'การท่าเรือ' คาดปี 66 กำไรโต 18% สวนทางเศรษฐกิจโลกถดถอย

'การท่าเรือ' คาดปี 66 กำไรโต 18% สวนทางเศรษฐกิจโลกถดถอย

การท่าเรือฯ คาดรายได้ปีนี้โต 18% ทำกำไรเพิ่มถึง 6.6 พันล้านบาท สวนกระแสตู้ขนส่งสินค้าทั่วโลกทรงตัว ชี้เพราะสัญญาณขนส่งสินค้ารถยนต์ผ่านท่าเรือปีนี้พุ่งเป็นประวัติศาสตร์ถึง 1.2 ล้านคัน ทั้งยังเดินหน้าหารายได้จากการรับเรือท่องเที่ยว

นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า ในช่วงโควิดที่ผ่านมา แม้ว่าหลายประเทศจะปิดประเทศงดการเดินทาง แต่ผลประกอบการของ กทท. ยังอยู่ในระดับดี และปีที่ผ่านมายังมีผลการดำเนินงานดีที่สุด โดยการขนส่งสินค้าท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ ซึ่งเกิดจากภาคอุปโภคและบริโภคที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

สำหรับในปี 2566 ต้องยอมรับว่าบริษัทสายเดินเรือต่างๆ ประเมินว่ายอดขนส่งตู้สินค้าจะลดลง 10-20% เนื่องจากราคาแข่งขันสูง ปัญหาเศรษฐกิจในหลายประเทศจากผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน และจีน-ไต้หวัน แต่ กทท.ยังคงมองเห็นโอกาสของการผลักดันรายได้จากการฟื้นตัวของธุรกิจในกลุ่มขนส่งสินค้าประเภทรถยนต์ที่ยังมีแนวโน้มขยายตัว คาดว่าปีนี้จะมีจำนวนประมาณ 1.2 ล้านคัน สูงสุดในประวัติศาสตร์ ปกติจะอยู่ที่ประมาณ 7 แสนคัน

นอกจากนี้ผลจากนโยบายเปิดประเทศที่ทำให้ภาคการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้ในปี 2566 กทท.จะเน้นเพิ่มรายได้จากการหาฐานลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมทั้งรองรับเรือโดยสารเพื่อการท่องเที่ยวประเภทเรือสำราญ เรือครูซต่างๆ และยังมีเป้าหมายหารายได้จาการพัฒนาทรัพย์สินภายในท่าเรือเพื่อรองรับผู้ประกอบการที่เข้ามาใช้บริการภายในท่าเรือด้วย

ทั้งนี้ จากแผนดำเนินงานที่จะมุ่งหารายได้ในกลุ่มลูกค้าที่ยังคงการขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก กทท.จึงคาดการณ์ว่าในปี 2566 จะมีรายได้เติบโตอยู่ที่ 18% หรือราว 1.89 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีรายได้ประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท ส่วนแนวโน้มกำไรในปีนี้ คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 5% หรือมีกำไรเติบโตถึง 6.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่มีกำไรอยู่ที่ 6.3 พันล้านบาท นับเป็นปีของการสร้างกำไรสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ของ กทท.

เดินหน้าแผนท่าเรือสีเขียว

นายเกรียงไกร กล่าวด้วยว่า กทท.จะรักษาระดับกำไรและรายได้ให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องยอมรับว่ากำไรสูงสุดไม่ใช่เป้าหมายของหน่วยงานรัฐ เพราะสิ่งที่ต้องการ คือ การสร้างกำไรด้านเศรษฐศาสตร์ การทำงานร่วมกับชุมชน เมื่อท่าเรือเติบโต ชุมชนต้องเติบโตร่วมกัน ส่งผลให้เป้าหมายดำเนินงานของ กทท.หลังจากนี้ยังคงเน้นย้ำการพัฒนาท่าเรือสีเขียว ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และยกระดับการขนส่งสินค้าทางเรือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“วันนี้ถ้าเราไม่ลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม ถ้าไม่ส่งเสริมด้านนี้ สายเรือก็อาจจะโดนเพิ่มต้นทุนสินค้า หรือผลกระทบสูงสุดคือถูกกีดกันทางการค้า ดังนั้นวันนี้เราต้องตื่นตัวต่อการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และยกระดับท่าเรือสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด”

\'การท่าเรือ\' คาดปี 66 กำไรโต 18% สวนทางเศรษฐกิจโลกถดถอย

นายเกรียงไกร ยังกล่าวด้วยว่า ปัจจุบัน กทท.ยังอยู่ระหว่างพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบัง หนึ่งในโครงการพัฒนาเขตพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเป็นท่าเรือหลักในการขนส่งสินค้าของไทยให้เป็นประตูการค้าของภูมิภาค โดย กทท.จะนำโมเดลการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังของอีอีซี ไปต่อยอดสู่การพัฒนาท่าเรือระนองในเขตพัฒนาพิเศษภาคใต้ (SEC) ซึ่งมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางท่าเรือของแลนด์บริดจ์ และใช้เป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อการเติบโตกับท่าเรือจากทุกภูมิภาค โดยเฉพาะท่าเรือแหลมฉบัง

ส่วนความคืบหน้าของโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ ปัจจุบันได้เสนอผลการศึกษาให้กระทรวงคมนาคมแล้ว และคาดว่าจะมีการพิจารณาเห็นชอบในรัฐบาลหน้า โดยผลการศึกษาเบื้องต้นระบุว่า สายการเดินเรือเส้นทางในประเทศ มีความเป็นไปได้อย่างมาก และมีนักลงทุนสนใจร่วมลงทุน เพราะการจัดตั้งสายการเดินเรือเส้นทางในประเทศนั้นจะสนับสนุนการขนส่งสินค้าทั้งในประเทศ และการเชื่อมโยงท่าเรือชายฝั่งให้มีศักยภาพ

เน้นบริหารจัดการลดต้นทุน 

อีกทั้งยังลดต้นทุนการขนส่งให้กับธุรกิจภายในประเทศ ช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัด และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในประเทศ โดยเบื้องต้นเส้นทางภายในประเทศที่ผลการศึกษาระบุว่า เหมาะสม อาทิ เส้นทางท่าเรือมาบตาพุด (ระยอง)-ท่าเรือแหลมฉบัง (ชลบุรี), เส้นทางท่าเรือไฟร์ซัน (สมุทรสงคราม)-ท่าเรือแหลมฉบัง (ชลบุรี) และเส้นทางท่าเรือแหลมฉบัง (ชลบุรี)-ท่าเรือสุราษฎร์ธานี

ขณะที่การจัดตั้งสายการเดินเรือระหว่างประเทศนั้น ขณะนี้ผลการศึกษาพบว่าอาจไม่คุ้มค่า เนื่องจากสถานการณ์ค่าระวางตู้สินค้ามีสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป โดยปัจจุบันมีราคาต้นทุนที่ถูกลง ทำให้เส้นทางเดินเรือระหว่างประเทศนั้นไม่จูงใจนักลงทุนร่วมลงทุน อย่างไรก็ดี กทท.ได้ทำการศึกษาผลดีผลเสียแล้วเสร็จ ส่วนที่เหลือนั้นคงจะเป็นนโยบายของรัฐบาลหน้าที่จะเข้ามาพิจารณาความเหมาะสม

อย่างไรก็ดี การจัดตั้งบริษัทสายการเดินเรือแห่งชาติ จากการพิจารณาตาม พ.ร.บ.การท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 พบว่า กทท.ไม่สามารถจัดตั้งบริษัทลูกสายการเดินเรือแห่งชาติได้ เนื่องจากการเดินเรือเป็นกิจการอื่นที่ไม่เกี่ยวกับ หรือต่อเนื่องกับการประกอบกิจการท่าเรือ โดยขณะนี้ กกท. อยู่ระหว่างแก้ไข พ.ร.บ.การท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 หากแก้ไขแล้วเสร็จจะทำให้ กทท. สามารถตั้งบริษัทลูก หรือถือหุ้นในบริษัทฯ ได้ แต่ในช่วงแรกของการจัดตั้งบริษัทฯ อาจต้องให้กระทรวงการคลัง หรือหน่วยงานรัฐเข้าถือหุ้นไปก่อน