นโยบายเร่งด่วน? การปฏิรูปด้านการบูรณาการของภาครัฐ

ในช่วงใกล้เลือกตั้งนี้ เรามีโอกาสได้รับฟังนโยบายของพรรคการเมืองต่าง ๆ ผ่านช่องทางมากมาย ได้ยินคำว่า นโยบายเร่งด่วนบ้าง วาระแห่งชาติบ้าง เป็นคำปลุกเร้าให้ประชาชนอย่างเรา ๆ ได้ตี่นเต้น ผู้เขียนเองได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรม ‘Hack Thailand 2575’

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทางไทยพีบีเอสร่วมกับภาคีเครือข่ายกว่า 25 องค์กรจัดขึ้นเพื่อเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ ได้มีโอกาสออกแบบและเสนอแนะนโยบายต่อตัวแทนพรรคการเมือง ใน 12 ประเด็น ครอบคลุมด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการบริหารงานภาครัฐ ข้อเสนอแนะที่มีการนำเสนอกันในเวทีนี้มีความน่าสนใจมาก และมีข้อมูลและความเข้าใจในเชิงลึกของแต่ประเด็นเป็นอย่างดี 

ตัวแทนพรรคการเมืองที่มาเข้าร่วมได้แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจและเข้าใจในประเด็นปัญหาเหล่านี้ นับเป็นสิ่งที่สะท้อนการพัฒนาเชิงความคิดของการเมืองไทยได้ส่วนหนึ่ง

ในระหว่างการนำเสนอนั้น Commentator ให้ความเห็นว่า ควรต้องมีการทำ FIN Check ของข้อเสนอแนะนโยบายต่างๆ กล่าวคือ ควรตรวจเช็ค F = Feasibility I = Impact N = New ในระหว่างที่รับฟังการเสนอแนะนโยบายและการตอบสนองของตัวแทนพรรคการเมืองนั้น ผู้เขียนได้นั่งคิดถึง FIN และได้ข้อสรุปบางอย่าง ที่ชวนคิดชวนสงสัย

Feasibility ของนโยบายภาครัฐ ไม่เหมือนกับการทำ feasibility study ของภาคธุรกิจ แน่นอนว่าเราต้องดูความมั่นคงทางการคลังของประเทศและการใช้จ่ายที่คุมค่าและเกิดประสิทธิผลกับเศรษฐกิจ ซึ่งหมายถึงความอยู่ดีกินดีของประชาชน แต่สิ่งหนึ่งที่อาจจะดูยากสักนิด คือ ‘ความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ’ ที่เป็นหัวใจของคำว่า ‘ประสิทธิภาพ’ อุปสรรคสำคัญประการหนึ่งอยู่ที่คำยอดฮิตที่ใช้กันทุกที่ทุกเวลาในวงการภาครัฐ นั่นคือ ‘บูรณาการ’ ซึ่งสำหรับประเทศเรา ดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งที่มีอยู่ในโลกเสมือนจริงเท่านั้น

โดยปกติแล้ว การดำเนินนโยบายใดนโยบายหนึ่งไม่สามารถจะทำได้โดยหน่วยงานภาครัฐเพียงหน่วยงานเดียว กฎระเบียบต่างๆ ของภาครัฐ มักจะเกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันกัน นโยบายที่ดีจะถูกนำไปสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมได้ก็ต่อเมื่อหน่วยงานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการบูรณการทำงานร่วมกันอย่างแท้จริง ผู้เขียนฝันอยากเห็นการนำภาพอำนาจหน้าที่ ภาระงานและความรับผิดชอบ ตลอดจนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของนโยบายหนึ่ง ๆ ออกมาคลี่และเชื่อมโยงกันดู เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะเห็นภาพความซ้ำซ้อน รูรั่ว และความเป็นไซโลของการปฏิบัติอย่างมหาศาล           

ตัวอย่างจากประสบการณ์ที่ผ่านมามักจะเห็นว่าเมื่อเกิดปัญหาต่อการขับเคลื่อนนโยบายก็จะมีการตั้งหน่วยงานใหม่เพิ่มขึ้นมา เรื่อง ‘น้ำ’ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายสิบหน่วยงาน แต่ก็ยังไม่สามารถปัดเป่าปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมได้ เป็นต้น จึงอดคิดไม่ได้ ว่านโยบายเร่งด่วนที่ควรเป็นวาระแห่งชาติ คือ ‘การปฏิรูปด้านการบูรณาการของภาครัฐ’ หรือไม่

ในส่วนของ Impact นั้น ดูเหมือนว่าทั้งพรรคการเมืองและประชาชน จะแปลความว่า นโยบายนั้นเกิดประโยชน์อย่างไรกับใคร แต่อาจจะไม่ค่อยมองว่านโยบายหนึ่ง ๆ จะส่งผลกระทบต่อนโยบายอื่น ๆ เสมอ เช่น การใช้งบประมาณไปกับเรื่องหนึ่งมาก ย่อมทำให้เม็ดเงินที่จะใช้ทำเรื่องอื่นลดลง หรือความไม่เอาใจใส่ต่อการตรวจสอบคำของบประมาณทำให้เงินงบประมาณหายสูญไปอย่างไม่เกิดประสิทธิผลและส่งผลกระทบต่อแผนงานอื่นที่เกี่ยวข้องกัน

ตัวอย่างปัญหาค่าไฟแพงที่เป็นประเด็นกันอยู่เวลานี้ เป็นผลที่เกิดจากนโยบายใดบ้างในช่วงที่ผ่านมาและที่กำลังจะดำเนินต่อไป ไม่ว่าจะเป็นด้านพลังงาน ด้านอุตสาหกรรม หรือแม้แต่นโยบายด้านการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ เป็นมูลเหตุที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องจนมาถึงค่าไฟของเราในที่สุด การดู impact จะดูเป็นจุด ๆ ไม่ได้ เมื่อปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งคือการบูรณาการ คำถามคือมีใครไหมที่จะเห็นภาพความเชื่อมโยง สามารถวัด Impact ของนโยบายการบริหารประเทศในภาพรวม

New แปลว่าใหม่ เราเห็นความพยายามที่จะทำนโยบายที่ใหม่และแตกต่าง แต่คำถามคือ ความใหม่นั้นดีและใช่เสมอไปหรือไม่ ปัญหาส่วนใหญ่ของประเทศไทย อาจได้รับการแก้ไขด้วยการปรับปรุงนโยบายเดิมเพิ่มเติมการปฏิบัติที่จริงจัง

แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นด้วยว่าต้องใหม่ คือ ‘ทัศนคติ และ Mindset’ การติดกับดักอยู่กับการคิดแบบเดิม ความเชื่อแบบเดิม ๆ ทำให้ปฏิบัติแบบเดิม เป็นปัญหาในทุกวงการไม่เพียงแต่กลไกภาครัฐเท่านั้น มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเคยอุปมาอุปมัยเรื่องมะเร็งและปรสิต ปรสิตนั้นเป็นเหมือนกาฝากอาศัยเกาะกิน เจ้าของแข็งแรงมันก็อยู่ได้ไปเรื่อยๆ

ส่วนมะเร็งมาเชิงรุกเอาเป็นเอาตายมุ่งทำลายเจ้าของร่างโดยไม่คิดว่าถ้าเจ้าของร่างตายมันก็ตายด้วย เรื่องที่ทั้งการเมืองและฝ่ายข้าราชการเริ่มทำตัวเคยชินกับสิ่งที่เป็นเป็นเหมือนมะเร็งของประเทศ และควรเป็นนโยบายเร่งด่วนของทุกพรรค คือการแก้ไขปัญหา ‘ทุจริตคอร์รัปชั่น’ นโยบายในเรื่องนี้ที่ผ่านมามักเป็นการสร้างกฎระเบียบจนแน่น สร้างบทลงโทษต่างๆ ขึ้นมา แต่เหมือนไม่มีความเปลี่ยนแปลงอะไรเลย เป็นเพราะไม่มีการปรับเปลี่ยน mindset พื้นฐานของผู้คนในระบบ ทั้งในภาคการเมือง ข้าราชการ และผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ

อีกมุมหนึ่งของ New ที่พึงต้องระวัง ไม่ให้กลายเป็นปัญหาที่ทับถมไปในอนาคต คือการสร้างนโยบายใหม่ กฎหมายใหม่ และองค์กรใหม่ โดยไม่จัดการกับของที่มีอยู่เดิม ทำให้เกิดปัญหาวนเป็นวงจร กลับไปที่ปัญหาของ “บูรณาการ” ที่กล่าวถึงในตอนต้น