ไทย-ยูเออี ประกาศนับหนึ่งเจรจาทำเอฟทีเอ

ไทย-ยูเออี ประกาศนับหนึ่งเจรจาทำเอฟทีเอ

“จุรินทร์” ประกาศ นับหนึ่ง FTA ไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์(ยูเออี) สร้างแต้มต่อให้ “สินค้า-บริการ-ลงทุน”ไทย ตั้งเป้าเสร็จภายใน 6 เดือน ชี้เป็นเอฟทีเอ ฉบับแรก ที่ไทยทำกับประเทศในตะวันออกกลาง มีประโยชน์เพียบ ทั้งใช้เป็นประตูการค้าสู่ GCC เพิ่มมูลค่าการส่งออก

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงภายหลังการประชุมหารือกับ ดร.ธานี บินอาเหม็ด อัลเซ ยูดี (H.E. Dr. Thani bin Ahmed Al Zeyoudi) รัฐมนตรีแห่งรัฐประจำกระทรวงเศรษฐกิจ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รับผิดชอบด้านการค้าต่างประเทศ ผ่านระบบการประชุมทางไกล ที่โรงแรมเรเนซองส์ จังหวัดภูเก็ต ว่า ไทยและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ร่วมกันประกาศเริ่มการเจรจาจัดทำเอฟทีเอระหว่างกันหรือเรียกว่า CEPA ซึ่งจะเริ่มต้นการเจรจาในวันที่ 16-18 พ.ค. โดยยูเออีเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสเป็นครั้งแรกที่ดูไบ ทั้งนี้ ตนมอบหมายให้อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศนำคณะไปเจรจา โดยตั้งเป้าหมายว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน

หากทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมาย FTA ไทย-ยูเออี จะถือเป็น FTA ฉบับประวัติศาสตร์ฉบับหนึ่ง ที่สามารถทำได้เร็วที่สุด คาดว่าจนเสร็จใช้เวลาเพียง 9 เดือน และจะเป็น FTA ฉบับแรกของไทยที่ทำกับประเทศในตะวันออกกลาง โดย FTA ฉบับนี้เมื่อประสบความสำเร็จ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับเศรษฐกิจการค้า การลงทุน ระหว่าง 2 ประเทศ

โดยประการที่หนึ่ง ประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับไทย คือ สามารถใช้ยูเออีเป็นประตูส่งสินค้าและบริการไปยังอีก 5 ประเทศที่เป็นสมาชิกคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับหรือ GCC ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน โอมาน กาตาร์ และคูเวต โดยอัตโนมัติ

ประการที่สอง จะช่วยเพิ่มตัวเลขการส่งออกที่ไทยจะส่งออกไปยังยูเออีคาดว่าจะสูงขึ้นมาก มูลค่าการค้าปี 2565 ระหว่างไทยกับยูเออีประมาณ 730,000 ล้านบาท ตัวเลขการส่งออกไทยไปยูเออี ปี 2565 มีมูลค่า 119,000 ล้านบาท คาดว่าจากการทำเอฟทีเอแล้วจะเพิ่มมูลค่าการค้าไม่ต่ำกว่า 10% ทันที( 70,0000 ล้านบาท ภายใน 1 ปี)  หรืออาจมากกว่านั้น

โดยสินค้าจะได้รับประโยชน์ทันที เช่น อาหาร อาหารทะเลกระป๋อง อาหารทะเลแปรรูป สิ่งทอ เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยานยนต์ แอร์คอนดิชันเนอร์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ รวมทั้งผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง เป็นต้น ส่วนภาคบริการไทยจะได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ด้านโลจิสติกส์และการขนส่ง ต่อไปในอนาคต 

นอกจากจะได้แต้มต่อในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางอีก 5 ประเทศสมาชิก GCC แล้ว จะถือเป็นเอฟทีเอฉบับแรกของไทยที่ทำกับประเทศในตะวันออกกลาง ถือเป็นฉบับที่ 15 ของไทย กับ 19 ประเทศ และถ้าเอฟทีเอไทยกับสหภาพยุโรปเสร็จสิ้น จะมีผลให้มีเอฟทีเอเพิ่มเป็น 16 ฉบับ กับ 46 ประเทศ

“ถือเป็นเอฟทีเอฉบับก่อนการเลือกตั้งและกระทรวงพาณิชย์ช่วยกันทำงานหนัก เพื่อประโยชน์ของประเทศ ทำกันจนนาทีสุดท้ายเพื่อประโยชน์ของการค้าการลงทุนเศรษฐกิจของประเทศเรา” นายจุรินทร์ กล่าว