อาเซียน-จีนเดินหน้า อัพเกรด เอฟทีเอ ACFTA รับการค้าโลกเปลี่ยน

อาเซียน-จีนเดินหน้า อัพเกรด เอฟทีเอ ACFTA รับการค้าโลกเปลี่ยน

ไทยเปิดเวทีเจรจาปรับปรุงเอฟทีเออาเซียน-จีน เปิดตลาดการค้าและการลงทุนเพิ่ม มุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจดิจิทัล ตั้งเป้าเสร็จปี 2567

ความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ (FTA) อาเซียน-จีน หรือ ACFTA มีผลใช้บังคับตั้งแต่ปี 2548  ปัจจุบันอาเซียนและจีนกำลังดินหน้ายกระดับและปรับปรุงความตกลง FTA  หลังจากที่บังคับใช้มากกว่า 15 ปี  ทั้งนี้เพื่อรองรับรูปแบบทางการค้าในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เช่น กฎถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากร การอำนวยความสะดวกทางการค้า และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น และ เพื่อเปิดเสรีเพิ่มเติมในรายการสินค้าที่ยังไม่ได้เปิดตลาด พร้อมทั้งยกระดับความตกลงข้อบทต่างๆ ให้ทันสมัย

โดยประเทศสมาชิกอาเซียนและจีนได้ลงนามในพิธีสารเพื่อยกระดับความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (Upgrading the ASEAN-China Free Trade Area) เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2558  ในช่วงการประชุมสุดยอดของผู้นำอาเซียน-จีน (ASEAN-China Summit) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

“อรมน ทรัพย์ทวีธรรม”อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การเจรจายกระดับเอฟทีทีเอ อาเซียน-จีน ก็เพื่อให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมธุรกิจในปัจจุบัน และสามารถรองรับความท้าทายที่เกิดขึ้นในโลก

ล่าสุดเมื่อวันที่ 10-12 เม.ย.ที่ผ่านมา  ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ครั้งที่ 2 ที่โรงแรม ดิ แอทธินี กรุงเทพฯ โดยมีนางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานร่วมฝ่ายอาเซียน และอธิบดีกรมการค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์จีน (นายหวี เปิ่น หลิน) เป็นประธานร่วมฝ่ายจีน โดยครั้งนี้ถือเป็นการประชุมแบบพบหน้ากันครั้งแรกระหว่างสมาชิกอาเซียนและจีน หลังจากประชุมผ่านระบบออนไลน์มาตลอด 3 ปี ในช่วงสถานการณ์โควิด-19

อาเซียน-จีนเดินหน้า อัพเกรด เอฟทีเอ ACFTA รับการค้าโลกเปลี่ยน

โดยการประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วยการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้าเพื่อกำกับดูแลภาพรวมการเจรจา และการประชุมของคณะทำงานย่อย 5 คณะ ได้แก่ การค้าสินค้า การลงทุน เศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจดิจิทัล และการแข่งขันและการคุ้มครองผู้บริโภค

สำหรับประโยชน์จากการเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ประกอบด้วย

1.เนื่องจากการเจรจามีการเปิดเสรีสินค้าเพิ่มเติม จีนจึงมีโอกาสที่จะเปิดตลาดลดและยกเลิกภาษีให้ไทยเพิ่มขึ้น (จากเดิมที่จีนเปิดให้ไทยร้อยละ 94 ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด)

2. จะมีการเปิดเสรีด้านการลงทุนระหว่างกัน (ปัจจุบันยังไม่มีใน ACFTA)

3. ในด้านข้อบท จะมีการปรับปรุงข้อบทให้รวมทุกเรื่องไว้ในเป็นฉบับเดียว เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานต่อภาครัฐและภาคเอกชน (ปัจจุบัน แต่ละเรื่องจะจัดทำแยกไปตามความตกลงหรือพิธีสาร)

4. จะมีการปรับปรุงเนื้อหาที่มีความทันสมัย และตอบสนองต่อการค้าในยุคปัจจุบันมากยิ่งขึ้น อาทิ การอำนวยความสะดวกทางการค้า และมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTM)

5. มีการกำหนดสาขาความร่วมมือใหม่ๆ ระหว่างอาเซียนกับจีนที่ตอบสนองต่อสถานการณ์การค้าของโลกในอนาคต อาทิ เศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจดิจิทัล การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน MSME การแข่งขันและการคุ้มครองผู้บริโภคการค้า และการลงทุนระหว่างอาเซียนกับจีนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า   ประเด็นหลักๆอาเซียนและจีนได้หารือประเด็นสำคัญ คือ แนวทางการเปิดตลาดเสรีด้านการค้าสินค้าและการลงทุนเพิ่มเติม ซึ่งถือเป็นการต่อยอดการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง ACFTA ให้กับผู้ประกอบการไทย นอกจากนี้ ยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นสาขาความร่วมมือใหม่เพิ่มเติม อาทิ การเสริมสร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อยกระดับการค้าให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการขยายเศรษฐกิจการค้าในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล

โดยจีนพร้อมสนับสนุนอาเซียนในการจัดกิจกรรมสร้างความรู้ความเข้าใจ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาข้อเสนอระหว่างกันต่อไป ซึ่งประเด็นการเจรจาดังกล่าวจะช่วยขยายมูลค่าการค้า รวมทั้งเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ

ทั้งนี้การอัพเกรดความตกลง ACFTA อาเซียนและจีนตั้งเป้าเจรจาและหาข้อสรุปให้แล้วเสร็จภายในปี 2567

จีนถือเป็นตลาดใหญ่ที่มีความสำคัญ  ซึ่งจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียนมาตั้งแต่ปี 2552  โดยในปี 2565 การค้าระหว่างอาเซียนกับจีนมีมูลค่า 715,156.01 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 6.70% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยอาเซียนส่งออกไปจีนมูลค่า 288,920.05 ล้านดอลลาร์ และอาเซียนนำเข้าจากจีนมูลค่า 426,235.96 ล้านดอลลาร์

สำหรับการค้าระหว่างไทยกับจีน มีมูลค่า 105,404.29 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.53% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปจีนมูลค่า 34,389.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากจีนมูลค่า 71,014.37 ล้านดอลลาร์ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ ผลไม้สด ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ยางพารา ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และทองแดง

ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญจากจีน ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และแผงวงจรไฟฟ้า