“พิธา”ปลุกเชื่อมั่นภาคธุรกิจ ยืนยันเสถียรภาพรัฐบาลใหม่

“พิธา”ปลุกเชื่อมั่นภาคธุรกิจ ยืนยันเสถียรภาพรัฐบาลใหม่

“พิธา” นำทีมนโยบายก้าวไกล เดินสายพบภาคเอกชน “ส.อ.ท.-หอการค้า-สมาคมแบงก์” สร้างความเชื่อมั่นเสถียรภาพรัฐบาลใหม่ ฟังความเห็นนโยบายกระทบธุรกิจ “เกรียงไกร” ห่วงนโยบายค่าแรง “หอการค้า“ นัดหารือสัปดาห์หน้า นโยบายด้านเศรษฐกิจ ขอเร่งจัดตั้งรัฐบาลเสร็จโดยเร็ว

Key Points

  • พรรคก้าวไกลจะหารือ ส.อ.ท. หอการค้าไทย สมาคมธนาคารไทย เพื่อสร้างความเข้าใจนโยบายรัฐบาลใหม่
  • พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ต้องการให้ภาคเอกชนเชื่อมั่นรัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะเสถียรภาพรัฐบาล
  • หอการค้าไทย เตรียมเสนอแนวทางให้พรรคก้าวไกลฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจไปพร้อมกัน
  • ส.อ.ท.หวังว่าจะมีส่วนร่วมกับรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังการจัดตั้งรัฐบาล

ภายหลังการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) การจัดตั้งรัฐบาลระหว่างพรรคก้าวไกล และพรรคร่วมรัฐบาลอีก 7 พรรค เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2567 หลังจากนั้นนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล มีแผนที่จะหารือกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย

การหารือระหว่างพรรคก้าวไกลและภาคเอกชนจะเป็นการชี้แจงและทำความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายที่รัฐบาลใหม่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมถึงการรับฟังข้อเสนอของภาคเอกชน ซึ่งเริ่มต้นด้วยการหารือกับ ส.อ.ท.ในวันที่ 23 พ.ค.2566 โดยมีแกนนำพรรคก้าวไกลเข้าร่วม เช่น น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และผู้ถูกเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

นายพิธา กล่าวว่า พรรคก้าวไกลต้องการสร้างความมั่นใจต่อภาคเอกชนและนักธุรกิจถึงเสถียรภาพของรัฐบาล ซึ่งเชื่อว่าเมื่อนักธุรกิจได้รับฟังก็จะเห็นภาพที่ชัดเจนในการเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่เศรษฐกิจโลกซบเซา

“พิธา”ปลุกเชื่อมั่นภาคธุรกิจ ยืนยันเสถียรภาพรัฐบาลใหม่

สำหรับกรณีที่เอกชนต้องการให้เร่งจัดตั้งรัฐบาลให้เสร็จก่อนเดือน ส.ค.2566 นายพิธา กล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ในกรอบของกฎหมาย และรอการรับรองของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และถ้ารับรองผลการเลือกตั้งได้เร็วจะทำให้กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปได้เร็ว

นายพิธา กล่าวว่า ภายในสัปดาห์นี้พรรคก้าวไกลจะหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลถึงการจัดทำนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและธุรกิจที่ภาคเอกชนกังวล เช่น การปรับค่าแรงขั้นต่ำ ในขณะที่ภาคเอกชนต้องการนโยบายการจ่ายค่าจ้างแบบ Pay by skill ก็เป็นแนวคิดที่ตรงกับพรรคก้าวไกล

"บางเรื่องที่ต้องรวดเร็วก็ต้องรวดเร็ว บางเรื่องที่ต้องรอบคอบก็ต้องรอบคอบ ซึ่งสัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์แรกที่มีคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล จึงต้องมาคุยกับภาคเอกชนเพื่อรับฟังความเห็นทั้งเรื่องแรงงานและเอสเอ็มอี ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง”

สำหรับนโนยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมี 2 พรรคที่นำเสนอนโยบายนี้อย่างชัดเจน โดยพรรคก้าวไกลจะปรับขึ้นทันทีที่วันละ 450 บาท ขณะที่พรรคเพื่อไทยจะปรับขึ้นมาอยู่ที่ วันละ 600 บาท ภายใน 4 ปี

หอการค้านัดหารือสัปดาห์หน้า

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สภาหอการค้าฯ อยู่ระหว่างประสานกับพรรคก้าวไกลเพื่อกำหนดวันหารือ โดยคาดว่าจะได้หารือร่วมกันในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะมีการร่วมประชุมกับหอการค้าจังหวัด กลุ่ม YEC (Young Entrepreneur chamber of commerce) หรือนักธุรกิจรุ่นใหม่ด้วย 

สำหรับประเด็นที่จะหารือจะเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เช่น การลดค่าไฟฟ้า การแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคการประกอบธุรกิจ รวมทั้งมาตรการค่าแรงที่ต้องหารือเพราะมีคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (คณะกรรมการไตรภาคี) ที่ทำหน้าที่พิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำ

“พิธา”ปลุกเชื่อมั่นภาคธุรกิจ ยืนยันเสถียรภาพรัฐบาลใหม่

ส่วนประเด็นที่ 8 พรรค ในการจัดตั้งรัฐบาล และมีการ MOU ที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหา 23 ข้อ และ 5 แนวทางปฏิบัติ ซึ่งหอการค้ามองว่าเป็นการทำการบ้านและเตรียมความพร้อมของชุดนโยบายต่างๆ ที่เชื่อว่าจะออกมาทันทีหลังจากกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จ ซึ่งส่วนนี้มีความสำคัญมากในแง่การสร้างความเชื่อมั่นให้ทุกภาคส่วนในการเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศแบบไร้รอยต่อ

มั่นใจรัฐบาลใหม่ฟื้นเศรษฐกิจ

สำหรับเนื้อหาของ MOU หอการค้ามองเป็น 3 มิติสำคัญในการวางนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ คือ 

1.มิติด้านเศรษฐกิจ เห็นได้ว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ได้ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจไปพร้อมกัน ผ่านประเด็นการร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยยึดหลักเพิ่มรายได้ประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างระบบเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างเป็นธรรม การจัดทำงบประมาณแบบใหม่ โดยเน้นใช้วิธีการจัดงบประมาณฐานศูนย์ การกำหนดค่าแรงที่เป็นธรรมสอดคล้องค่าครองชีพและการเติบโตทางเศรษฐกิจ การฟื้นฟูบทบาทผู้นำไทยในอาเซียนและเวทีระหว่างประเทศตามกรอบความร่วมมือ โดยเฉพาะกรอบความร่วมมือพหุภาคี ซึ่งจะขยายโอกาสทางการค้าและการส่งออก 

ขณะเดียวกันมีประเด็นการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผลักดันการกระจายอำนาจทั้งในแง่ภารกิจและงบประมาณ เพื่อให้ท้องถิ่นตอบสนองความต้องการประชาชนได้เหมาะสม เพิ่มการเข้าถึงตลาด เทคโนโลยี และแหล่งน้ำภาคการเกษตร การตัด ลด หรือพักใช้ชั่วคราว ซึ่งการอนุมัติอนุญาตที่ไม่จำเป็นและเป็นอุปสรรคเพื่อปรับปรุงใหม่ ให้ความช่วยเหลือสภาพคล่องทางด้านการเงินและสร้างแต้มต่อให้ SME 

รวมทั้งการยกเลิกการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้า ลดค่าครองชีพประชาชนและสร้างความมั่นคงทางพลังงาน หรือแม้แต่การแก้ไขกฎหมายประมง เหล่านี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเกิดการลงทุนและการจ้างงานเพิ่ม ซึ่งจะเป็นแรงหนุนให้เศรษฐกิจไทยทะยานส่วนกระแสวิกฤตเศรษฐกิจโลกได้ 

หวังลดความขัดแย้งในสังคม

2.มิติด้านสังคม เห็นการวางแนวนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมโดยรวม ทั้งการเตรียมผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม กระบวนการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ การระบบสวัสดิการดูแลประชาชน การแก้ไขปัญหายาเสพติด การยกระดับระบบสาธารณสุขเพื่อทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพ การปฏิรูประบบการศึกษา และการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero)

3.มิติด้านการเมือง ส่วนนี้จะเป็นการปฏิรูปการทำงานของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน และทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ของภาครัฐ ซึ่งท้ายที่สุดจะช่วยลดความขัดแย้งของสังคมได้มากขึ้น ทั้งการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับของประชาชน การแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันโดยการสร้างระบบและวัฒนธรรมรัฐโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลรัฐ การปฏิรูประบบราชการ ตำรวจ กองทัพ และกระบวนการยุติธรรม

ตั้งรัฐบาลต้องไม่ยืดเยื้อ

สำหรับ 5 แนวทางบริหารประเทศ เชื่อว่าส่วนนี้จะเป็นการวางกรอบการทำงานของแต่ละพรรคการเมืองผ่านฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อให้พรรคร่วมรัฐบาลขับเคลื่อนนโยบายได้อย่างชัดเจนภายใต้ข้อตกลงของร่วม เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ภาคเอกชนจับตามองจากนี้ คือ กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลที่สามารถดำเนินการได้อย่างเรียบร้อยไม่ยืดเยื้อ เพื่อให้ประเด็นต่างๆ ที่ทุกพรรคได้ตกลงกันไว้ผ่าน MOU สามารถนำไปขับเคลื่อนในเชิงนโยบายและการปฏิบัติได้จริงอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงการเข้ามาเร่งจัดทำงบประมาณประจำปีเพื่อให้แผนงานและโครงการต่างๆ ของประเทศมีความต่อเนื่องไม่หยุดชะงัก

ทั้งนี้ หอการค้า มองว่า 313 เสียง จาก 8 พรรค ตอนนี้ จุดแข็งคือมีเสียงข้างมากในสภาฯ ขณะเดียวกันจุดอ่อนก็คงยังเป็นความไม่แน่นอนว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้ไหม ซึ่งก็ยังคงต้องรอเสียงเพิ่มเติมมั้งจาก ส.ส. และ สว. มาทำให้เกิดความแน่นอน ซึ่งเชื่อว่าวันนี้ ประเด็นจากการ MOU ที่ออกมา น่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและทำให้ทั้ง ส.ส. และ สว.บางส่วนให้การสนับสนุนเพิ่มเติมจนจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้

ส.อ.ท.หวังร่วมรัฐดันเศรษฐกิจ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานส.อ.ท.เปิดเผยว่า วันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ได้มีการพูดคุยกัน เนื่องจากยังมีหลายเรื่องที่ภาคเอกชนมีข้อสงสัยต่อนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งยังถือโอกาสได้ส่งการบ้านให้ว่าที่รัฐบาลใหม่ก่อน โดยประเด็นหลักที่ได้หารือกันคือเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันและก้าวต่อไปของอุตสาหกรรมไทย นโยบายช่วยเหลืออุตสากรรมดั้งเดิมที่มีอยู่ รวมทั้งกลุ่มเอสเอ็มอีที่ยังเปราะบาง ทำอย่างไรให้ประเทศเดินต่อไปข้างหน้าด้วยกลไกเศรษฐกิจใหม่

รวมไปถึงการส่งเสริมความง่ายในการดำเนินธุรกิจ (Ease of Doing Business) แก้ไขกฎหมายที่ล้าสมัยเพื่อปูทางไปสู่การวางกฎหมายและกฎระเบียบใหม่ตามทิศทางการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศ

“จากนี้ไปภาครัฐและเอกชนจะต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในทุกมิติ โดยจะมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อพิจารณาอุตสาหกรรมรายสาขา สะท้อนปัญหาและความต้องการของอุตสาหกรรม และนำไปสู่การปฏิบัติจริง สอดคล้องกับนโยบายของส.อ.ท. One FTI, BCG Model และ Smart Agriculture”

สำหรับประเด็นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นความกังวลตั้งแต่แรกที่พรรคที่ได้คะแนนอันดับ 1 และ 2 มีนโยบายขึ้นค่าแรง ทั้งพรรคก้าวไกลขึ้น 450 บาททุกปี ส่วนพรรคเพื่อไทยปรับ 600 บาทในระยะ 4 ปี อย่างไรก็ตาม นายพิธาเองเป็นผู้ประกอบการมาก่อนเป็นนักการเมืองจึงเข้าใจบริบทของผู้จ่ายค่าข้าง เพราะฉะนั้นการปรับขึ้นค่าแรงในอัตราที่เสนอกันไว้อาจเป็นยาแรงเกินไป 

"หลังจากนี้นายพิธายินดีรับฟังทุกคนและนำปรึกษากับพรรคร่วมรัฐบาลที่ต้องคุยกัน ดังนั้นทุกภาคส่วนจะมีส่วนร่วมด้วยกันทุกคน"