ทุกพื้นที่มีแต่คนอินเดีย! ทำไม ‘คนเชื้อสายอินเดีย‘ ครองเก้าอี้ CEO ทั่วโลก

ทุกพื้นที่มีแต่คนอินเดีย! ทำไม ‘คนเชื้อสายอินเดีย‘ ครองเก้าอี้ CEO ทั่วโลก

เปิดลิสต์ “CEO เชื้อสายอินเดีย” หลังพบ คนอินเดียผงาดกวาดเก้าอี้ผู้บริหารองค์กรระดับโลก ล่าสุด “อาเจย์ บังกา” อดีตผู้บริหารมาสเตอร์การ์ด ดำรงตำแหน่ง “ประธาน World Bank” คนต่อไป อะไรทำให้คนอินเดียประสบความสำเร็จในองค์กรระดับโลกเช่นนี้?

Key Points:

  • องค์กรระดับโลก โดยเฉพาะ “Big Tech” ในปัจจุบัน ล้วนเต็มไปด้วยคนเชื้อสายอินเดียครอบครองเก้าอี้ “CEO” ทั้งสิ้น โดยมีปัจจัยเกื้อหนุนจากความต้องการในการแสวงหาโอกาสในอเมริกา และวีซ่า “H-1B” ที่อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาทำงานได้
  • คนอินเดียส่วนใหญ่มีจุดร่วมคล้ายคลึงกัน คือ เก่งศาสตร์ “STEM” ตรงกับความต้องการในอเมริกาที่ขาดแคลนคนทำงานด้านนวัตกรรม
  • ปัจจุบัน อินเดียได้ถือกำเนิด “ยูนิคอร์น” ตัวใหม่อีกครั้ง จึงมีความเป็นไปได้ว่า ในอนาคต ระบบนิเวศสตาร์ตอัปของอินเดียมีแนวโน้มเป็นบวกกับนวัตกรรุ่นใหม่

เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการบริหารธนาคารโลก (World Bank) ลงมติเลือก “อาเจย์ บังกา” อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารมาสเตอร์การ์ด รับเก้าอี้ประธานธนาคารโลกคนต่อไป โดยจะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 มิถุนายนที่จะถึงนี้ ซึ่งบังกายังเป็นชาวอินเดียคนแรกที่ดำรงตำแหน่งนี้ด้วย

แต่ไม่ใช่แค่ อาเจย์ บังกา เท่านั้น ที่ได้รับตำแหน่งในองค์กรระดับโลก ยังมี สัตยา นาเดลลา, ซันดาร์ พิชัย, อาร์วินด์ กฤษณะ, ชาญทานุ นาราเยน ฯลฯ ที่ทยอยขึ้นรับตำแหน่งผู้นำ “Big Corp” เหมือนกัน

นี่คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่คนเชื้อสายอินเดียผงาดครองเก้าอี้ซีอีโอ อะไรทำให้คนอินเดียถูกเลือกขึ้นเป็นตำแหน่งผู้นำทัพองค์กรระดับโลกหลายแห่ง ซีอีโอเชื้อสายอินเดียมีความพิเศษอย่างไร จึงสามารถนำพาบริษัทเหล่านี้เติบโตได้

ทุกพื้นที่มีแต่คนอินเดีย! ทำไม ‘คนเชื้อสายอินเดีย‘ ครองเก้าอี้ CEO ทั่วโลก

  • ความไม่พร้อมของอินเดีย ผลักดันให้คนในชาติแยกย้ายกันไปเติบโต

“ไม่มีประเทศใดในโลกที่จะฝึกให้ประชาชนต้องต่อสู้ดิ้นรนเหมือนกับ “กลาดิเอเตอร์” ได้เท่ากับอินเดียอีกแล้ว” อาร์ โกภาลากฤษณันท์ (​​R Gopalakrishnan) บอร์ดบริหาร “คาสตรอล อินเดีย” (Castrol India) และผู้เขียนหนังสือ “The Made in India Manager” ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซี (BBC) โดยเขาระบุว่า ตั้งแต่เกิดจนตาย ตั้งแต่เข้าสู่ระบบการศึกษาไปจนถึงมีงานทำ จากความไม่พร้อมของโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ ไปจนถึงความสามารถที่ไม่เพียงพอจะแข่งขันได้ ทำให้ชาวอินเดียต้องปากกัดตีนถีบมากกว่าคนอื่นๆ

“ความไม่พร้อม” ที่เกิดขึ้นในถิ่นกำเนิด ทำให้ชาวอินเดียมีคุณสมบัติในการปรับตัวเก่ง สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ดี โดยอาร์มองว่า นี่อาจเป็นข้อได้เปรียบอย่างหนึ่ง ที่ทำให้มีผู้บริหารเชื้อสายอินเดียครองตำแหน่งในบริษัทสัญชาติอเมริกันเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ ตามข้อมูลจากรายงานข่าวระบุว่า มากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ได้รับวีซ่า “H-1B” (ใบอนุญาตทำงานสำหรับชาวต่างชาติที่ออกโดยทางการสหรัฐฯ) เป็นชาวอินเดียที่ทำอาชีพวิศวกรซอฟต์แวร์ และร้อยละ 40 ในนั้นเป็นวิศวกรในซีแอตเทิล เมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นคู่แข่งของซิลิคอน วัลเลย์

การเข้ามาของชาวอินเดียในสหรัฐอเมริกาเริ่มต้นขึ้นหลังจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายเข้าเมืองครั้งใหญ่ในสหรัฐฯ ในช่วงทศวรรษ 1960 จากเดิม ที่ใช้เรื่องชาติกำเนิดเป็นเกณฑ์การคัดกรอง ก็ถูกแทนที่ด้วยโควตาเรื่องทักษะที่จำเป็น หลังจากนั้น ชาวอินเดียที่ได้รับการศึกษาในระดับสูง ทั้งนักวิทยาศาสตร์ แพทย์ วิศวกร โปรแกรมเมอร์ ฯลฯ ก็เริ่มหลั่งไหลเข้ามาแสวงหาโอกาสในสหรัฐฯ มากขึ้น

ทุกพื้นที่มีแต่คนอินเดีย! ทำไม ‘คนเชื้อสายอินเดีย‘ ครองเก้าอี้ CEO ทั่วโลก

  • “อินเดีย” ให้ความสำคัญ “STEM” มาเป็นอันดับหนึ่ง

สิ่งสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯ กลายเป็น “โอเอซิส” ของชาวอินเดีย คือ วีซ่าดังกล่าวได้จำกัดคุณสมบัติหดแคบลง โดยระบุว่า ทักษะที่ประเทศต้องการจะมุ่งเน้นไปที่สาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือ “STEM” ซึ่งเป็นสัดส่วนวิชาที่ระบบการศึกษาอินเดียปลูกฝัง-ให้ความสำคัญมาเป็นอันดับต้นๆ 

ผลสำรวจจาก “Pew Research Center” พบว่า ผู้อพยพชาวอินเดียเป็นกลุ่มคนที่มีการศึกษาสูงสุดในอเมริกา โดยพบว่า 77.5 เปอร์เซ็นต์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่า ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูง เมื่อเทียบกับชาวอเมริกันโดยกำเนิดที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี 31.6 เปอร์เซ็นต์

ฉะนั้น ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การเข้ามาของผู้อพยพต่างชาติจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ในการเข้ามาเติมเต็มทักษะที่ขาดหายไป แม้ว่าปัจจุบันชาวอเมริกันจะให้ความสนใจในแขนงวิชาวิศวกรรมศาสตร์ และวิทยาการคอมพิวเตอร์ด้วยแนวโน้มที่สูงขึ้นแล้วก็ตาม 

แจสมีต ซอว์นีย์ (Jasmeet Sawhney) หัวหน้าทีมการตลาด บริษัทด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีแห่งหนึ่งได้แสดงความคิดเห็นไว้ว่า การให้ความสำคัญไปที่วิชา “STEM” ทำให้คนอินเดียมักมีวิธีคิดที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและตรรกะเสมอ ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้คนอินเดียจำนวนมากเชี่ยวชาญในการคิดเลข มีความสามารถเฉพาะตัวในการดูดซับข้อมูลใหม่ๆ ได้ง่าย และแน่นอนว่า ทักษะการคิดวิเคราะห์ต่างๆ เหล่านี้มีความจำเป็นกับองค์กรที่ต้องขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม จึงเป็นที่มาของตำแหน่งผู้บริหารคนอินเดียใน “Big Tech” นั่นเอง

  • เมื่อ “ความหลากหลาย” เป็น “Core Value” ผู้บริหารที่มาจากความหลากหลายจึงเป็นเรื่องสำคัญ

พื้นเพสังคมและวัฒนธรรมที่หลากหลายของอินเดีย ทำให้คนอินเดียจำนวนมากมีความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์ที่ซับซ้อนได้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่องค์กรต้องเผชิญกับวิกฤติและการตัดสินใจที่ต้องมีการรื้อสร้างครั้งใหญ่

ทุกพื้นที่มีแต่คนอินเดีย! ทำไม ‘คนเชื้อสายอินเดีย‘ ครองเก้าอี้ CEO ทั่วโลก

กรณีที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ เมื่อครั้ง สัตยา นาเดลลา ซีอีโอไมโครซอฟท์คนล่าสุดต้องเข้ามารับช่วงตำแหน่งบริหารต่อจาก สตีฟ บอลเมอร์ (Steve Ballmer) เมื่อปีค.ศ. 2014 ท่ามกลางวิกฤติที่ไมโครซอฟท์กำลังจะกลายเป็น “องค์กรตกยุค” จากเดิม ที่ยังยึดติดกับความสำเร็จเก่าๆ นาเดลลา ปลุกให้พนักงานทุกคนสลัดความสำเร็จที่ผ่านมาทิ้งไปให้หมด หันมาเริ่มต้นสร้างวัฒนธรรมองค์กรเสียใหม่ คิดพัฒนาโปรดักต์อื่นๆ ไปตามความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น จนในที่สุด ไมโครซอฟท์ก็กลับมาสร้างผลกำไรด้วยธุรกิจในเซกเมนต์ใหม่ๆ แทนการพึ่งพารายได้จากวินโดว์ส (Windows) แบบเดิม

ประกอบกับการสำรวจจากดีลอยต์ (Deloitte) ยังพบอีกว่า พนักงาน 69 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่า ผู้บริหารระดับสูงที่มีความหลากหลายจะช่วยกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจในการทำงานได้ดี ความเข้าอกเข้าใจในเรื่องความหลากหลายได้หล่อหลอมให้คนอินเดียมีลักษณะของผู้นำที่อ่อนโยน ประนีประนอม ไม่แข็งกระด้างจนเกินไป สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ได้วิเคราะห์และให้ความเห็นไว้ว่า บุคลิกลักษณะเช่นนี้ของคนอินเดียนับเป็นข้อดีอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม “American Dream” ที่เคยเป็นจุดหมายปลายทางของชาวอินเดีย อาจถูกแทนที่ด้วยการเกิดขึ้นของสตาร์ตอัปในอินเดียเอง โดยผู้เชี่ยวชาญมองว่า การเกิดขึ้นของ “ยูนิคอร์น” ในอินเดียที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นข้อบ่งชี้ว่า ประเทศได้เริ่มพัฒนาบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่เป็นของตัวเองแล้ว

แม้ระบบนิเวศสตาร์ตอัปอินเดียยังใหม่ไปสักหน่อย แต่การเกิดขึ้นของ “Role Model” อย่างยูนิคอร์นหลายตัวในช่วงเวลาที่ผ่านมาก็นับเป็นหมุดหมายที่ดี ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการและนักธุรกิจรายย่อยในอินเดียลุกขึ้นมาปั้นนวัตกรรมของตัวเองกันมากขึ้น

 

อ้างอิง: BBCCNNLinkedinBangkokbiznews