สภาตลาดทุนฯ หวังรัฐบาลใหม่มีเสถียรภาพ

สภาธุรกิจตลาดทุนไทยชี้หลังการเลือกตั้งรัฐบาลต้องมีเสถียรภาพ มีนโยบายที่ชัดเจน เรียกความเชื่อมั่นนักลงทุน ต้องมีมาตรการระยะยาวเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันของประเทศ ขณะที่ความเชื่อมั่นนักลงทุนยังทรงตัว หวังปัจจัยหนุนจากการเลือกตั้งและเงินทุนไหลเข้า

ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือ FETCO กอบศักดิ์ ภูตระกูล ระบุ ตลาดทุนต้องการความแน่นอนหลังจากการเลือกตั้ง จัดตั้งรัฐบาลได้โดยเร็ว มั่นคงมีเสถียรภาพ มีนโยบายที่ชัดเจนก็จะทำให้ตลาดทุนปรับตัวได้ ส่วนนโยบายที่แต่ละพรรคออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ มองว่าช่วงปลายปีการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเรื่องจำเป็นเนื่องจากเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือ Recession แต่ควรเป็นนโยบายช่วยเพียงชั่วคราว ด้วยงบประมาณที่มีจำกัด 

ขณะเดียวกันตลาดทุนอยากเห็นมาตรการระยะยาวที่จะสร้างอนาคต เพิ่มรายได้ให้กับประเทศไทย ผลักดันไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่มากขึ้น ทั้งอุตสาหกรรมรถยนต์ อาหาร อิเล็กทรอนิกส์ การแพทย์ การท่องเที่ยว ตลาดทุนอยากเห็นการขับเคลื่อนโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ การลดอุปสรรคเชิงกฎหมายที่จะปลดล็อกบริษัทต่างๆ ลดต้นทุนสามารถแข่งขันได้มากขึ้น และอยากเห็นมาตรการที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของหลากหลายอุตสาหกรรมให้ได้ ซึ่งเป็นนโยบายที่ช่วยตลาดทุนให้เกิดการลงทุนใหม่ๆ มีอุตสาหกรรมใหม่ๆ รวมถึงกลุ่มสตาร์อัพ เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น

เลือกตั้งหนุนเชื่อมั่นนักลงทุน

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 15.1% จากเดือนก่อนหน้ายังอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว นักลงทุนมองว่าการเลือกตั้งในประเทศจะเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือความคาดหวังต่อการไหลเข้าของเงินทุน และการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ รองลงมาคือสถานการณ์การเมืองในประเทศในช่วงเลือกตั้ง และสถานการณ์เงินเฟ้อ

เดือนเมษายน SET Index ปิดที่ 1,529.12 จุด ปรับตัวลดลง 5% จากความกังวลของนักลงทุนในเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศที่ไม่เป็นไปตามคาด รวมถึงเศรษฐกิจไทยหลังกระทรวงการคลังปรับลดประมาณการ GDP ไทยปี 2566 จาก 3.8% เป็น 3.6% ความกังวลต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางในสหรัฐฯ และยุโรปเพื่อดูแลสถานการณ์เงินเฟ้อต่อเนื่อง รวมทั้งสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับไต้หวันและรัสเซีย
 
สำหรับปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ ปัญหาเสถียรภาพระบบการเงินในสหรัฐฯและยุโรป แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัวและการอ่อนค่าของค่าเงินดอลล่าร์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยรวมถึงประเทศที่อิงค่าเงินดอลล่าร์เป็นหลัก และอาจกระทบตลาดหุ้นจากการที่บริษัทอาจมีกำไรลดลง นโยบายการเงินของธนาคารกลางในประเทศเศรษฐกิจหลักเพื่อจัดการปัญหาเงินเฟ้อ สถานการณ์ความขัดแย้งเชิงภููมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะสหรัฐและจีนที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น 

ส่วนปัจจัยในประเทศต้องติดตาม ได้แก่ ผลการเลือกตั้งในประเทศซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม นี้ และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ซึ่งจะกระทบต่อการใช้จ่ายภาครัฐ การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและการขยายตัวของการบริโภคของภาคเอกชน ที่จะเป็นแรงหนุนให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 31 พฤษภาคม 2566