อนุฯ Ft 'ลดค่าไฟ' 4.70 บาท ชงกกพ. เคาะ  24 เม.ย.นี้ เอกชน ชี้ ลดได้ถึง 4.37 บาท

อนุฯ Ft 'ลดค่าไฟ' 4.70 บาท ชงกกพ. เคาะ  24 เม.ย.นี้ เอกชน ชี้ ลดได้ถึง 4.37 บาท

อนุกรรมการค่า Ft เคาะ "ลดค่าไฟ" เหลือ 4.70 บาท/หน่วย ยืนตามข้อเสนอกฟผ. ยืดหนี้จาก 2 ปีเป็น 2 ปี 4 เดือนเร่งชงบอร์ด กกพ. เคาะ  24 เม.ย.นี้  เอกชน แนะ ควรเอาราคาจริง LNG มาคำนวนจะช่วยลดทันที 4.37 บาท

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (ค่าFt) วันที่ 21 เม.ย. 2566 พิจารณาเห็นชอบตามปรับลดค่าเอฟทีงวดใหม่ สำหรับเดือนพ.ค.-ส.ค.2566 ตามที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เสนอขอรับภาระยืดหนี้การชำระค่าไฟฟ้าที่รับภาระแทนประชาชนไปก่อนจาก 2 ปี เป็น 2 ปี 4 เดือน ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยสำหรับเดือนพ.ค.-ส.ค.2566 ลดลงจาก 4.77 บาท/หน่วย เป็น 4.70 บาท/หน่วย โดยหลังจากนี้จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในวันที่ 24 เมษายน 2566 เพื่อมีมติเปิดรับฟังความเห็น 5-7 วัน และเสนอบอร์ดกกพ.พิจารณาเคาะราคาเพื่อประกาศใช้ต่อไป

"ตามขั้นตอนการพิจารณาของกกพ. ทันบิลค่าไฟรอบเดือนพฤษภาคมแน่นอน เพราะบิลค่าไฟจะเริ่มออกตั้งแต่ 10 พ.ค.เป็นต้นไป"

โดยก่อนหน้านี้ กฟผ. มีหนังสือยืนยันจะยืดหนี้นั้นระบุว่า สำหรับงวดที่ 2/2566 (พ.ค.-ส.ค.) สามารถจัดการด้านสภาพคล่องได้ แต่สำหรับงวด 3/2566 (ก.ย.-ธ.ค.) อาจจะเกิดปัญหาสภาพคล่องไม่สามารถที่จะยืดหนี้ได้อีก ระบบหรือประชาชนก็จะต้องคืนหนี้แก่ กฟผ. โดยหนี้วงเงินเต็มนั้น อยู่ที่ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท และมีการคืนหนี้ในงวดที่ 1 /66 (ม.ค.-เม.ย.) ไปแล้ว วงเงินประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า  การพิจารณาลดค่าFTลงมาจาก เหลือ 4.70 บาทต่อหน่วย จาก 4.77 บาทต่อหน่วย ถือว่าไม่มาก และไม่ใช่ราคาที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) คำนวณต่ำกว่า 4.40 บาทต่อหน่วย ถือเป็นการลดกระแสได้ระดับหนึ่ง ประกาศ กกพ. เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2566 ที่มีมติเก็บค่าไฟฟ้าเอกชนเหลือ 4.77 บาทต่อหน่วยจากกว่า 5 บาทต่อหน่วย แต่กลับไปเพิ่มในกลุ่มครัวเรือนจาก 4.72 บาทต่อหน่วยเท่ากัน จึงไม่เห็นด้วยตั้งแต่ต้น ที่จะทำให้ประชาชนเดือดร้อนในช่วงที่พลังงานโลกต่ำลง 

ดังนั้น การลดราคาลงครั้งนี้เป็นการยืดหนี้ของ กฟผ. เพื่อให้ครัวเรือนไม่แพงกว่าเดิม แต่สิ่งที่ตนเข้าใจว่าหลายคนอยากรู้ว่าทำได้ดีกว่านี้ได้หรือไม่ เพราะไม่มีการพิจารณาในเรื่องของโครงสร้าง แม้จะใช้เวลาในการแก้ปัญหา แต่สิ่งที่เป็นปัญหาเชิงพื้นฐานที่ กกร. เสนอมาตรการให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2566 ที่ผ่านมา เพื่อแก้ไขเฉพาะค่าไฟงวดที่ 2 มีเพียง 2 มาตรการ คือ

1. ยืดหนี้ค่าไฟฟ้าให้กับกฟผ. ซึ่งคณะอนุฯ ได้ดำเนินการแล้ง และ

2. ควรพิจารณาปรับวิธีประมาณการราคาตันทุนเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติและราคา LNG ที่ใช้คำนวณต้นทุน ค่าไฟฟ้า โดยใช้ราคาที่สะท้อนแผนการนำเข้า LNG ในช่วง เดือนพ.ค.-ส.ค. 2566 แทนการใช้ข้อมูลราคาของเดือนม.ค. 2566 ซึ่งมีราคาที่สูงกว่าเพื่อบรรเทาผลกระทบราคาไฟฟ้าของทุกภาคส่วนลงได้ ซึ่งการนำเข้า LNG เป็นตัวสำคัญในการนำมาเป็นพลังงานผลิตไฟฟ้าให้กับประเทศได้มีราคาลดลงมามากตลอดจากเดิมเคยขึ้นไประดับ 50 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ในช่วงส.ค. 2565 แต่ปัจจุบันเหลือไม่ถึง 13 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู 

"ตัวเลขที่เราทำโดยไม่ต้องใช้งบประมาณมาสนับสนุนเมื่อคำนวณราคา LNG นำเข้าขณะนี้จะทำให้ค่าไฟเหลือไม่ถึง 4.40 บาททันที หากในช่วงเวลาปกติก่อนเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคา LNG นำเข้าอยู่ที่ 9 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู เมื่อมีสงครามขยับขึ้นสูงมากและกลับมาอยู่ที่ไม่ถึง 13 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียูในช่วงนี้ที่ราคาเฉลี่ยที่ 12 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ซึ่งภาครัฐใช้ข้อมูล LNG นำเข้าที่ 20 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู เกิดผลต่าง 7 ดอลลาร์ คิดเป็น 35% ซึ่ง LNG นำเข้ามีสัดส่วนถึง 45% ของ Pool gas โดยสัดส่วนก๊าซธรรมชาติที่ 60% ดังนั้น หากนำราคาค่าไฟ 4.77 บาท ลบส่วนต่างจะเหลือ 4.34 บาททันที"