เปิดศึกประมูลโรงไฟฟ้ารอบใหม่ เอกชนแห่ชิงพลังงานหมุนเวียนอีก 3,668 เมก

เปิดศึกประมูลโรงไฟฟ้ารอบใหม่ เอกชนแห่ชิงพลังงานหมุนเวียนอีก 3,668 เมก

กกพ.เร่งเครื่องประมูลรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรอบใหม่ เพิ่มอีก 3,668 เมกะวัตต์ หลังประมูลรอบแรกไปแล้ว 5 พันเมก ไม่พอความต้องการของผู้ผลิตไฟฟ้าทั้งรายใหญ่รายเล็กที่ยื่นขายไฟฟ้าถึง 1.7 หมื่นเมกะวัตต์

Key Points

  • สำนักงาน กกพ.เตรียมเปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนครั้งที่ 2 จำนวน 3,668 เมกะวัตต์
  • ภาครัฐกำหนดรอบเวลาการประมูลครั้งที่ 2 จะเร่งดำเนินการคัดเลือกให้เสร็จภายในปี 2566
  • การประมูลครั้งที่ 1 มีผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่และรายเล็กแห่ยื่นขายไฟฟ้าให้รัฐถึง 17,000 เมกะวัตต์ แต่รัฐรับซื้อเพียง 5,203 เมกะวัตต์
  • ปัจจุบันไทยมีกำลังไฟฟ้าสำรอง 53,340 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติมากที่สุดสัดส่วน 49% ปีนี้คาดว่าพีคของการใช้ไฟฟ้าจะอยู่ที่ 34,000 เมกะวัตต์

    การเปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้าโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ที่รับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรวมปริมาณรับซื้อประมาณ 5,203 เมกะวัตต์ ได้รับความสนใจจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่และรายเล็กยื่นเสนอขายไฟฟ้าถึง 17,000 เมกะวัตต์

    ทั้งนี้แม้จะมีการประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูลออกมาแล้ว แต่ยังมีประเด็นการฟ้องร้องในศาลปกครองกลางเพื่อขอให้ยุติการประมูล พร้อมกับมีการคัดค้านรูแบบการประมูลจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และท้ายที่สุดสำนักงาน กกพ.เดินหน้าประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูลแล้ว

    ความสนใจของผู้ผลิตไฟฟ้าที่ยื่นเข้ามาเยอะทำให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ประกาศเปิดประมูลรอบที่ 2 เพิ่มขึ้นอีก 3,668 เมกะวัตต์

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน กกพ.จะพิจารณาดำเนินการตามมติ กพช.ทันที ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2566

การประมูลรอบใหม่ครั้งนี้ สำนักงาน กกพ.จะเพิ่มจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม),พลังงานลม, ไบโอแก๊ส,ขยะอุตสาหกรรม

ประกอบกับ กกพ.รวบรวมโรงไฟฟ้าที่ไม่สามารถผลิตได้ตามแผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 เช่น ไฟฟ้าจาก สปป. ลาว ที่ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าเข้าระบบได้ทันในปี 2571 และรวบรวมทั้งในส่วนที่ผลิตเข้าระบบไม่ทันตามแผน PDP และที่ กพช.เห็นชอบให้รับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นดังกล่าว

ทั้งนี้ เพื่อนำมาเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นรวม 3,668 เมกะวัตต์ จากรอบแรกที่เพิ่งเปิดรับซื้ออยู่ 5,203 เมกะวัตต์ในการประมูลครั้งที่ 1

นอกจากนี้ กกพ.จะนำข้อเสนอการประมูลครั้งที่ 1 ในส่วนก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) ที่ไม่มีผู้คัดเลือกในรอบ 1 จะมีการนำมาเปิดรับซื้อในรอบ 2 เช่นกัน

สำหรับ มติ กพช.เห็นชอบให้การเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น 3,668 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น

1.โซลาร์ฟาร์ม 2,632 เมกะวัตต์ จากรอบแรกที่รับซื้อ 2,368 เมกะวัตต์

2.พลังงานลม 1,000 เมกะวัตต์ จากรอบแรกรับซื้อ 1,500 เมกะวัตต์

3.ก๊าซชีวภาพ 6.5 เมกะวัตต์ รอบแรกไม่มีผู้ผ่านคุณสมบัติ

4.ขยะอุตสาหกรรม 100 เมกะวัตต์ จากรอบแรกเปิดรับ 200 เมกะวัตต์ แต่มียอดรับซื้อที่ 100 เมกะวัตต์ จึงจะเพิ่มอีก 30 เมกะวัตต์ รวมเป็น 130 เมกะวัตต์

รวมทั้งในการเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพิ่มครั้งนี้ จะเป็นการเปิดต่อเนื่องหลังจากเสร็จสิ้นการเปิดรับซื้อรอบแรกที่ 5,203 เมกะวัตต์ โดยใช้ระเบียบเดียวกันของ กกพ.ในการรับซื้อไฟฟ้า (ในรูปแบบสัญญา Non-Firm โดยมีอายุสัญญาการรับซื้อไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 20-25 ปี)

สำหรับการประมูลรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ครั้งที่ 1 คณะกรรมการกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 5 เม.ย.2566 เห็นชอบรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกตามระเบียบ กกพ.สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ.2565 มีผู้ผ่านการพิจารณาคัดเลือก จำนวน 175 ราย ปริมาณเสนอขาย 4,852.26 เมกะวัตต์ จากผู้ที่ผ่านการพิจารณาทั้งสิ้นรวม 670 โครงการ กว่า 1.7 หมื่นเมกะวัตต์

ทั้งนี้ จะมีหนังสือแจ้งให้ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกทราบและยอมรับเงื่อนไขการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ภายในวันที่ 19 เม.ย. 2566 

รายงานข่าวจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังไฟฟ้าสำรอง 53,340 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติมากที่สุดสัดส่วน 49% โดยปริมาณไฟฟ้าส่วนใหญ่ของประเทศไทยมาจากโรงไฟฟ้าของเอกชนเป็นส่วนใหญ่ แบ่งได้ดังนี้

  • การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สัดส่วน 32%
  • โรงไฟฟ้าของผู้ผลิตรายใหญ่ (IPP) สัดส่วน 31%
  • โรงไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก (VSPP) สัดส่วน 25%
  • การนำเข้าไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน 12%