งัดกฎหมายสกัดทัวร์อั้งยี่ สตช.ลุย ‘เยาวราช-ห้วยขวาง’ ตามล่าที่ตั้ง สน.จีน

งัดกฎหมายสกัดทัวร์อั้งยี่ สตช.ลุย ‘เยาวราช-ห้วยขวาง’ ตามล่าที่ตั้ง สน.จีน

“ภาครัฐ” เร่งสกัดทัวร์ ป้องกันนอมินี ไกด์เถื่อน อาชญากรรมข้ามชาติ สตช.หารือกระทรวงท่องเที่ยว 19 เม.ย.เข้มกฎหมายอั้งยี่-ฟอกเงิน-มัคคุเทศก์ ปักหมุด“เยาวราช-ห้วยขวาง”ตามล่า สน.จีน ททท.พบขายทัวร์ต่ำกว่าทุน“พาณิชย์” ไล่ตรวจนอมินี “กรมการกงสุล” ชี้ e-Vias คัดกรองต่างชาติ

Key Points

  • ทัวร์อั้งยี่ มีลักษณะอาชญากรข้ามชาติและเข้ามาทำธุรกิจในไทยผิดกฎหมาย
  • ภาครัฐเข้าได้ไปตรวจสอบในพื้นที่เป้าหมาย คือ กรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต และเชียงใหม่
  • สตช.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมาย เช่น ฟอกเงิน นอมินี
  • ผลกระทบของทัวร์อั้งยี่ มากกว่า ทัวร์ศูนย์เหรียญ เพราะรายได้จะไม่ตกถึงคนไทยเลย

ในช่วงที่ผ่านมาธุรกิจท่องเที่ยวของไทยเคยได้รับผลกระทบจากทัวร์ศูนย์เหรียญ ที่มีการปราบปรามอย่างจริงจัง และล่าสุดเกิดทัวร์รูปแบบใหม่ที่ส่งผลกระทบมากขึ้น หรือ ‘ทัวร์อั้งยี่’ เพราะมีการเชื่อมโยงถึงเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ และทำธุรกิจผิดกฎหมายในไทย

กลุ่มทัวร์อั้งยี่ มีการสร้างองค์กรอาชญากรรม มีการแบ่งสรรปันส่วน มีการวางแผน แบ่งงานกันอย่างชัดเจน ครอบคลุมการใช้นอมินีทำธุรกิจในไทย การใช้ไกด์เถื่อน และอาชญากรข้ามชาติที่แฝงตัวเป็นนักท่องเที่ยว

 “ตลาดนักท่องเที่ยวจีน” ถูกจับจ้องเป็นพิเศษ ด้วยขนาดใหญ่อันดับ 1 ทั้งจำนวนและรายได้ ปี 2562 เดินทางเข้าไทย 11 ล้านคน สร้างรายได้ 5.3 แสนล้านบาท และเพิ่งฟื้นตัวหลังทางการจีนเปิดประเทศเมื่อ 8 ม.ค.2566 ก่อนผ่อนคลายมาตรการต่อเนื่อง อนุญาตให้บริษัททัวร์พาชาวจีนออกนอกประเทศได้ตั้งแต่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา"

ตำรวจบังคับใช้กฎหมายอั้งยี่

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ในฐานะได้รับมอบหมายปราบปรามทุนจีนสีเทาและทัวร์ศูนย์เหรียญ ได้เตรียมประชุมร่วมกับ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา วันที่ 19 เม.ย.2566 เพื่อหาทางป้องกันทัวร์อั้งยี่

โดยนายพิพัฒน์ ได้ไปพบกับรัฐมนตรีวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวจีนเมื่อวันที่ 20-24 ก.พ.2566 และมีความร่วมมือ 3 ประเด็นหลัก อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชนได้ประชุมเมื่อกลางเดือน มี.ค.2566 งัดกฎหมายสกัดทัวร์อั้งยี่ สตช.ลุย ‘เยาวราช-ห้วยขวาง’ ตามล่าที่ตั้ง สน.จีน

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการทัวร์ของไทยกังวล เพราะปรากฏการณ์นี้จะรุนแรงกว่าทัวร์ศูนย์เหรียญเมื่อ 3-4 ปีที่แล้วเรียกได้ว่าเป็น “ทัวร์อั้งยี่” เพราะทำกันเฉพาะกลุ่มชาวจีนแบบผูกขาด ซึ่งเงินทุกบาททุกสตางค์ที่นักท่องเที่ยวชาวจีนจ่ายไม่ตกถึงมือคนไทย

"จะเรียกทัวร์ศูนย์เหรียญหรือทัวร์อั้งยี่ก็ได้ เพราะไม่ต่างกัน เพียงแต่เมื่อ 5 ปีก่อน ที่กวาดล้างทัวร์ศูนย์เหรียญ โดยตั้งข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา อั้งยี่ ซ่องโจร ภายหลังจึงเรียกเป็น ทัวร์อั้งยี่"

สำหรับการประชุมในวันที่ 19 เม.ย.2566 ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ นัดมาจะยืนยันแนวทางดำเนินการ โดยบริษัททัวร์ศูนย์เหรียญไม่ได้เป็นบริษัทใหญ่เหมือนเดิม เพราะบริษัทใหญ่ถูกดำเนินคดีและยึดทรัพย์ 20,000 ล้านบาท ดังนั้นการปรามปรามจะเน้นบังคับใช้กฎหมายเด็ดขาด

ทั้งความผิดฐานร่วมกันเป็นอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 วรรคแรก พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2551 และร่วมกันประกอบธุรกิจนำเที่ยวโดยไม่ได้รับอนุญาต ร่วมกันฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542

“ขอให้วางใจว่าจัดการไม่ยาก เพียงแต่ต้องตรวจสอบให้ได้ว่ายังมีบริษัทเหล่านี้อยู่เท่าไหร่ มีการผูกขาดรถรับ-ส่ง ร้านอาหาร โรงแรม ห้างสรรพสิน สิ่งเหล่านี้ดำเนินการได้หมด หลังจากนั่นก็ใช้มาตรการภาษี การร่วมกันฟอกเงิน การตรวจสอบนอมินี ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายให้เด็ดขาด ก็ไม่มีอะไรหนักใจ”พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ระบุ

ททท.พบขายทัวร์ต่ำกว่าราคาทุน

นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า จากการติดตามและจับสัญญาณปัญหาทัวร์อั้งยี่และทัวร์ศูนย์เหรียญล่าสุด ถามว่ามีหรือไม่ ต้องบอกว่ามี แต่เป็นการแอบทำของฝั่งผู้ประกอบการจีนในสัดส่วนยังน้อย เช่น

การขายทัวร์ราคาต่ำกว่าทุนผ่านช่องทางออนไลน์ ราคา 150-200 หยวน หรือ 750-1,000 บาท ต่อแพ็กเกจ ไม่ถึงกับศูนย์เหรียญ แต่มีราคาถูกเกินไป แค่ค่าตั๋วเครื่องบินก็ไม่พอแล้ว ส่วนใหญ่เป็นเส้นทางท่องเที่ยวมาภาคเหนือของไทย

“แม้ปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญและทัวร์อั้งยี่น่ากังวล แต่สิ่งที่ทำให้เบาใจขึ้นมาก คือ หน่วยงานภาครัฐที่มีอำนาจใช้กฎหมายได้เข้ามาดูแลเข้มงวด เช่น กรมการท่องเที่ยว ตำรวจท่องเที่ยว หลังจากรัฐบาลกำชับให้ดูแลควบคุมไม่ให้เกิดปัญหาตามมา โดยกรมการท่องเที่ยวถอนใบอนุญาตบริษัททัวร์ที่มีความเป็นเทาๆ สอดรับนโยบายของ ททท.ที่มุ่งโปรโมตการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ”

ทั้งนี้ ในยุคออนไลน์มีการโปรโมตให้จองทัวร์ที่ขายราคาต่ำกว่าทุนได้ง่าย ททท.ต้องเฝ้าระวังและแชร์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปตรวจสอบบริษัทนำเที่ยวและบริษัทผู้ให้บริการด้านบริหารจัดการการเดินทาง (Destination Management Company:DMC) ที่เป็นคู่ค้าในไทยคือใคร ก่อนดำเนินมาตรการจับและปิดบริการ

ปักหมุด“เยาวราช-ห้วยขวาง”ตามล่า สน.จีน

ขณะที่หน่วยงานด้านความมั่นคงของไทย เปิดเผยว่า ปฏิบัติการปราบปรามทัวร์อั้งยี่ ที่ขยายผลจนพบข้อมูลทุจริตในสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) โดยเรียกรับผลประโยชน์เพื่ออำนวยความสะดวกการต่อวีซ่าหรือเปลี่ยนชนิดวีซ่าทำให้หน่วยงานความมั่นคงพบประเด็นใหม่กรณี Safeguard Defenders ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์ในยุโรปและเอเชีย เกี่ยวกับการตั้ง “สถานีสาขาต่างประเทศ” ของสำนักงานตำรวจจีน

จากข้อมูลหน่วยงานความมั่นคงพบว่า “สถานีตำรวจจีน” มีสาขาต่างประเทศ ฉากหน้าเป็นศูนย์ให้ความช่วยเหลือคนจีนด้านเอกสาร เช่น การต่อใบขับขี่ แต่มีหน้าที่จัดการปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ และปฏิบัติการต่อผู้เป็นเป้าหมายรัฐบาลจีนแม้ในรายงานของ Safeguard Defenders ไม่ได้ระบุชื่อ “ไทย” เป็นหนึ่งในกลุ่มเอเชีย เป็นที่ตั้งของสถานีตำรวจจีนตั้งอยู่ แต่หน่วยงานความมั่นคงไทยเตรียมปูพรมตรวจสอบพื้นที่เยาวราช-ห้วยขวาง ซึ่งเป็นที่ตั้งชุมชนจีนอย่างลับๆ

“ประเทศที่มีชุมชนจีนจะมีสถานีตำรวจจีนมาตั้งอยู่ ชุดละ 4-5 คน ทำหน้าที่สอดส่องตามหากลุ่มต่อต้านรัฐบาลจีน หรือ กลุ่มคนจีนตั้งกลุ่มมาเฟียในประเทศต่าง จะไล่ล่าส่งกลับประเทศ" แหล่งข่าวจากหน่วยงานความมั่นคง ระบุ

ทั้งนี้ ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าไทยมีที่ตั้งสถานีตำรวจจีนหรือไม่ เพราะไม่แสดงตน แต่เข้ามาดำเนินการทางลับ ถือเป็นการละเมิดอำนาจอย่างชัดเจน แต่บางประเทศยินยอมเพราะได้รับผลประโยชน์ ส่วนไทยกำลังค้นหาเพื่อพิสูจน์ทราบ” 

สำหรับ “เยาวราช” เป็นแหล่งชุมชนชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จัดเป็นย่านธุรกิจการค้าการเงิน การธนาคาร ร้านทอง ภัตตาคาร ร้านอาหาร ร้านค้า รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของไทย หรือ “ไชนาทาวน์แห่งกรุงเทพมหานคร”

ส่วน “ห้วยขวาง” กำลังถูกเรียกขานเป็น ไชน่าทาวน์แห่งใหม่ หลังช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีธุรกิจคนจีน ภัตตาคาร ร้านอาหาร ร้านค้า ผุดขึ้นไม่ขาดสายไม่ต่างกับ “เยาวราช” รวมถึงบริการรับ-ส่งอาหารแบบเดลิเวิรี่สัญชาติจีน ผ่านแอพลิเคชั่นสัญชาติจีนเช่นกัน

ตร.ท่องเที่ยว ลุยรวบรวมหลักฐานจับ “ทัวร์อั้งยี่”

ก่อนหน้านี้ พล.ต.ต.อภิชาติ สุริบุญญา รองผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว เปิดเผยว่า ตำรวจท่องเที่ยวกำลังรวบรวมหลักฐานของเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว หลังภาคท่องเที่ยวกำลังฟื้นตัวท่ามกลางปัจจัยลบทำให้มีกลุ่มทัวร์อั้งยี่ ทัวร์ศูนย์เหรียญ นอมินี ไกด์เถื่อน และอาชญากรข้ามชาติที่ไม่ใช่แค่จีนแต่รวมถึงยุโรปตะวันออก และอเมริกาใต้แฝงมาในรูปนักท่องเที่ยว กระจายในเมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น กรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่

“เมื่อรวบรวมหลักฐานครบก็พร้อมจับกุมทันที หากไม่จัดการจะสร้างความเสียหายต่อท่องเที่ยวไทย ต้องรวบรวมหลักฐานให้พร้อม เพราะอาชญากรข้ามชาติที่ไม่เหมือนสมัยก่อน มีการตั้งหลัก มีเงิน มีทนายความ มีทางหนีทีไล่ รู้ช่องว่างทางกฎหมาย"

“ทัวร์อั้งยี่” ทุนสีเทา แย่งรายได้พร้อมฉุดเชื่อมั่นท่องเที่ยวไทย

พล.ต.ต.อภิชาติ กล่าวว่า นิยามของทัวร์อั้งยี่ เป็นองค์กรอาชญากรรม มีการแบ่งสรรปันส่วน มีการวางแผน แบ่งงานกันชัดเจน ซึ่งต้องสาวให้ถึงผู้อยู่เบื้องหลังว่ามาจากต่างชาติหรือว่าอยู่ในไทย หรือเป็นต่างชาติที่มีหุ้นส่วนกับคนไทย และคนมีสีเกี่ยวข้องหรือไม่ โดยไทยจะได้รับความเสียหายจากทัวร์อั้งยี่ 3 ด้าน ได้แก่ 

1.กระบวนการยุติธรรมของไทยถูกท้าทาย เพราะทุกประเทศไม่ควรมีชาวต่างชาติเข้ามาก่อคดีความในประเทศนั้นๆ สร้างความเสียหายในด้านความเชื่อมั่น

2.การมีทุนต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจในไทยแบบผิดกฎหมาย ทำให้ไม่สามารถเก็บภาษีได้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย 

3.คนไทยถูกแย่งอาชีพที่กำหนดไว้ให้เฉพาะคนไทย หากมีคนต่างชาติเข้ามาแย่งอาชีพท่องเที่ยวของคนไทยจะส่งผลกระทบต่อไทยและเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่ซับซ้อนขึ้น

‘พาณิชย์’เร่งตรวจสอบธุรกิจต่างชาติใช้นอมินี

นายจิตรกร ว่องเขตกร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีแนวทางการป้องปรามธุรกิจที่มีลักษณะนอมินีตั้งแต่ขั้นตอนการจดทะเบียนตั้งนิติบุคคล โดยก่อนจดทะเบียนจะตรวจสอบเอกสารที่ธนาคารออกให้เพื่อรับรองหรือแสดงฐานะการเงินของหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นคนไทยเพื่อแสดงความน่าเชื่อถือว่าคนไทยที่ร่วมลงทุนมีฐานะการเงินที่ลงทุนได้เอง

รวมทั้งเมื่อจดทะเบียนแล้วจะตรวจสอบประจำปี โดยคัดเลือกกลุ่มเสี่ยงที่มีข้อบ่งชี้ว่าอาจเป็นนอมินีเช่น ธุรกิจที่คนต่างด้าวถือหุ้นไม่ถึง 50% ธุรกิจมีคนต่างด้าวเป็นผู้มีอำนาจกระทำการ การกำหนดให้สิทธิคนต่างด้าวมากกว่าคนไทยไม่ว่าจะเป็นสิทธิการออกเสียงลงคะแนน สิทธิการรับเงินปันผล รวมทั้งสิทธิการรับคืนทุนเมื่อเลิกกิจการ

นอกจากนี้ จะนำแหล่งที่มาของเงินที่ใช้ในการประกอบธุรกิจมาพิจารณาเช่น การกู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงินแก่คนต่างด้าว โดยมีเงื่อนไขที่ผิดปกติในทางการค้าหรือทางธุรกิจการเงินทั่วไป

สำหรับปีงบประมาณ 2566 กำหนดกลุ่มเป้าหมายตรวจสอบ 3 กลุ่มธุรกิจ ซึ่งเป็นธุรกิจตามบัญชีท้าย พ.ร.บ.ว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ท

ช่วงครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2566 ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ กรมการท่องเที่ยว กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ใน 3 จังหวัดเป้าหมาย ได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี

ทั้งนี้พบว่ามีสำนักงานบัญชีและกฎหมายหลายแห่งทำหน้าที่แนะนำหรือจ้างคนไทยถือหุ้นสัดส่วน 51% และต่างชาติถือหุ้น 49% เพื่อให้บริษัทมีสถานะเป็นนิติบุคคลไทยซึ่งกำลังวิเคราะห์ข้อมูลมูลค่าการลงทุนแต่ละช่วงเวลาที่ถือครองหุ้นและข้อมูลการประกอบธุรกิจเพิ่ม

“หากตรวจสอบพบคนไทยช่วยเหลือหรือถือหุ้นแทนจะเข้าข่ายเป็นความผิดลักษณะนอมินีจะส่งข้อมูลให้ดีเอสไอสืบสวนสอบสวนเชิงลึก โดยหากมีพฤติการณ์เข้าข่ายนอมินีจะส่งดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวด้าวมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000 ถึง1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับและมีโทษปรับรายวันวันละ 10,000-50,000 บาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน“นายจิตรกร กล่าว

‘กรมการกงสุล’ยืนยัน e-Vias กรองต่างชาติเข้าไทยเข้มงวด

นายรุจ ธรรมมงคล อธิบดีกรมกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ไทยและจีนมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด ซึ่งทั้งสองได้ยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์รอบด้าน โดยเฉพาะเน้นนโยบายส่งเสริมท่องเที่ยวระหว่างกัน

กรมการกงสุลในฐานะผู้พิจารณาการออกวีซ่าให้ต่างชาติที่ยื่นขอขณะที่อยู่ต่างประเทศ นายรุจ กล่าวว่า การเดินทางระหว่างประชาชนจีนและไทยส่วนใหญ่ส่งผลดีมากกว่า เพราะเรื่องใดก็ตามที่เกิดขึ้นจะเป็นบทเรียนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันกำกับดูแลให้ใกล้ชิดขึ้นและปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพตลอดจนจัดระบบผู้เดินทางเข้าประเทศให้ดีขึ้น

ส่วนชาวต่างชาติที่มายื่นขอวีซ่า ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมืองในประเทศ (Visa on Arrival : VOA) นายรุจ กล่าวว่าปกติขึ้นกับดุลพินิจหน่วยงานที่กำกับดูแลซึ่งมีระบบตรวจสอบที่ดี

ทั้งนี้ กรมการกงสุลเป็นเหมือนด่านหน้าให้วีซ่าชาวต่างชาติ หลังจากเข้าประเทศเป็นขั้นตอนหน่วยงานอื่นคัดกรองและกำกับดูแลชาวต่างชาติ รวมทั้งการยื่นขอวีซ่าไทยส่วนใหญ่ปรับรูปแบบให้ยื่นขอวีซ่าเพื่อเดินทางไปไทยทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Visa) ขอให้มั่นใจได้ว่าจะไม่เป็นช่องทางการอำนวยความสะดวกให้คนชาติอื่นได้กระทำผิดกฎหมาย เพราะระบบนี้มีกฎเกณฑ์พิจารณาเอกสารเข้มงวด

“ประชาชนจีนกว่า 1,400 ล้านคน ถือหนังสือเดินทางจีน 300-400 ล้านคน” นายรุจกล่าว และย้ำแน่นอนว่ากลุ่มคนต่างชาติที่ขอวีซ่าไทยมีหลายสี ขาว ดำ เทา ซึ่งทางกระทรวงการต่างประเทศพยายามสกัดไม่ให้กลุ่มคนในธุรกิจสีดำหรือสีเทาเดินทางเข้าประเทศ

เมื่อดูสถิติชาวจีนที่เดินทางมาไทยในส่วนที่ขอ e-Visa มี 15% และอีก 85% ยื่นขอตรงกับ สตม.ที่สนามบินเมื่อเดินทางถึงไทย โดยส่วนที่ขอวีซ่าออนไลน์ 15% ที่อยู่ในความรับผิดชอบ ระบบ e-Visa เชื่อมกับ ตม.และหน่วยงานความมั่นคง เพื่อตรวจสอบบุคคลที่อยู่ในบัญชีดำ และความน่าเชื่อถือแต่ละบุคคล เช่น เคยพำนักเกินระยะเวลาวีซ่าหรือไม่

ทั้งนี้ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 เป็นกฎหมายกำกับดูแลโดยกระทรวงมหาดไทย ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ กรมการกงสุล สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ไทยทั่วโลกมีหน้าที่ออกวีซ่าให้คนต่างชาติที่ยื่นขอวีซ่าทุกประเภท ซึ่งแน่นอนว่าเบื้องต้นต้องคัดกรองเข้มงวด แต่เมื่อมาถึงไทยและเดินทางเข้าประเทศจะเป็นหน้าที่ของผู้ที่ถือกฎหมายฉบับนี้