'สภาพัฒน์'แนะทางเลือกการออมแบบไม่ใช่ตัวเงิน ปลูกไม้ยืนต้น - เลี้ยงสัตว์

'สภาพัฒน์'แนะทางเลือกการออมแบบไม่ใช่ตัวเงิน ปลูกไม้ยืนต้น - เลี้ยงสัตว์

การออมเป็นเรื่อสำคัญสำคัญ ช่วยสร้างหลักประกันหากต้องเจอภาวะฉุกเฉิน ภาวะวิกฤติ รวมทั้งการออมเพื่อให้มีเงินใช้จ่ายในวัยเกษียณ หรือต้องหยุดทำงาน ปัจจุบันมีทางเลือกในการออมที่ไม่ต้องออมเป็นเงินแต่ได้ผลตอบแทนดีในระยะยาว ได้แก่ การปลูกไม้ยืนต้น และการเลี้ยงสัตว์  

ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและครัวเรือนในปี 2564 พบว่าครัวเรือนไทยส่วนใหญ่คิดเป็นสัดส่วน 72% มีการออมเงิน  แต่มูลค่าการออมกลับไม่สูงนักและมีแนวโน้มลดลง ขณะที่การเริ่มออมเงินของครัวเรือนไทยยังเริ่มต้นได้ช้าคือเฉลี่ยเริ่มออมเงินช่วงอายุ 42 ปี ทำให้ครัวเรือนจำนวนมากมีเงินออมไม่เพียงพอที่จะใช้ในวัยเกษียณ

นอกจากนั้นยังพบว่ากว่า 86% ของครัวเรือนไทยมีเงินออมในจำนวนที่ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในระยะเวลา 1 ปี หากต้องหยุดทำงาน ตลอดจนไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้จ่ายในยามเกษียณ โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อย รวมทั้งเกษตรกรที่รายได้ไม่แน่นอนทำให้การออมเงินให้ได้จำนวนมากทำได้ยาก จึงมีการเสนอทางเลือกในการออมที่ไม่ใช่การออมในรูปแบบของตัวเงินแต่เป็นการส่งเสริมการออมทางเลือก ได้แก่

1.การออมทรัพย์ในรูปแบบของการปลูกไม้ยืนต้น สามารถปลูกได้ทั้งในบริเวณที่อยู่อาศัยหรือในพื้นที่เหลือที่ไม่ได้ทำการเกษตร โดยมีจุดเริ่มต้นจากแนวคิดเรื่องปลูกต้นไม้ใช้หนี้ เกษตรกรจะนำต้นไม้ที่ตนเอง

ปลูกไปเป็นทรัพย์สินเพื่อค้ำประกันเงินกู้หรือชำระหนี้สินให้แก่ธนาคาร รัฐบาลจึงได้ปลดล็อกกฎหมายไม้หวงห้ามและไม้หายากจำนวน 171 ชนิด ให้สามารถปลูกและตัดขายสร้างรายได้ให้กับผู้ปลูกได้อย่างเสรี

รวมทั้งกำหนดให้ไม้มีค่า 58 ชนิด ที่ปลูกบนที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์สามารถใช้เป็นหลักประกันธุรกิจและค้ำประกันสินเชื่อได้ตามกฎหมาย ซึ่งการปลูกไม้มีค่าให้ผลตอบแทนสูงถึง 17.90%  ต่อปี อย่างไรก็ตาม การปลูกไม้ยืนต้นยังมีอุปสรรคที่สำคัญคือ การขาดแรงจูงใจและกฎระเบียบที่ยังไม่เอื้ออำนวยเท่าที่ควร

2.การออมทรัพย์ในรูปแบบของการเลี้ยงสัตว์ เช่น การเลี้ยงโค กระบือ สุกร ไก่ ปลา ที่ถือเป็นวิถีชีวิตของเกษตรกรและประชาชนในชนบทที่เปรียบเสมือนการเก็บออมทรัพย์ของชาวบ้าน โดยรูปแบบการเลี้ยงสัตว์เป็นลักษณะของการปล่อยให้สัตว์หากินตามธรรมชาติหรือให้อาหารจากสิ่งที่เหลือจากการบริโภคในครัวเรือน โดยการออมแบบปศุสัตว์ อาทิ โค/กระบือ มีต้นทุนการเลี้ยงไม่สูงมาก สามารถปล่อยให้หากินตามธรรมชาติได้

รวมทั้งยังมีประโยชน์อื่นอีก เช่น ช่วยในการเตรียม พื้นที่สำหรับเพาะปลูก ช่วยกำจัดวัชพืช ใช้มูลเป็นปุย หรือเก็บมูลไปขาย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงสัตว์โดย มีวัตถุประสงค์เพื่อการออมยังไม่ได้รับการยอมรับมากนัก ส่วนใหญ่จะเน้นเพื่อการขายและการบริโภคในครัวเรือน เป็นหลัก

การออมที่ไม่ใช่ตัวเงินจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ควรได้รับการส่งเสริม และขยายผลให้มากขึ้น   โดยการประชามพันให้เกษตรกรเห็นถึงประโยชน์ และส่งเสริมการดำเนินการ โดยอาศัยกลไกความร่วมมือของคนในชุมชน การสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และให้คำปรึกษากับเกษตรกรในพื้นที่ รวมทั้งปรับปรุงกฎระเบียบให้สอดคล้องและไม่เป็นอุปสรรคต่อการออมรูปแบบนี้