ส่องรายงาน ‘IMD’ ผู้บริหารทั่วโลก กังวลปัญหาอะไร? ในวันที่โควิดคลี่คลาย  

ส่องรายงาน ‘IMD’ ผู้บริหารทั่วโลก  กังวลปัญหาอะไร? ในวันที่โควิดคลี่คลาย  

เจาะรายงาน IMD เปิดความคิดเห็นผู้นำระดับสูงในองค์กร 63 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ห่วงเรื่องอะไรมากที่สุดหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ระบุ กังวลแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน จับตาประเด็นความไม่แน่นอนในภูมิภาค

การบริหารความเสี่ยงถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญสูงสุดที่ผู้บริหารระดับสูงในแต่ละองค์กรต้องให้ความสำคัญ ผู้บริหารระดับสูงจึงต้องติดตามข้อมูล ข่าวสาร เพื่อประเมินผลกระทบและความเสี่ยงจากปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องกับความอยู่รอดขององค์กร เพื่อที่จะสามารถรับมือกับ “วิกฤต” และ “ความเสี่ยง” ขณะเดียวกันกับสามารถแสวงหา “โอกาส” จากวิกฤตที่เกิดขึ้นได้

ในรายงานการประเมินขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ โดย IMD World Competitiveness Ranking ที่จัดขึ้นโดยสถาบันการจัดการนานาชาติ หรือ  “IMD” สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเก็บข้อมูลและประเมินผลจาก 63 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เผยแพร่รายงานเรื่อง “คู่มือความสามารถในการแข่งขันของไทย” โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับมุมมองของผู้บริหารระดับสูงของภาคเอกชน จาก 63 เขตเศรษฐกิจ เกี่ยวกับแนวโน้มสำคัญที่ส่งผลต่อธุรกิจในปี 2565และในระยะต่อไป

โดยระบุว่าในช่วง 2 ปีผ่านมา ความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่าง ๆ ล้วนต้องเผชิญ ความท้าทายจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีความรุนแรงกระจายไปทั่วทุกพื้นที่ของโลก จนเกิดผลกระทบในระยะยาว อาทิ การสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ การขาดแคลนทรัพยากรในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง และอัตรา การว่างงานที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น จนนำไปสู่การสูญเสียความสามารถในการแข่งขันและส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

ปัจจุบันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ลดความรุนแรงลง โดยบางภูมิภาคของโลกยังคงดำเนินมาตรการและนโยบายต่าง ๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งส่งผลให้สถานการณ์ดังกล่าวคลี่คลายลงจากจำนวนผู้ได้รับวัคชนที่เพิ่มขึ้น และการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ในขณะที่บางภูมิภาคมีจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่พื้นที่ดังกล่าวไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นการแพร่ระบาดเป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข

ภูมิภาคต่างๆ กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายรูปแบบใหม่ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงไม่ต่างจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น ภูมิภาคยุโรปตะวันออกที่เผชิญกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งเป็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กระทบทั้งมิติการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม จนทำให้ภูมิภาคนี้ต้องจัดลำดับความสำคัญโดยให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวมากกว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19

โดยมุมมองในการบริหารจัดการมาตรการและนโยบายต่าง ๆ ในการบริหารความเสี่ยงระหว่าง 2 ภูมิภาคที่ได้กล่าวข้างต้น มีความแตกต่างกัน ส่งผลให้แนวทางในการแก้ไขปัญหามีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละพื้นที่

ดังนั้นในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจัดอันดับความสามารถในการของแข่งขันของสถาบัน MD นอกจากมุ่งเน้นการวิเคราะห์ข้อมูลบนพื้นฐาน ของความเสี่ยงทางมิติสุขภาพและเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นมิติที่มีความสัมพันธ์กันและได้รับผลกระทบ โดยตรงจากวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้จากการสอบถามผู้บริหารระดับสูงใน 63 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก พบว่าในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ได้แก่

1.แรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ

 2.ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ 

3.ปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน

4.การแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องของโควิด-19

5. รูปแบบการทำงานระยะไกลและการทำงานแบบผสมผสาน

6.เทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

7.การลดปฎิสัมพันธ์แบบตัวต่อตัว

8.ระเบียบใหม่เกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

9.ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ที่มีความถ่างกว้างิกไปขึ้น

และ 10. การคำนวณภาษีขั้นต่ำทั่วโลกที่มีประเทศ 136 ประเทศได้ลงนามในข้อตกลงเพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทต่างๆ จะต้องเสียภาษีในอัตราขั้นต่ำที่ 15%

 

รายงานยังระบุด้วยว่าจากผลการสำรวจความเห็นของผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับแนวโน้ม 3 อันดับแรก ซึ่งมีนัยสำคัญต่อภาคธุรกิจ คือ

แรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ 50%

รองลงมาคือ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์  47%

ปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน 47%

ส่วนความกังวลเรื่องของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เคยเป็นความกังวลอันดับ 1 ลดลงมาอยู่ที่ 43%

สะท้อนว่า ในปัจจุบัน การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ใช่ แนวโน้มที่มีความสำคัญและส่งผลกระทบต่อธุรกิจเป็นอันดับแรก แต่กลับมีแนวโน้มอื่น ๆ เข้ามา มีบทบาทและเป็นตัวแปรที่ทำให้อันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลง

รายงานของ สศช.ยังระบุว่าภาครัฐควรนำประเด็นที่ภาคธุรกิจมีความกังวลมาประกอบการออกแบบ

นโยบายแบบมุ่งเป้า เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการและอำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจ โดยสถาบัน IMD ได้วิเคราะห์และสรุปแนวโน้มสำคัญที่ส่งผลต่อภาคธุรกิจออกเป็น 3 ประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขัน ประกอบด้วย

1.ประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่เริ่มจากการรุกรานพื้นที่ยูเครนของรัสเซีย

จนนำไปสู่การประกาศสงครามระหว่างรัสเซีย - ยูเครน อย่างเป็นทางการ ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบ

แค่เพียงพื้นที่ภายในยุโรปเท่านั้น แต่ยังทวีความรุนแรงจนส่งผลกระทบไปทั่วโลกในอีกหลายปีข้างหน้า เช่น เสถียรภาพของระบบการเมือง ในส่วนขององค์ประกอบพื้นฐานของประสิทธิภาพของรัฐบาล ที่อาจตกอยู่ภายใต้การคุกคามในบางพื้นที่ และส่งผลกระทบต่อความสามารถของรัฐบาลในการอำนวยความสะดวกในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในระยะยาว

2.การเปลี่ยนแปลงในระดับภูมิภาค โดยสิ่งที่ได้รับการพิจารณาว่า เป็นความท้าทายหลักในภูมิภาคอาจสะท้อนถึงการละเลยความเสี่ยงระดับโลกที่อาจส่งผลกระทบ รุนแรงแก่ทุกประเทศได้ ซึ่งความเสี่ยงเหล่านั้นถูกมองเป็นเรื่องปัจจัยภายนอก หรือเรื่องของ "ต่างประเทศ" อาทิ สถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ยังคงเป็นความท้าทายในบางส่วนของภูมิภาคเอเชีย ในขณะที่สถานการณ์ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของยุโรปตะวันตกเริ่มคลี่คลายและเข้าสู่ภาวะปกติอย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ว่าอาจมีไวรัส สายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น ซึ่งอาจทำให้การกลับสู้ภาวะปกติถูกเลื่อนออกไป

และ 3. การเกิดขึ้นของโลกาภิวัตน์ระยะใหม่ การเชื่อมโยงระหว่าง กันของประเทศต่าง ๆ โดยการเกิดขึ้นของโลกาภิวัตน์ จะนำไปสู่การหาแนวทางที่สามารถรองรับ ความเสี่ยงและภัยคุกคามอื่น ๆ ที่คาดไม่ถึง ผ่านนโยบายของรัฐบาล เช่น มาตรการที่เอื้อต่อ การปรับตัวตามสภาวะโลกที่เปลี่ยนแปลง โดยประเทศที่ขาดความสามารถในการปรับตัวดังกล่าวจะมีความเสี่ยงที่อาจส่งผลเสียต่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันโดยรวม