'พาณิชย์' ศึกษาโอกาสดึงทุนเทคโนโลยี ผลสหรัฐ-จีนสับรางห่วงโซ่อุปทาน

'พาณิชย์' ศึกษาโอกาสดึงทุนเทคโนโลยี ผลสหรัฐ-จีนสับรางห่วงโซ่อุปทาน

สนค. เดินหน้าศึกษาการแยกห่วงโซ่อุปทานสหรัฐฯ - จีน และผลกระทบต่อไทย ด้านสรท.ระบุ ไทยพร้อมรับมือ ชี้ได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิต

สหรัฐ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย ในขณะที่จีนเป็นคู่ค้าและแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ของไทย อีกทั้งเศรษฐกิจไทยมีการเชื่อมโยงกับตลาดและฐานการผลิตทั้งในและต่างประเทศอย่างใกล้ชิดการขยับตัวของสองมหาอำนาจย่อมสร้างแรงกระเพื่อมทางการค้าและการลงทุนอย่างมาก 

“พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ “ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ สนค. อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการศึกษาการแยกห่วงโซ่อุปทาน (Decoupling) ของอุตสาหกรรมสำคัญระหว่างสหรัฐและจีน และนัยต่อเศรษฐกิจการค้าไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อประเมินแนวโน้มการแยกห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสำคัญที่มีนัยทางเศรษฐกิจและความมั่นคงที่กำลังเกิดขึ้น ว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกและไทยทั้งด้านการผลิต การค้า การลงทุน และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างไร

ทั้งนี้ ในปี 2564 สหรัฐเริ่มมีการทบทวนความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ เซมิคอนดักเตอร์และบรรจุภัณฑ์ขั้นสูง แบตเตอรี่ความจุพลังงานสูง รวมถึงแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า แร่สำคัญ ยา และสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม และในปี 2565 ได้ผ่านกฎหมาย The CHIPS and Science Act เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และกฎหมาย Inflation Reduction Act ที่ส่วนหนึ่งภายใต้กฎหมายนี้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

ขณะที่จีนได้วางยุทธศาสตร์ส่งเสริมภาคการผลิตเป็นพิเศษ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานของตนเอง อาทิ Made in China 2025 แผนพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ยุคใหม่ 2030 (AI 2030) และกำหนด 7 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจของจีน ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2564 - 2568) ซึ่งรวมถึงเซมิคอนดักเตอร์

\'พาณิชย์\' ศึกษาโอกาสดึงทุนเทคโนโลยี ผลสหรัฐ-จีนสับรางห่วงโซ่อุปทาน

นโยบายและมาตรการเหล่านี้จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการแยกตัวของห่วงโซ่อุปทานระหว่างสหรัฐ - จีน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ รวมถึงการที่สหรัฐร่วมกับประเทศพันธมิตรในการกีดกันเทคโนโลยีสำคัญจากจีน โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์ ขณะที่จีนก็เริ่มโต้ตอบกลับโดยการสั่งทบทวนการนำเข้าชิปจาก Micron Technology (ผู้ผลิตชิปหน่วยความจำรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐ) ในปลายเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การแข่งขันและการแบ่งขั้วทางเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐกับจีนที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น อาจเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายต่อเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาหรือกลุ่มประเทศเกิดใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย จากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน ซึ่งหลายประเทศกำลังเร่งออกนโยบายดึงดูดการลงทุน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดีย โดยมีการร่วมมือกันระหว่างพันธมิตรในการส่งเสริมความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานสำหรับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีสำคัญ รวมถึงการกีดกันประเทศอื่น 

“แนวโน้มการแยกห่วงโซ่อุปทานดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่ไทยต้องเร่งศึกษาและปรับตัวเพื่อช่วงชิงประโยชน์และลดผลกระทบจากแนวโน้มการปรับเปลี่ยนที่จะเกิดขึ้น”

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันโครงการศึกษานี้ อยู่ระหว่างการพูดคุยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อคิดเห็น ทั้งผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ นักวิชาการ และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง 

"ข้อมูลเบื้องต้นว่า บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่หลายรายพยายามย้ายฐานการผลิตออกจากจีน รวมถึงต่างชาติมีการโยกย้ายคำสั่งซื้อจากฐานการผลิตในจีนไปยังประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะอาเซียน ตลอดจนการที่บริษัทข้ามชาติพยายามที่จะใช้ฐานการผลิตในอาเซียนทดแทนจีนในการผลิตเพื่อส่งออกไปสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ประโยชน์"

\'พาณิชย์\' ศึกษาโอกาสดึงทุนเทคโนโลยี ผลสหรัฐ-จีนสับรางห่วงโซ่อุปทาน

“ชัยชาญ เจริญสุข “ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การแข่งขันและการแบ่งขั้วทางเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐกับจีน เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้วมาตั้งแต่สงครามการค้าสหรัฐ-จีน ต่อมาก็เป็นความขัดแย้งระหว่างไต้หวันกับจีนในเรื่องของเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งส่งผลกระทบให้ขาดแคลนชิปในอุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 

“ส่วนที่เราได้รับอานิสงส์คือการเป็นแหล่งผลิตทางเลือกที่สามารถสนับสนุนเโซ่อุปทานของสหรัฐและจีน โดยเฉพาะการย้ายฐานการผลิตของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง”

ยกตัวอย่าง เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยางพารา อุตสาหกรรมล้อรถยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่ย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทย ซึ่งเป็นไปตามนโยบาย “China Plus One” แม้ว่าตลาดในประเทศจีนจะเป็นตลาดหลักของภาคการผลิต แต่การมองหาตลาดใหม่เพื่อกระจาย Supply Chain นอกจากเป็นการเพิ่มโอกาสทางการค้าแล้ว ยังเป็นการลดความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ ซึ่งไม่เฉพาะการย้ายฐานการผลิตมาที่ไทย ยังไปที่เวียดนาม อินโดนีเซีย อินเดีย ด้วย

สำหรับประเทศมหาอำนาจทางการค้าทั้ง 2 ประเทศ จีนและสหรัฐมีผลต่อ Value Chain และ Supply Chain ของเศรษฐกิจของโลกรวมถึงผู้ประกอบการไทย ซึ่งผู้ผลิตและผู้ส่งออกต่างรู้ดีถึงสถานการณ์ก็ได้มีการปรับตัวเพื่อรับมือมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลการค้าอย่างต่อเนื่อง การปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุนการผลิตการปรับปรุงกระบวนการผลิตและการใช้แรงงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล 

เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าสถานการณ์แบบนี้ไม่ยุติโดยเร็ว โดยสหรัฐและจีนเป็นคู่ค้าหลักของไทย ที่ผ่านมาไทยได้รับประโยชน์จากปัญหาดังกล่าวทั้งการย้ายฐานการผลิต การซื้อสินค้าทดแทน