การส่งเสริมสหกรณ์ภาคเกษตร จิ๊กซอว์สำคัญที่หายไปจากนโยบายหาเสียง

การส่งเสริมสหกรณ์ภาคเกษตร จิ๊กซอว์สำคัญที่หายไปจากนโยบายหาเสียง

ในขณะที่พรรคการเมืองมีนโยบายน่าสนใจด้านเศรษฐกิจ แรงงาน การพัฒนากำลังคน การส่งเสริมคุณภาพชีวิต แต่น่าประหลาดใจว่า นโยบายภาคเกษตรดูเหมือนจะไม่ได้รับความสำคัญมากเท่ากับนโยบายด้านอื่น

 การสร้างนโยบายภาคเกษตรสำหรับการหาเสียงครั้งนี้ยังใช้คำเดิม ๆ ไม่ว่าจะเป็น นวัตกรรม เทคโนโลยี สร้างมูลค่าเพิ่ม ประกันรายได้ และการให้เงินอุดหนุน มันไม่ได้เจาะลงไปถึงปัญหาเชิงโครงสร้างในบางมิติที่กลายเป็นคอขวดสำคัญของการยกระดับภาคเกษตร จนลืมคำว่า “สหกรณ์” ซึ่งเป็นอีกคำสำคัญหนึ่งในการทลายคอขวดภาคเกษตร 

  นอกจากนี้แล้ว คำสำคัญยอดนิยมเหล่านี้ยังสะท้อนแนวคิดที่ยืมเขามา เมื่อเป็นแนวคิดที่ไม่ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาภายใต้บริบททางภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ และสังคมของไทย

จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมแม้คำเหล่านี้จะถูกหยิบยกมาใช้เป็นคำสำคัญของนโยบายการพัฒนาภาคเกษตร แต่พอเอาเข้าจริง ความสำเร็จที่เกิดขึ้นกลับไม่ได้มากเหมือนกับที่คาดหวังเอาไว้ ภาคเกษตรของไทยส่วนใหญ่จึงยังวนอยู่ที่เดิมมากว่า 10 ปีแล้ว

จุดแข็งของสหกรณ์ในการยกระดับภาคเกษตร คือ การที่สหกรณ์มีสมาชิกเป็นกลุ่มก้อน มีเครือข่ายระหว่างสหกรณ์ หากมีการออกแบบการพัฒนาความเชื่อมโยงของเครือข่ายเหล่านี้ให้ดีจะเป็นการสร้างตลาดระหว่างสหกรณ์ต่าง ๆ ให้สามารถซื้อขายสินค้าและบริการระหว่างกันได้ ช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงสินค้า บริการ และปัจจัยการผลิตในราคาต่ำ ช่วยลดต้นทุนการผลิต 

นอกจากนี้แล้ว การรวมตัวกันยังช่วยให้สหกรณ์เหล่านี้ มีอำนาจต่อรองกับบริษัทและกลุ่มลูกค้าได้มากกว่าการที่เกษตรกรแต่ละรายจะต้องดำเนินการด้วยตนเอง ดังนั้น ในทางเศรษฐกิจ สหกรณ์มิได้เป็นเพียงหน่วยทางเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ แต่ยังเป็นกลไกสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำของเกษตรกรอีกด้วย

สหกรณ์ยังมีบทบาทในฐานะผู้สร้างตาข่ายความปลอดภัยทางสังคม (Social safety net) ในระดับชุมชน มีข้อมูลของสมาชิกครบถ้วน ทราบถึงความต้องการความเดือดร้อนของสมาชิกเป็นอย่างดี จึงเป็นกลไกสำคัญในการดูแลคุณภาพชีวิตของสมาชิกและครอบครัวของสมาชิกได้ 

นอกจากนี้แล้ว กระบวนการรับฟังความเห็นและการกำหนดทิศทางการทำงานของสหกรณ์ ยังเป็นห้องทดลองของการพัฒนาสังคมประชาธิปไตยในระดับพื้นที่

ไม่น่าแปลกใจเลยว่า เหตุใด ในโลกที่กำลังหมุนเร็วขึ้นเช่นนี้ หลายประเทศจึงกลับมาให้ความสำคัญกับสหกรณ์ในฐานะกลไกเชิงพื้นที่ในการรับมือกับบริบทใหม่ของโลก แต่ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองในคราวนี้จึงให้ความสำคัญกับกลไกนี้น้อยกว่าที่ควร

ผลการศึกษาที่กรมส่งเสริมกรณ์และสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดำเนินการร่วมกัน เพื่อศึกษาแนวทางการปรับตัวของสหกรณ์ในประเทศออสเตรเลีย เวียดนามอินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ และโคลัมเบีย ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้สอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจของโลก

พบว่า แนวทางการปรับตัวสำคัญมี 2 ส่วน คือ แนวทางการเปลี่ยนแปลงภายในสหกรณ์ (Administrative transformation) และแนวทางการส่งมอบคุณค่าแก่สมาชิกและกลุ่มเป้าหมาย (Value Delivery) โดยมีรายละเอียดังนี้

แนวทางการเปลี่ยนแปลงภายในสหกรณ์ (Administrative transformation)
1.    การเปลี่ยนรูปแบบการบริหารสหกรณ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน (Administrative process redesign)
2.    การพัฒนาบุคลากรของสหกรณ์ให้มีขีดความสามารถในด้านธุรกิจและมีความเป็นมืออาชีพ (Human capital and professionalism)
3.    ให้ความสำคัญกับการบริหารแบบมุ่งเน้นผลลัพธ์มากกว่าการบริหารโดยอิงกับกฎระเบียบ (From rule-based to outcome-oriented management)
4.    การบริหารการเงินเพื่อการเติบโต (Financial management for growth)
5.    การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อการบริการและการเงิน (Digital infrastructure for e-documentation, e-transaction and e-payment)
6.    การพัฒนาขีดความสามารถในการใช้ข้อมูลมาขับเคลื่อนการดำเนินงาน (Data-driven management)

แนวทางการส่งมอบคุณค่าแก่สมาชิกและกลุ่มเป้าหมาย (Value delivery)
1.    การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ในเชิงธุรกิจกับสหกรณ์และภาคธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานเดียวกัน (Supply chain integration)
2.    พัฒนาสินค้าและบริการให้มีมูลค่าเพิ่มเพื่อผลักดันให้สินค้าและบริการมีความแตกต่างในเชิงคุณค่า (Moving up the value ladders)
3.    พัฒนากรอบคิดที่มองว่าสหกรณ์ก็คือองค์กรธุรกิจเชิงสังคม (Social enterprise) มิใช่องค์กรเชิงสังคมเพียงอย่างเดียว จึงต้องดำเนินการโดยคำนึงถึงสภาพตลาด และโอกาสทางธุรกิจ (Market orientation) 
4.    ให้ความสำคัญกับการเติบโตของรายได้จากการขยายธุรกิจเหนือกว่าการเติบโตของรายได้จากการขยายปริมาณธุรกิจเดิม (Value over volume)

    ช่วง 15 ปีที่ผ่านมา เราพยายามยกระดับภาคเกษตรกันมาอย่างต่อเนื่อง แต่สัดส่วนของ GDP ภาคเกษตรก็ยังติดอยู่แค่ประมาณ 1 ใน 10 ของ GDP ทั้งหมดของประเทศ นั่นหมายความว่าแนวทางเดิม ๆ ได้พิสูจน์ตัวมันเองแล้วว่ายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

บางทีส่วนที่ขาดหายไปในกระบวนการ (Missing link) อาจจะเป็นการใช้ประโยชน์จากกลไกสหกรณ์ก็เป็นได้ ในเมื่อใช้ทางเดิมแล้วไม่ได้ผล ลองอะไรที่แตกต่างไปหน่อยก็ไม่เสียหายอะไรนี่นา

    บทความนี้ใส่ภาษาอังกฤษมาเยอะ เพราะอยากให้ดูน่าเชื่อถือ เผื่อจะเข้าตาทีมเศรษกิจของพรรคการเมืองสักหน่อยก็ยังดี