สกพอ.แก้สัญญาไฮสปีด 2 สเต็ป เปิดช่อง 'ซีพี' ปรับแผนลงทุนได้

สกพอ.แก้สัญญาไฮสปีด 2 สเต็ป เปิดช่อง 'ซีพี' ปรับแผนลงทุนได้

สกพอ.แบ่งแก้สัญญาไฮสปีดเทรน 2 สเต็ป เตรียมเสนอ ครม.ปัจจุบัน เปิดช่องให้ซีพีเจรจากรณีมีเหตุสุดวิสัยกระทบโครงการ ปรับแผนการลงทุนได้ ส่วนประเด็นสร้างไปจ่ายค่าก่อสร้างไป รอเสนอรัฐบาลหน้าตัดสิน ยืนยัน ร.ฟ.ท.พร้อมส่งมอบพื้นที่ รอเอกชนยื่นขอบีโอไอ

Key Points

  • CP และ ร.ฟ.ท.ลงนามสัญญาร่วมลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ตั้งแต่ ต.ค.2562
  • การแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนที่ยังไม่เสร็จทำให้ยังไม่มีการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้กับ CP
  • สกพอ.จะเสนอ ครม.แก้ไขสัญญา 2 สเต็ป ขั้นแรกจะเสนอแก้ไขให้เสร็จภายในชุด ครม.นี้
  • จะแก้สัญญาให้ CP สามารถเจรจาปรับรูปแบบการลงทุนได้ถ้ามีปัจจัยที่กระทบโครงการ

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) เป็นโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โครงการแรกที่ลงนามร่วมลงทุนเมื่อวันที่ 24 ต.ค.2562 แต่ผ่านมาเกือบ 3 ปี ครึ่ง ยังไม่สามารถเริ่มก่อสร้างได้ โดยบริษัท เอเชีย เอราวัณ จำกัด เอกชนคู่สัญญาที่มีเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้ขอมาตรการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการเยียวยาเมื่อวันที่ 19 ต.ค.2564 ซึ่งรวมถึงการแก้สัญญาร่วมลงทุนด้วย

หลังจากนั้นบริษัท เอเชีย เอราวัณ จำกัด ได้มีการเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) มาอย่างต่อเนื่องในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา โดยเบื้องต้นจะแบ่งแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนเป็น 2 ระยะ คือ 

1.ประเด็นการเพิ่มข้อความในเอกสารแนบท้ายสัญญา ที่จะเสนอ ครม.รักษาการพิจารณา

2.ประเด็นการปรับเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าก่อสร้างของภาครัฐ จะเสนอให้ ครม.ชุดใหม่พิจารณา

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า สกพอ.อยู่ระหว่างพิจารณาแก้ไขสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และทำให้การบริหารโครงการร่วมกับเอกชนคล่องตัวมากยิ่งขึ้น

สเต็ปแรกเสนอ ครม.ชุดนี้ได้

ทั้งนี้ จะเสนอ ครม.ปัจจุบันแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน เพิ่มข้อความแนบท้ายสัญญาเปิดกว้างให้มีการเจรจาแก้ไขรายละเอียดของสัญญาในอนาคตได้ หากกรณีที่เกิดเหตุสุดวิสัยที่ไม่ควบคุมไม่ได้ เช่น กรณีที่มีการแพร่ระบาดของโรค หรือมีสงครามเกิดขึ้น และส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการ หากรัฐและเอกชนที่เป็นคู่สัญญาร่วมลงทุนเห็นตรงกันว่าควรปรับแผนดำเนินงาน หรือแก้ไขสัญญาก็สามารถเจรจาได้

อย่างไรก็ดี การแก้ไขสัญญาเพิ่มรายละเอียดแนบท้ายส่วนนี้ เกิดจากกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เปรียบเทียบที่มีภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563-2564 ซึ่งส่งผลกระทบต่อแผนก่อสร้างและรายได้จากการบริหารรถไฟแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ไม่เป็นไปตามที่เคยมีการศึกษาไว้ แต่ปัจจุบันสัญญาร่วมลงทุนโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบินนั้น ไม่ได้มีการเปิดกว้างให้เจรจาแก้ไข หรือปรับแผนดำเนินงาน จึงทำให้การทำงานไม่คล่องตัว จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมเงื่อนไขส่วนนี้ลงไป

“ไฮสปีดเทรนเป็นโครงการร่วมลงทุนเดียวที่ไม่ได้ระบุเงื่อนไขเปิดกว้างให้มีการเจรจาแก้ไขรายละเอียดกันในอนาคต หากมีผลกระทบจากเหตุสุดวิสัย เพราะไฮสปีดเทรนเป็นโครงการที่ลงนามก่อนจะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่โครงการอื่นที่ร่วมทุนในอีอีซี มีเงื่อนไขเปิดกว้างการเจรจาเอาไว้ เช่น โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ทำให้เอกชนปรับแผนพัฒนาสนามบิน แผนลงทุนได้ โดยการแก้ไขรายละเอียดเหล่านี้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต้องเห็นตรงกัน และเป็นประโยชน์ต่อโครงการ”

เตรียมส่งอัยการตรวจสัญญา

นายจุฬา กล่าวว่า การเพิ่มเงื่อนไขแนบท้ายสัญญานั้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน จึงจำเป็นต้องยื่นเสนอขอความเห็นชอบจาก ครม.แต่เนื่องจากไม่ได้แก้ไขรายละเอียดที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมการลงทุน หรือส่งผลเสียต่อประโยชน์ภาครัฐ สกพอ.จึงมั่นใจว่าจะสรุปรายละเอียดถ้อยคำของการเพิ่มเงื่อนไขดังกล่าวแล้วเสร็จ ส่งไปให้สำนักอัยการสูงสุดพิจารณาตรวจทาน และสามารถเสนอ ครม.ได้ทันภายในรัฐบาลนี้

สำหรับประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการเพิ่มเงื่อนไขแนบท้ายสัญญานั้น นอกจากจะทำให้เกิดความคล่องตัวจากการปรับแผนดำเนินงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว ยังจะคล่องตัวในประเด็นที่ไม่จำเป็นต้องเสนอขออนุมัติจาก ครม.อีก เพราะหากรัฐและเอกชนซึ่งเป็นคู่สัญญามีความเห็นตรงกันในการแก้ไขรายละเอียดส่วนใด ก็สามารถเปิดการเจรจาให้ได้ข้อสรุปร่วมกันได้ โดยการดำเนินงานในลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และเป็นเงื่อนไขที่ระบุอยู่ในทุกโครงการร่วมลงทุน เพื่อทำให้การร่วมลงทุนมีประสิทธิภาพมากขึ้น

รัฐบาลใหม่แก้สัญญาจ่ายเงิน

ส่วนประเด็นที่เอกชนขอปรับเงื่อนไขให้รัฐชำระค่าร่วมลงทุนวงเงิน 118,611 ล้านบาท โดยเสนอให้ปรับเป็นแบบสร้างไป-จ่ายไป ซึ่งจะทำให้เอกชนได้รับเงินส่วนนี้เร็วขึ้น จากเดิมที่รัฐมีกำหนดจะชำระพร้อมดอกเบี้ย 2.375% หลังการก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการ (ในปีที่ 6 ของสัญญา) ขณะนี้ได้รับมติจากที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเมื่อไม่นานมานี้

ทั้งนี้ มีมติสั่งการให้เจรจาระหว่าง ร.ฟ.ท.ร่วมกับบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด อีกครั้งเพื่อหาข้อสรุปให้เกิดความรอบคอบ โดยกำชับว่าควรวางกรอบให้รัดกุมเพราะอาจจะเป็นช่องโหว่ทำให้เอกชนทิ้งงาน หรือส่งมอบงานล่าช้า ซึ่งเรื่องนี้ก็จะมีการเจรจาคู่ขนานกันไปกับการเสนอแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนเรื่องเปิดให้มีการเจรจากรณีเหตุสุดวิสัย แต่คาดว่าอาจไม่ทันเสนอพิจารณาภายในรัฐบาลนี้

ส่งมอบพื้นที่ติดปมยื่นขอบีโอไอ

นายจุฬา กล่าวว่า ประเด็นความพร้อมการส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนเข้าไปดำเนินงานก่อสร้างนั้น รฟท.อยู่ในขั้นตอนเตรียมพื้นที่เพื่อส่งมอบและมีความพร้อม แต่ข้อกำหนดใน พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ประเด็นการส่งมอบพื้นที่นั้น เอกชนคู่สัญญาต้องได้รับสนับสนุนการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) หลังจากนั้นภาครัฐจึงจะออกหนังสือให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) ดังนั้นจะส่งมอบพื้นที่ให้เริ่มงานก่อสร้างได้ทันเป้าหมาย มิ.ย.2566 หรือไม่ ต้องรอความพร้อมจากเอกชนด้วย

รายงานข่าวจาก ร.ฟ.ท.ระบุว่า แผนก่อสร้างงานโยธาในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะแบ่งออกเป็น 4 ช่วง ประกอบด้วย

1.ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเตรียมงานก่อสร้าง คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้หลังจากแก้ไขสัญญาร่วมทุนเรียบร้อย

2.ช่วงสุวรรณภูมิ-พญาไท ซึ่งคือรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ปัจจุบันบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เอกชนผู้ร่วมทุนเป็นผู้สนับสนุนการเดินรถและซ่อมบำรุง

3.ช่วงพญาไท-บางซื่อ ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการเวนคืนที่ดิน รื้อย้ายสาธารณูปโภค คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน มิ.ย.-ก.ค.นี้ และเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2566

4.ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง กำหนดให้เอกชนก่อสร้างโครงสร้างร่วมไปพร้อมกับทางวิ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เพื่อร่นระยะเวลาก่อสร้างลง ซึ่ง ร.ฟ.ท.กำหนดราคากลางแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างเจรจาแก้ไขสัญญากับเอกชน และเตรียมขออนุมัติจาก ครม.

ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.ยอมรับว่าภาพรวมโครงการนี้ปัจจุบันล่าช้ามากกว่า 2 ปี หลังจากลงนามสัญญาตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค.2562 และยังไม่เริ่มงานก่อสร้าง ซึ่งก่อนหน้านี้เคยคาดการณ์ว่าหลังลงนามสัญญาแล้ว จะเร่งรัดส่งมอบพื้นที่เพื่อให้เอกชนใช้เวลาก่อสร้างราว 5 ปี มีเป้าหมายเปิดให้บริการในปี 2569 แต่ขณะนี้ ร.ฟ.ท.คาดการณ์ว่าจะเร่งรัดในช่วงของงานก่อสร้าง ให้โครงการทยอยแล้วเสร็จในปี 2569 พร้อมเริ่มมีการอบรมพนักงาน เริ่มทดสอบระบบ และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2572