สศอ. ปรับลดเป้าจีดีพีอุตสาหกรรม ปีนี้โต 0.0-1.0%

สศอ. ปรับลดเป้าจีดีพีอุตสาหกรรม ปีนี้โต 0.0-1.0%

สศอ.ปรับลดเป้าจีดีพีภาคอุตสาหกรรมปีนี้โตในกรอบ 0.0-1.0% เผยดัชนีผลผลิตอุตาสาหกรรม เม.ย.2566 หดตัว 8.14% สัญญาณหดตัวแรงกว่าปีที่ผ่านมา รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ต้นทุนการผลิตและการเงินเพิ่มขึ้น ชี้ยังมีปัจจัยบวกภาคท่องเที่ยวและลงทุน

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนเม.ย.2566 อยู่ที่ระดับ 83.51 หดตัว 8.14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหดตัว 20.% เมื่อเทียบจากเดือนก่อน ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 53.82% และช่วง 4 เดือนแรก ปี 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 61.31% ส่งผลให้ดัชนี MPI 4 เดือนแรก ปี2566 อยู่ที่ระดับ 96.87 หดตัว 4.69% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยมีสาเหตุหลักจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว รวมถึงต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไทยลดลง ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่ต้องจับตาคือกลุ่มยานยนต์ โดยเฉพาะรถกระบะซึ่งเคยเติบโตดี แต่เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวจากความต้องการทั้งในประเทศที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อรถยนต์เพราะปัญหาหนี้ครัวเรือน

รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมที่เฝ้าระวังพิเศษ ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDD) มีปริมาณการผลิตที่ลดลงต่อเนื่อง เฟอร์นิเจอร์ไม้ ซึ่งใช้แรงงานสูงและมีความชำนาญพิเศษจึงมีต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ยางและยางสังเคราะห์ มีปริมาณการใช้ยางทางการแพทย์ที่ลดลง หลังช่วงโควิด-19 โดยเฉพาะภุงมือยาง เหล็ก ไทยแข่งขันราคาไม่ได้ จำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันอุตสาหกรรมในประเทศ อาหารทะเลแปรรูป ใช้แรงงานสูงและมีคู่แข่งในตลาดที่ต้นทุนถูกลง ปศุสัตว์ มีผลผลิตลดลง

นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่หดตัวและปัญหาภาคการเงินของสหรัฐ ทำให้ประเทศคู่ค้าชะลอคำสั่งซื้อสินค้าในหลายอุตสาหกรรม รวมถึงต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากค่าไฟฟ้าและต้นทุนทางการเงินจากการขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้น เริ่มมีผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยให้ปรับลดลง และมีผลต่อการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมได้น้อยลง

ทั้งนี้ สศอ. ได้คาดการณ์ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือนพ.ค. ปี 2566 ส่งสัญญาณเฝ้าระวัง โดยมีปัจจัยบวกจากการบริโภคและการท่องเที่ยวที่จะเป็นกลไกหลักขับเคลื่อนการผลิตภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งการลงทุนในอุตสาหกรมเป้าหมายที่เพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสแรกปีนี้  สศอ. ปรับลดเป้าจีดีพีอุตสาหกรรม ปีนี้โต 0.0-1.0%

แต่ต้องจับตาดูปัจจัยลบ ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ปัญหาภาคการเงินของสหรัฐการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อผลผลิตการเกษตร อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ภาระหนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น

“จากการที่ดัชนี MPI 4 เดือนแรก ปี 2566 และ GDP ภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสแรก ปี 2566 หดตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สศอ. จึงได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมปี 2566 โดยคาดว่า MPI ปี 2566 จะขยายตัวที่ 0.0 - 1.0% และ GDP ภาคอุตสาหกรรมปี 2566 จะขยายตัวที่ 0.0 - 1.0% จากประมาณการครั้งก่อน คาดดัชนี MPI จะขยายตัวที่ 1.5 – 2.5% และ GDP ภาคอุตสาหกรรม จะขยายตัวที่ 1.5 – 2.5%”

ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายปรับโครงสร้างภาคอุตสาหกรรมไทยทั้งการส่งเสริมลงทุนอุตสาหกรรม New S-Curve และนโยบายเชิงพื้นที่ อาทิ อีอีซี ยังไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมที่ชัดเจนนัก อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้าที่ยังไม่เริ่มการผลิต จึงไม่ได้สะท้อนในดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ทำให้ยังต้องจับตามองการผลิตภาคอุตสาหกรรมว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหลังจากนี้หรือไม่

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตในเดือนเมษายน 2566 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

น้ำตาล ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 19.15% จากผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ เป็นหลัก เนื่องจากความต้องการบริโภคทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมถึงผลผลิตของน้ำตาลต่อตันอ้อยโดยเฉลี่ยสูงขึ้น

ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.87% จากผลิตภัณฑ์น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และน้ำมันเครื่องบิน เป็นหลัก ตามปริมาณการเดินทางที่เพิ่มขึ้นโดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศ เพิ่มขึ้นสู่ระดับใกล้เคียงกับช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 เช่นเดียวกับการเดินทางในประเทศที่กลับสู่ระดับปกติ

มอลต์และสุราที่ทำจากข้าวมอลต์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 17.58% เนื่องจากความต้องการบริโภคที่มากขึ้นในเทศกาลสงกรานต์ รวมถึงการที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น

น้ำมันปาล์ม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.92% จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์โดยในปีนี้มีปริมาณผลปาล์มเข้าสู่โรงงานพร้อมกันจำนวนมาก ซึ่งปีนี้ผลปาล์มมีมากกว่าปีก่อนส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มปรับลดลง ความต้องการในประเทศจึงปรับเพิ่มขึ้นตาม

ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากกระดาษและกระดาษแข็ง ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11.14% จากผลิตภัณฑ์กระดาษพิมพ์เขียน เป็นหลัก เนื่องจากปีนี้สามารถเปิดเรียนเต็มรูปแบบ ทำให้มีการใช้กระดาษพิมพ์เขียนมากขึ้น ประกอบกับอานิสงส์จากการใช้กระดาษในกิจกรรมการเลือกตั้ง