'บพท.'จับมือ 'SCG' เดินหน้า ‘สระบุรี แซนด์บ๊อกซ์’ เมืองน่าอยู่ พลังงานสะอาด

'บพท.'จับมือ 'SCG' เดินหน้า ‘สระบุรี แซนด์บ๊อกซ์’ เมืองน่าอยู่ พลังงานสะอาด

“บพท.”จับมือปูนซิเมนต์ไทย สระบุรี ในเครือ SCG เดินหน้า “สระบุรี แซนด์บ๊อกซ์” สนับสนุนพลังงานสะอาด ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล คาดสร้างงานใหม่ 350 ตำแหน่ง เล็งขยายผลไปยังอีก 3 จังหวัด นครศรีธรรมราช นครพนม มุกดาหาร พื้นที่ 1 หมื่นไร่ สร้างงาน-รายได้ชุมชน ลดการปล่อยคาร์บอนฯ  

วันที่ 25 พ.ค.2566  หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมกับ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด ในเครือ "SCG" และสภาอุตสาหกรรม จังหวัดสระบุรี แถลงข่าวเปิดตัวโครงการบูรณาการความร่วมมือ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สำหรับการสร้างงานในพื้นที่บนฐานนิเวศการลงทุนพืชพลังงาน ภายใต้โครงการต้นแบบความร่วมมือภาคอุตสาหกรรมในการสร้างงานในพื้นที่ผ่านการพัฒนาอาชีพบนฐานพืชพลังงานสู่ BCG จังหวัดสระบุรี เพื่อเตรียมพร้อมที่ยกระดับเมืองสระบุรีสู่การเป็นเมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่ และชาญฉลาด (Livable and Smart City)

 

ดร.กิตติ  สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่าความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง บพท.กับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย(แก่งคอย) จำกัด ตลอดจนหน่วยราชการในพื้นที่ องค์กรปกครองท้องถิ่น และภาคประชาสังคม มีเป้าหมายทำให้จังหวัดสระบุรีเป็นต้นแบบเมืองสะอาด ที่มีการเจริญเติบโต ด้วยพลังขับเคลื่อนของเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ และมีการกระจายรายได้ที่ดี และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในทุกมิติ

 

ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการ บพท.กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง บพท.และ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย(แก่งคอย) จำกัด ในครั้งนี้ถือเป็นการเดินหน้าพัฒนา "สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์" ที่จะมุ่งทำให้จังหวัดสระบุรีเป็นจังหวัดต้นแบบของเมืองที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero city) ซึ่งในอนาคตจะออกแบบเมืองให้แหล่งงานที่อยู่อาศัย-เส้นทางการเดินทางเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบเพื่อให้สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ และเป็นโมเดลลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนในพื้นที่ควบคู่กันไป

 

“เรามีความมุ่งหวังว่าโครงการนี้จะเป็นโครงการต้นแบบ Low Carbon Economy และ BCG Model (Bio Circular Green Economy Model) ให้กับอุตสาหกรรมอื่น ซึ่งสามารถช่วยในการขับเคลื่อนและยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะถือเป็นก้าวสำคัญของการผลักดันนโยบาย BCG Model ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี สู่การเป็นเมืองน่าอยู่ตามแนวทางการพัฒนาของจังหวัดสระบุรีต่อไป”

 

ทั้งนี้ความร่วมมือในครั้งนี้จะดำเนินงานครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 7 ตำบล ในอำเภอแก่งคอย ประกอบด้วย

 

ตำบลบ้านป่า ตำบลท่าคล้อ ตำบลทับกวาง ตำบลบ้านธาตุ ตำบลท่าตูม ตำบลมวกเหล็ก และตำบลท่ามะปราง มีเป้าหมายคือการวิจัยส่งเสริมและยกระดับพื้นที่ชุมชนโดยรอบโรงงานเป็นพื้นที่ต้นแบบระบบนิเวศพืชพลังงาน ส่งเสริมและสร้างกลุ่มผู้ผลิตพืชพลังงานในพื้นที่จังหวัดสระบุรีภายใต้ความร่วมมือภาคอุตสาหกรรมในการสร้างงานในพื้นที่ผ่านการพัฒนาอาชีพ

 

รวมทั้งขยายผลสู่ระบบการผลิต และระบบการแปรรูปพืชพลังงานในพื้นที่ศูนย์กลาง (HUB) โรงงานในเครือปูนซิเมนต์ไทย (SCG) ทั่วประเทศไทย

สำหรับโครงการนี้จะสร้างกลไกความร่วมมือ การสนับสนุน และการกำกับดูแลร่วมกันของเครือข่ายในพื้นที่ในการสร้างกองทุนกิจการเพื่อสังคม ซึ่งจะดำเนินการพัฒนาบ้านเพื่อที่อยู่อาศัยต้นแบบ (Housing Model) จากวัสดุคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Material)

 

ทั้งนี้มีการขยายโครงการการลงทุนพืชพลังงานเพื่อยกระดับเศรษฐกิจพื้นที่เมืองชายแดนและเชื่อมโยงเศรษฐกิจไปยัง จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดนครพนม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจร่วมของพื้นที่เมืองชายแดน โดยนำร่อง 3 พื้นที่ คือ อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร และอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม สามารถยกระดับและขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวมของพื้นที่ ระดับภูมิภาค และระหว่างประเทศได้ผ่านการส่งเสริมองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่จะช่วยพัฒนาขั้นตอนการผลิต/ปลูก ขั้นตอนการแปรรูป ขั้นตอนการเพิ่มมูลค่าของพืชพลังงาน

 

นอกจากนี้การดำเนินการของโครงการดังกล่างข้างต้นถือได้ว่าเป็นการส่งเสริม สนับสนุน การจัดตั้งธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) พืชพลังงานในการขับเคลื่อนตัวแบบธุรกิจ (Business Model) ทั่วประเทศไทย เป็นความร่วมมือกันทั้ง ภาคประชาชน ภาคธุรกิจและเอกชน จนเกิดกระบวนการสร้างงานใหม่สำหรับผู้มีรายได้น้อยที่นำไปสู่การจัดตั้งธุรกิจเพื่อสังคม เพื่อให้เกิดความยั่งยืนเป็นผลพวงที่นำไปสู่การขยายผลในการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดและประเทศ อีกทั้งจะเป็นกระบวนการสร้างฐานความรู้ผ่านกระบวนการวิจัยและการลงทุนที่เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง

\'บพท.\'จับมือ \'SCG\' เดินหน้า ‘สระบุรี แซนด์บ๊อกซ์’ เมืองน่าอยู่ พลังงานสะอาด

 

โดยคาดว่าจะเกิดกระบวนการสร้างงานใหม่สำหรับผู้มีรายได้น้อยมากกว่า 350 ราย และนำไปสู่การจัดตั้งธุรกิจเพื่อสังคม โดยมีมูลค่าเงินสนับสนุนกองทุนกว่า 500,000 บาท / 100 ไร่ / ปี เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานพืชพลังงาน

 

นายเจริญชัย  เฉลียวเกรียงไกร กรรมการผู้จัดการบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด กล่าวว่าโครงการความร่วมมือนี้แนวทางดำเนินโครงการเบื้องต้น คือจะปลูกพืชพลังงานสำหรับนำมาใช้ทดแทนพลังงานฟอสซิล เพื่อช่วยลดโลกร้อน บนพื้นที่ 100 ไร่รอบโรงงาน เพื่อประมวลข้อมูลต้นทุน ส่วนแบ่งรายได้ ตลอดจนผลลัพธ์โดยรวมก่อนที่จะขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ

 

โดยมีเป้าหมายที่เตรียมขยายโครวงการไปยังจังหวัดอื่นๆ ได้แก่ นครศรีธรรมราช นครพนม มุกดาหาร มีปริมาณพื้นที่รวมกัน 1 หมื่นไร่

 

ทั้งนี้โครงการนี้สอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัท  ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “SCG” ที่มีการกำหนดเป้าหมายเลิกใช้ถ่านหิน และเชื้อเพลิงฟอสซิลในกระบวนการผลิตทั้งหมดในปี 2573  โดยจะหันไปใช้เชื้อเพลิงชีวภาพทดแทน โดย SCG มีกรอบในการดำเนินงานตามกรอบ “ESG”  ซึ่งประกอบไปด้วย

 

1.Net Zero มุ่งเน้นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050 โดยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินโครงการตลอดทั้งโครงการได้ถึง 45,000 ตันต่อปี

 

2.Go Green เพิ่มนวัตกรรมสิ่งแวดล้อม โดยการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานชีวมวล จากผลผลิตและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร

 

3.Lean เหลื่อมล้ำ มุ่งเน้นพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชน กระจายรายได้ และพัฒนาทักษะอาชีพด้านการเกษตร

 

4.ย้ำร่วมมือ มุ่งเน้นขับเคลื่อน ESG ร่วมกับหน่วยงานระดับประเทศ อาเซียน และระดับโลก โครงการความร่วมมือดังกล่าวเป็นการขยายเครือข่ายพันธมิตรด้านความยั่งยืน