‘สมาคมแบงก์’จ่อรื้อเกณฑ์ค่าฟี - ลุยเก็บค่าธรรมเนียม ‘เงินสด’

สมาคมธนาคารไทย เผยอยู่ระหว่างเร่งพิจารณา ปรับโครงสร้าง “ค่าธรรมเนียม” ทั้งระบบแบงก์ โดยเฉพาะ การเก็บค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมใช้เงินสด หวังผลักดันสู่การลดใช้เงินสดมากขึ้น

สมาคมธนาคารไทย เผยอยู่ระหว่างเร่งพิจารณา ปรับโครงสร้าง “ค่าธรรมเนียม” ทั้งระบบแบงก์ โดยเฉพาะ การเก็บค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมใช้เงินสด หวังผลักดันสู่การลดใช้เงินสดมากขึ้น โอดแบงก์แบกต้นทุนบริหารจัดการอื้อ สวนทางต่างประเทศที่มีเก็บค่าธรรมเนียม ชี้การปรับค่าธรรมเนียมต้องให้เกิดความสมดุล และให้มีผลกระทบต่อลูกค้าน้อยที่สุด  


ข่าวการประกาศเก็บค่าธรรมเนียมการถอนเงินสดแบบไม่ใช้บัตร ของ ธนาคารกรุงไทย ครั้งละ 10 บาทต่อธุรกรรมในช่วงที่ผ่านมา ถือว่าสร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนค่อนข้างมาก เพราะผู้บริโภคส่วนหนึ่งไม่ “คุ้นชิน” กับการเก็บค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมการเงิน ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ซึ่งนำไปสู่การ “พับแผน” การเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวไว้ชั่วคราว และกลับมาทบทวนแผนการเก็บธรรมเนียมต่างๆใหม่ในอนาคต

ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ออกมาประกาศว่า ธปท.มีเป้าหมายในการยกระดับให้เกิดการใช้จ่ายผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น ให้เป็นช่องทางหลักของประชาชน เพื่อมุ่งหวังในการ “ลดใช้เงินสด”ในระยะยาว ภายใต้แผนชำระเงินปี 2565-2567
หนึ่งในเรื่องที่ต้องพิจารณาคือ การพิจารณาทบทวน “โครงสร้างค่าธรรมเนียม”ของทั้งระบบในรูปแบบต่างๆ ทั้งเงินสด เช็ค และบริการชำระเงินดิจิทัลให้เหมาะสม ภายใต้หลักการ การสนับสนุนให้ลูกค้าสามารถใช้บริการทางการเงินได้ทั่วถึง สะท้อนต้นทุนที่เหมาะสม ดังนั้น ธปท.จึงอยู่ระหว่างการพิจารณา การวางแนวทางปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียม ของทั้งระบบให้สอดคล้องกับหลักการและเป็นสากลมากขึ้น โดยจะมีการพิจารณากับผู้เกี่ยวข้องและนำมาใช้เป็นแนวทางให้สถาบันการเงินปรับใช้ต่อไป
ล่าสุด นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะ ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การพิจารณาปรับ “โครงสร้างค่าธรรมเนียม” ของระบบธนาคารพาณิชย์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือร่วมกันในสมาคมธนาคาร ซึ่งจะพยายามให้มีข้อสรุปที่ชัดเจนให้เร็วที่สุด
สำหรับการ “ปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียม” ครั้งนี้ ถือเป็นหนึ่งเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะ ทุกอย่างคือต้นทุนของระบบการเงิน ต้นทุนของระบบแบงก์
การปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียมครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการปรับ เพื่อเน้นการทำกำไร แต่เกี่ยวกับต้นทุนที่ระบบต้องแบกรับค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะต้นทุนการบริหารจัดการเงินสด ทั้งการขนเงิน การรักษา ค่าขนส่ง ค่าเช่าตึกต่างๆ
อีกทั้ง ประเทศไทย ถือเป็นประเทศเดียว ที่ไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมบนดิจิทัลเพย์เมนท์ หรือบนการทำธุรกรรมทางการเงิน สวนทางกับต่างประเทศ ที่ลูกค้าธนาคารมีต้นทุน ในการทำธุรกรรมทางการเงิน ดังนั้นเหล่านี้คือ ความบิดเบี้ยวของโครงสร้างค่าธรรมเนียม ที่วันนี้สร้างต้นทุนให้กับระบบการเงิน ระบบแบงก์
“ ประเทศไทย ถือเป็นประเทศเดียว ที่ฟรีระบบดิจิทัลเพย์เมนท์ แต่แหล่านี้เป็นต้นทุนของแบงก์ เพราะเหล่านี้คืออินฟราสตรัคเจอร์ของประเทศ แต่คำถามคือ คนใช้ไม่ได้จ่าย คนจ่ายไม่ได้ใช้ ดังนั้นจึงมีความบิดเบี้ยวของโครงสร้าง ยกตัวอย่างการให้บริการผ่านสาขา มีต้นทุนตั้งแต่ เช่าตึก ค่าขนเงิน ต้นทุนเหล่านี้เป็นต้นทุนแบงก์ทั้งสิ้น ขณะที่ Price to book แบงก์วันนี้ต่ำเพียง 0.6-0.7% เพราะไม่ได้มีมาร์จิ้นใหญ่ขนาดนั้น”
ส่วนคำถามที่ว่า ท้ายที่สุดแล้ว ต้องกลับไปเก็บค่าธรรมเนียมบนธุรกรรมเงินสดหรือไม่ เมื่อโลกกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมไร้เงินสด ผยง กล่าวว่า ก็ต้องกลับไปพิจารณาในการเก็บอยู่แล้ว เมื่อประเทศไทยก้าวสู่สังคมไร้เงินสดมากขึ้นในระยะข้างหน้า เพราะสิ่งที่พยายามทำวันนี้คือ พยายามลดการใช้เงินสด ดังนั้นการพิจารณาการปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียมจึงเป็นเรื่องที่ต้องเร่งพิจารณา และต้องดูโครงสร้างค่าธรรมเนียมทั้งหมด ไม่ได้ดูเฉพาะตัวใดตัวหนึ่ง
อย่างไรก็ตามการปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียม จะต้องปรับให้เกิดความสมดุล ควบคู่ไปกับการคำนึงถึงผลกระทบของผู้บริโภคให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด
อีกทั้งการปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียมในอนาคต ยังต้องคำนึงถึง องคาพยพโดยรวม ทั้งระบบโครงสร้างพื้นฐานเดิม ระบบใหม่ เพราะทั้งหมดเชื่อมโยงกับการปรับโครงสร้างระบบการเงินในระยะข้างหน้า เพราะสิ่งที่แบงก์มีอยู่เดิม เช่นระบบโครงสร้างเดิม ที่ถือเป็นต้นทุนแบงก์ และการเข้าถึงของผู้บริโภคลดลงเรื่อยๆ เหล่านี้แบงก์จะทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์กับระบบสูงสุด
“ก็ต้องกลับมาพิจารณา โครงสร้างค่าธรรมเนียม เพราะสิ่งที่แบงก์ทำวันนี้คือ พยายามลด การขนเงินสด ต้นทุนเงินสด ต่างๆ ของระบบ ของธนาคารพาณิชย์ โดยพยายามเอารายได้อื่นๆมาโปะตัวนี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือโครงสร้างรายได้ โครงสร้างค่าธรรมเนียมบิดเบี้ยว ดังนั้นเราอยู่ระหว่างการหารือปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียมทั้งระบบให้ได้ข้อสรุปให้เร็วที่สุด เพื่อให้เกิดความบาลานซ์มากขึ้น