“อีอีซี”ต้องไปต่อ เอกชนยื่นรัฐบาลใหม่

“อีอีซี”ต้องไปต่อ เอกชนยื่นรัฐบาลใหม่

เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ถูกกำหนดเป็นต้นแบบการพัฒนาเชิงพื้นที่ มาตั้งแต่ยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และประกาศใช้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก อย่างเป็นทางการในปี 2561 ซึ่งให้อำนาจในการขับเคลื่อนอย่างเต็มที่กับเลขาธิการอีอีซี

ทั้งนี้ การพัฒนาในระยะแรกกำหนดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 4 โครงการหลัก คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง โดยการพัฒนาท่าเรือ 2 โครงการ เริ่มงานในทะเลแล้ว แต่โครงการรถไฟความเร็วสูงและโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา กลับยังไม่เข้าสู่ระยะเริ่มการก่อสร้างเนื่องจากปัญหาสถานการณ์โควิด-19

ดังนั้น ท่าทีของรัฐบาลใหม่ที่จะมารับช่วงต่อโครงการอีอีซีจึงมีความสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับการลงทุนต่างชาติ ซึ่งรัฐบาลก้าวไกลได้เสนอให้มีการปรับโครงสร้างคณะกรรมการอีอีซี ดึงคนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ รวมทั้งให้มีการเลือกตั้งเลขาธิการฯ

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัทดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในฐานะเป็นผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ต้องการให้พรรคการเมืองที่อยู่ระหว่างการจัดตั้งรัฐบาลได้พิจารณาขับเคลื่อนนโยบายอีอีซีต่อ

“อีอีซีจะเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์และจุดแข็งการลงทุนของไทย โดยพัฒนาต่อเนื่องให้มีการเชื่อมโยง Land Bridge กับระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (เอสอีซี) เชื่อมอ่าวไทยและอันดามัน” 

รวมทั้งต้องการให้รัฐบาลใหม่ขับเคลื่อนการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งจะเป็นการต่อยอดอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย โดยควรจะยกระดับไปสู่นโยบายอุดหนุนอีวีในเชิงพาณิชย์ เพื่อลดต้นทุนภาคการขนส่งในภาพรวม 

นอกจากนี้ ยังต้องส่งเสริมในด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมในประเทศ ซึ่งเบื้องต้นจะต้องส่งเสริมการนำเข้าบุคคลากรและผู้เชี่ยวชาญทั้ง Smart Visa และ Work Permit ให้เป็นไปอย่างสะดวกที่สุด

หม่อมหลวงณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บาฟส์ (BAFS) กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลใหม่สนับสนุนนโยบายอีอีซี เพราะจะเป็นพื้นที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ และดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ จึงต้องมีการส่งเสริมจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง 

รวมทั้งเห็นว่าไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพอย่างมากในการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพและยา รวมทั้งเป็นผู้นำการผลิตน้ำมันอากาศยานชีวภาพ เนื่องจากมีทรัพยากรเหลือใช้จากภาคการเกษตร รวมทั้งการปลูกอ้อยและปาล์มน้ำมัน

ในขณะที่การพัฒนาระบบบริการน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มีความคืบหน้าต่อเนื่อง และโครงการดังกล่าวดำเนินโดยบริษัท โกลเบิลแอโร่แอสโซซิเอทส์ จํากัด (GAA) ซึ่งกิจการร่วมค้าของ BAFS และ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR