ส่อง 6 นโยบาย ‘ก้าวไกล’ เยียวยา ‘SME’ เมื่อขึ้นค่าแรง 450 บาท

ส่อง 6 นโยบาย ‘ก้าวไกล’  เยียวยา ‘SME’ เมื่อขึ้นค่าแรง 450 บาท

ก้าวไกลกางแผนเยียวยาผู้ประกอบการ SME ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรง 450 บาทต่อวัน ระบุมี6นโยบาย ทั้งการช่วยเหลือจ่ายสมทบประกันสังคม การหักลดหย่อนภาษีส่วนค่าจ้างแรงงาน การเพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน เพิ่มโอกาสในการขายสินค้า ลดภาษีให้เหลือต่ำสุด 10%

การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทต่อวัน เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของพรรคก้าวไกลที่จะเข้ามาทำใน 100 วันหลังจากเป็นรัฐบาล โดยพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าที่นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 และทีมเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกล ได้เริ่มเดินสายพบกับหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อชี้แจงนโยบายต่างๆ และพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

ทั้งนี้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นจากประมาณ 350 บาทเป็น 450 บาทต่อวัน ถือว่าเป็นนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งสองด้าน ในด้านของแรงงานอาจได้ผลดีจากการปรับเพิ่มขึ้นของรายได้ ส่วนในมุมของผู้ประกอบการเป็นการเพิ่มต้นทุนของผู้ประกอบการ โดยมีข้อกังวลค่อนข้างมากว่าผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายย่อย (SMEs) จะได้รับผลกระทบอย่างมากจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ได้หารือกับพรรคร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลว่าอยู่ระหว่างหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลในการจัดทำนโยบายของรัฐบาลโดยเรื่องของ ค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท นั้นเป็นนโยบายที่พรรคก้าวไกลกำหนดไว้ในนโยบายเร่งด่วน 100 วันแรก 

โดยเรื่องนี้ได้มีการหารือกับภาคเอกชนบางส่วนแล้ว แต่หลายบริษัทอาจกังวลต้นทุนที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ หรือกังวลว่าการช่วยเหลือจากภาครัฐอาจไม่เพียงพอ ซึ่งหลังจากนี้จะมีการพูดคุยทำความเข้าใจถึงมาตรการเยียวยา รวมทั้งหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลต่อไปถึงนโยบายนี้

ส่อง 6 นโยบาย ‘ก้าวไกล’  เยียวยา ‘SME’ เมื่อขึ้นค่าแรง 450 บาท

“ทุกนโยบายรวมถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะเริ่มเดินหน้าได้หลังมีรัฐบาล ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็ให้สัญญาณทางบวกว่าไม่ขัดข้องเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างไร”

สำหรับเหตุผลในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาทต่อวัน เป็นนโยบายที่ประชาชนให้ความสำคัญเร่งด่วนคือการเพิ่มรายได้การลดค่าใช้จ่ายและเรื่องของความมั่นคง โดยนโยบายในการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้กับประชาชนโดยการเพิ่มเป็น 450 บาทต่อวันถือว่ามีความเหมาะสม และทำได้ทันทีเนื่องจากก่อนนี้ในช่วง 8-9 ปีที่ผ่านมามีการปรับค่าแรงขั้นต่ำน้อยมาก

“หัวใจคือการขึ้นอัตโนมัติทุกปีโดยดูจากค่าครองชีพและการเติบโตของเศรษฐกิจ เพื่อให้นายจ้างสามารถที่จะวางแผนต้นทุนได้ และแรงงานก็จะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่ง 450 บาทต่อวันถือว่าเป็นการขยับราคาค่าจ้างที่เหมาะสมเมื่อคิดจากช่วงที่ผ่านมาที่มีการปรับน้อยมาก” ศิริกัญญา กล่าว

นอกจากนี้พรรคก้าวไกลเราเข้าใจถึงความกังวลของผู้ประกอบการรายย่อย (SME) ที่มีการจ้างงานคนเกือบ 13 ล้านคนทั่วประเทศ และยืนยันว่าเรามุ่งบริหารเศรษฐกิจ ให้ทั้งแรงงานและ SME ได้รับความเป็นธรรมและเติบโตควบคู่กันได้

ทั้งนี้ SME ถือเป็นกลไกที่สำคัญต่อเศรษฐกิจประเทศ ยิ่งระบบเศรษฐกิจไหนมี SMEs จำนวนมาก ย่อมหมายถึงเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันสูง และการแข่งขันนี้จะทำให้เกิดนวัตกรรม สินค้าและบริการใหม่ๆ ทำให้ประชาชนมีโอกาสเลือกสินค้า-บริการที่หลากหลาย แต่ปัจจุบัน SMEs มีสัดส่วนเพียง 34% ของจีดีพี ซึ่งสะท้อนว่าเศรษฐกิจประเทศไทยส่วนใหญ่ยังถูกขับเคลื่อนโดยกลุ่มทุนใหญ่ โดยมาตรการการปรับขึ้นค่าแรงที่จะมีผลกระทบ 6 นโยบายได้แก่

  1. รัฐช่วย SME โดยตรง จากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาททันที

ในปีถัดๆ ไป ค่าแรงขึ้นต่ำจะถูกปรับขึ้นแบบขั้นบันไดตามการเติบโตทางเศรษฐกิจและค่าครองชีพ แต่ในปีแรกของรัฐบาลก้าวไกล (2566) เรามีแผนจะปรับขึ้นค่าแรงทันทีเป็น 450 บาทต่อวัน (จากการนำสูตรเรื่องอัตราเงินเฟ้อและดัชนีค่าครองชีพไปคำนวณย้อนหลังตั้งแต่ปี 2554 ที่ค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นเป็น 300 บาทต่อวัน) พรรคก้าวไกลจึงต้องการแบ่งเบาภาระค่าแรงที่สูงขึ้นสำหรับ SME ผ่าน 2 มาตรการ

ได้แก่ ในช่วง 6 เดือนแรก รัฐช่วยสมทบค่าประกันสังคมในส่วนของผู้ว่าจ้าง สำหรับแรงงานที่ถูกกระทบโดยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และในช่วง 2 ปีแรก เปิดให้ SME นำค่าแรงมาหักค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ 2 เท่า


2. เพิ่มลูกค้าให้ SME ทั้งลูกค้าทั่วไป (B2C) และลูกค้าธุรกิจ (B2B) ได้แก่

1)เพิ่มลูกค้าทั่วไป (Business-to-Customer: B2C) ด้วยโครงการ “หวย SME” (ซื้อสินค้า SME แถมหวย) – พรรคก้าวไกลจะออกโครงการ “หวย SME” ภายใน 100 วันแรก เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้ประชาชนที่เลือกซื้อสินค้า SME ได้รับแถมสลากกินแบ่งของรัฐบาลไปลุ้นรางวัล และเพื่อเพิ่มช่องทางให้ผู้ประกอบการ SME นำยอดขายมาแลกเป็นสลากกินแบ่งของรัฐบาลได้ด้วย

2)เพิ่มลูกค้าธุรกิจ (Business-to-Business: B2B) ด้วยการลดหย่อนภาษีให้ธุรกิจที่ซื้อจาก SME – พรรคก้าวไกลจะเปิดให้นิติบุคคลที่ซื้อสินค้าจาก SMEs เพิ่มขึ้นจากปีก่อน สามารถหักภาษีนิติบุคคลได้ 1.5 เท่าในส่วนที่ซื้อจาก SMEs เพิ่มเติม เพื่อให้ธุรกิจหันมาซื้อสินค้า-บริการจาก SME มากขึ้น และป้องกันไม่ให้กลุ่มทุนใหญ่ขยายกิจการลงมากินรวบในห่วงโซ่อุปทาน


3. โควตาชั้นวางสำหรับสินค้า SME ในห้างใหญ่

พรรคก้าวไกลจะกำหนดสัดส่วนชั้นวางสำหรับสินค้า SME ในห้างสมัยใหม่ (เช่น ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ) เพื่อเปิดโอกาสให้สินค้า SME ได้มีโอกาสมาวางขาย และช่วยให้สินค้า SME มีโอกาสเข้าถึงตลาดใหญ่ได้เร็วขึ้น

4. คูปองแลกซื้อสินค้าท้องถิ่น

โดยมีนโยบายให้ประชาชนผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีเครดิต (จำกัดไม่เกิน 1,000 บาทต่อปี) สำหรับการแลกซื้อสินค้าท้องถิ่น วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์เกษตร ในราคาครึ่งหนึ่ง (โดยรัฐสมทบอีกครึ่ง) เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาเลือกซื้อ-สนับสนุนสินค้าเหล่านี้ให้เติบโตต่อไป


5. SME เข้าถึงทุน  พรรคก้าวไกลจะเพิ่มโอกาสให้ SME เข้าถึงแหล่งทุนในระบบ (สำหรับเงินทุนหมุนเวียนและเงินทุนขยายกิจการ) ไม่ติดกับดักของหนี้นอกระบบ โดยการจัดสรรงบอุดหนุนให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันความเสี่ยงให้ SMEs เพื่อให้ SME ไม่ต้องใช้หลักประกัน ผ่าน 2 โครงการ คือ

1.“ทุนตั้งตัว” (รายละ 1 แสนบาท) สำหรับ SME 200,000 รายต่อปี

2. “ทุนสร้างตัว” (รายละ 1 ล้านบาท) สำหรับ SME 25,000 รายต่อปี


และ 6. ลดภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับ SME

โดยจะเพิ่มสิทธิพิเศษทางภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ SME สามรถแข่งขันกับทุนใหญ่ได้ โดยมีการลดอัตราเงินได้นิติบุคคลสำหรับ SME เท่านั้น

โดยช่วงกำไร 3 แสน – 3 ล้าน : ลดจาก 15% เหลือ 10% ส่วนช่วงกำไร 3 ล้าน – 30 ล้าน : ลดจาก 20% เหลือ 15%

“พรรคก้าวไกลต้องการเห็นเศรษฐกิจไทยก้าวหน้าอย่างไม่เหลื่อมล้ำ แรงงานและผู้ประกอบการเติบโตไปด้วยกัน โดยรัฐบาลที่ให้ความสำคัญและรับประกันทั้งคุณภาพชีวิตที่ดีของคนทำงาน และโอกาสที่เป็นธรรมสำหรับ SME ในการแข่งขันกับทุนใหญ่”