ราคาทองฟิวเจอร์ดีดตัวขึ้น เก็งเฟดคงดอกเบี้ยสัปดาห์หน้า

ราคาทองฟิวเจอร์ดีดตัวขึ้น  เก็งเฟดคงดอกเบี้ยสัปดาห์หน้า

ราคาทองฟิวเจอร์ ปิดวันพุธ(6มิ.ย.)ดีดตัวขึ้นกว่า 7 ดอลล์ โดยได้ปัจจัยบวกจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์หน้า

สัญญาทองคำตลาดโคเม็กซ์ ส่งมอบเดือนส.ค. บวก 7.20 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,981.50 ดอลลาร์/ออนซ์

อย่างไรก็ดี ตลาดยังคงถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และการดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ โดยดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นจะลดความน่าดึงดูดของทอง ทำให้สัญญาทองมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น ขณะที่การดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย

นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในสัปดาห์หน้า ขณะที่คาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมรอบนี้ หลังการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานในสัปดาห์ที่แล้ว

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 75.9% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย. และให้น้ำหนักเพียง 24.1% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50%

กระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 339,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 190,000 ตำแหน่ง

ขณะเดียวกัน นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ หลังการเปิดเผยตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมง ซึ่งเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 4.3% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.4%

เมื่อเทียบรายเดือน ค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.3% สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

นายแพทริก ฮาร์เกอร์ ประธานเฟด สาขาฟิลาเดลเฟีย และนายฟิลิป เจฟเฟอร์สัน ว่าที่รองประธานเฟด ต่างก็ส่งสัญญาณก่อนหน้านี้สนับสนุนให้เฟดระงับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมรอบนี้

"ผมอยู่ในกลุ่มซึ่งคิดว่าเราควรระงับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้" นายฮาร์เกอร์กล่าว

ส่วนนายเจฟเฟอร์สันกล่าวว่า "การระงับปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย.จะช่วยให้ FOMC เห็นข้อมูลมากขึ้น ก่อนที่จะทำการตัดสินใจเกี่ยวกับขอบเขตการใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงินต่อไป"