลปกครองพิพากษาให้ กทม. และเคทีร่วมกัน จ่ายหนี้ให้กับบีทีเอส จำนวนประมาณ 11,755.06 ล้านบาท ทั้งในส่วนค่าเดินรถ และซ่อมบำรุง 

2.หนี้ก้อนที่ 2 ส่วนค่าเดินรถและซ่อมบำรุง ที่บีทีเอสได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางให้จ่ายหนี้เพิ่มเติมอีก ประมาณ 11,068.5 ล้านบาท เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2565