'กรมราง' เปิดภาพอุโมงค์รถไฟทางคู่สายใหม่ เชื่อมไทย ลาว จีน

'กรมราง' เปิดภาพอุโมงค์รถไฟทางคู่สายใหม่ เชื่อมไทย ลาว จีน

กรมการขนส่งทางรางเปิดภาพความคืบหน้าอุโมงค์แม่กา รถไฟทางคู่สายใหม่ เด่นชัย - เชียงราย - เชียงของ คาดแล้วเสร็จปี 2571 หนุนเส้นทางเชื่อมขนส่งไทย ลาว จีน

นายพิเชฐ  คุณาธรรมรักษ์  อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ลงพื้นที่ติดตามโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ที่อุโมงค์แม่กา จ.พะเยา วันนี้ (1 พ.ค.) พร้อมระบุว่า อุโมงค์แม่กา เป็นหนึ่งในสี่อุโมงค์ในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ในส่วนของสัญญา 2 ช่วงงาว-เชียงราย ซึ่งได้เริ่มงานก่อสร้างเมื่อปลายเดือน ก.พ.2566 ปัจจุบันขุดอุโมงค์ฝั่งลงใต้ได้ 42 เมตร และฝั่งขึ้นเหนือได้ 44 เมตร มีอัตราการขุดเจาะวันละ 1 เมตร

ขณะที่แผนงานคาดว่าจะใช้เวลาขุดเจาะ และดาดคอนกรีตรวมประมาณ 50 เดือน ส่วนด้านทิศใต้บริเวณ อ.งาว จ.ลำปาง ปัจจุบันยังระเบิดหินไม่แล้วเสร็จ โดยภาพรวมคาดว่าโครงการฯ จะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2571 ซึ่งจะรองรับการเดินทาง และขนส่งสินค้าเชื่อมกับ สปป.ลาว และสาธารณรัฐประชาชนจีน ช่วยส่งเสริมการเดินทาง การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน

\'กรมราง\' เปิดภาพอุโมงค์รถไฟทางคู่สายใหม่ เชื่อมไทย ลาว จีน

สำหรับอุโมงค์แม่กา มีเอกชนผู้รับสัญญาจ้าง คือ กิจการร่วมค้า “ซีเคเอสที-ดีซี2” ประกอบด้วย ช.การช่าง, ซิโน-ไทยฯ และบริษัท บุรีรัมย์พนาสิทธิ์ จำกัด โดยรายละเอียดงานโยธาประกอบด้วย ชั้นดิน และชั้นหิน วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ คาบเกี่ยว 2 จังหวัด คือ ลำปาง และพะเยา เป็นอุโมงค์คู่ทางเดี่ยว แบ่งเป็นฝั่ง up track และ down track ความยาว 2,700 เมตร (ทั้งหมด 5,400 เมตร)

อีกทั้งภายในอุโมงค์มีทางเชื่อม 2 ประเภท คือ ทางเชื่อมกรณีฉุกเฉินเพื่ออพยพ (cross passage) 11 จุด และทางเชื่อมที่เป็นห้องควบคุมงานระบบ (equipment room) 4 แห่ง และภายในอุโมงค์ยังมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 7.4 เมตร  สูง 7.341 เมตร ลักษณะเป็นอุโมงค์ดินเหนียวแข็ง (Unconsolidated sediment) ร้อยละ 85 และชั้นหิน(Siltstone) ประมาณร้อยละ 15 จึงใช้วิธีขุดเจาะอุโมงค์แบบ New Austrain Tunnelling Method (NATM) และ drill and blast

\'กรมราง\' เปิดภาพอุโมงค์รถไฟทางคู่สายใหม่ เชื่อมไทย ลาว จีน

ทั้งนี้ โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ มีอุโมงค์ 4 แห่ง ซึ่งมีความสูงเหนือระดับพื้นดิน เท่ากับตึกประมาณ 20 ชั้น โดยระยะทางในอุโมงค์ทั้งขาขึ้น และขาล่องรวม 27.03 กิโลเมตร ซึ่งแต่ละอุโมงค์มีรายละเอียดดังนี้

  • อุโมงค์ที่ 1 อ.สอง จ.แพร่ ความยาว 1.175 กิโลเมตร
  • อุโมงค์ที่ 2 อ.สอง จ.แพร่ ความยาว 6.240 กิโลเมตร
  • อุโมงค์ที่ 3 อ.เมือง จ.พะเยา ความยาว 2.700 กิโลเมตร
  • อุโมงค์ที่ 4 อ.ดอยหลวง จ.เชียงราย ความยาว 3.400 กิโลเมตร

\'กรมราง\' เปิดภาพอุโมงค์รถไฟทางคู่สายใหม่ เชื่อมไทย ลาว จีน