รื้องบฯ ปี 2567 สอดรับนโยบายรัฐบาลใหม่

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2566 ได้ข้อสรุปเบื้องต้นในการจัดตั้งรัฐบาล โดยขณะนี้รัฐคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งให้ได้อย่างน้อย 95% จึงจะประชุมสภาผู้แทนราษฎรและจะได้รัฐบาลใหม่มาบริหารประเทศ

ที่ผ่านมาพรรคการเมืองได้ประกาศนโยบายหาเสียง และเมื่อจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อยจะมีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งรัฐบาลใหม่สามารถปรับปรุงงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ได้เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล
ขณะนี้สำนักงบประมาณเตรียมหารือกระทรวงการคลัง เพื่อร่วมพิจารณาเตรียมปรับแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ให้สอดคล้องนโยบายบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลชุดใหม่
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สำนักงบประมาณได้เตรียมหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อปรับรายการในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อนุมัติในหลักการเมื่อเดือน มี.ค.2566 เพื่อดูว่ามีรายการในงบประมาณใดบ้างที่สามารถปรับเปลี่ยนได้

ทั้งนี้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ประเมินว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ซึ่งตามปฏิทินงบประมาณจะต้องประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566 เป็นต้นไป แต่เนื่องจากปี 2566 มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2566 และยังไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งทำให้ สศช.คาดว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จะล่าช้า โดยคาดว่าอย่างช้าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 จะสามารถประกาศใช้ได้ภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 หรือล่าช้ามากที่สุดราว 6 เดือน
แหล่งข่าว กล่าวว่า การปรับปรุงงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จะสามารถทำได้ด้วย 2 แนวทาง ประกอบด้วย 1.การปรับรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2.การรื้อทั้งฉบับแล้วทำใหม่ ซึ่งจะต้องมาพิจารณารายได้และรายจ่ายและประมาณการเศรษฐกิจใหม่หมด
สำหรับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อนุมัติไปแล้วนั้นกำหนดให้มีงบประมาณรายจ่ายจำนวน 3.35 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณที่เป็นรายจ่ายประจำเป็นจำนวน 2.490 ล้านล้านบาท , รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังจำนวน 33,700 ล้านบาท , รายจ่ายเพื่อการลงทุนจำนวน 7.17 แสนล้านบาท และรายจ่ายชำระคืนเงินกู้จำนวน 1.17 แสนล้านบาท
ทั้งนี้งบประมาณในปีดังกล่าวยังคงเป็นการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล คือ เป็นการกำหนดงบประมาณรายจ่ายที่สูงกว่ารายรับ โดยรัฐบาลได้วางแผนกู้เงิน เพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน 5.93 แสนล้านบาท ขณะที่ประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศอยู่ที่ 19.42 ล้านล้านบาท
สำหรับวงเงินที่รัฐบาลจะสามารถกู้ได้นั้นจะอยู่ภายใต้เพดานหนี้สาธารณะของรัฐบาลที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐเป็นผู้กำหนดไว้ว่าไม่เกิน 70% ของจีดีพี โดยในเดือน มี.ค.2566 ระดับหนี้สาธารณะของรัฐบาลอยู่ที่ 10.797 ล้านล้านบาท คิดเป็น 61.23% ของจีดีพี โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) คาดว่าภายในสิ้นปีงบประมาณ 2566 หรือภายในสิ้นเดือน ก.ย.2566 ระดับหนี้สาธารณะของรัฐบาลจะขึ้นไปอยู่ที่ 61.73% ของจีดีพี ทำให้เหลือช่องที่จะกู้อีกราว 8-9% ของจีดีพี หรือคิดเป็นวงเงินกู้ราว 1.5 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ภาระรายจ่ายของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้รัฐบาลมีภาระในการชำระหนี้เพิ่มขึ้น โดยตามแผนการคลังระยะปานกลางชี้ว่างบชำระหนี้ของรัฐบาลเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องโดยปีงบประมาณ 2567 อยู่ที่ 9.63% ของงบประมาณรายจ่ายและปีงบประมาณ 2568 จะอยู่ที่ 11.15% และคาดว่าในปีงบประมาณ 2571 จะอยู่ที่  16.24%
สิ่งที่ตามมาเมื่อภาระหนี้ของรัฐบาลเพิ่มสูงขึ้นคืองบชำระหนี้เงินต้นและงบชำระดอกเบี้ยต้องสูงขึ้นตาม โดยงบชำระเงินต้นในปีงบประมาณ 2566 อยู่ที่ 3.14% และอยู่ที่ 4% จนถึงปีงบประมาณ 2571