เปิด 'ซาอุฯ วิชั่น 2030' กับโอกาส 'นักธุรกิจไทย' ลงทุนอะไรได้บ้าง?

เปิด 'ซาอุฯ วิชั่น 2030' กับโอกาส 'นักธุรกิจไทย' ลงทุนอะไรได้บ้าง?

ซาอุฯ วิชั่น 2030 เป็นจุดเปลี่ยนนโยบายประเทศ โอกาสใหม่ของนักธุรกิจไทย ที่จะเข้าร่วมเป้าหมายดึงต่างชาติลงทุน 14 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพิ่มสัดส่วนเอฟดีไอในเศรษฐกิจ ด้วยจุดขายต่างชาติถือหุ้น 100% หลายธุรกิจ ขอวีซ่าได้ภายใน 1 วัน

หอการค้าไทยจัดงานสัมมนา “เปิดโอกาสการค้าซาอุดิอาระเบียกับหอการค้าไทย Trade-Travel-Investment” เมื่อวันที่ 101 เม.ย.2566 เพื่อเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับโอกาสทางธุรกิจหลังไทยฟื้นความสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบีย

นายอับดุรเราะห์มาน อับดุลอะซีซ อัลซุฮัยบานี เอกอัครราชทูตซาอุดิอาระเบีย ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศที่จัดอยู่ในท็อป 25 ของโลก ซึ่งมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างโดดเด่นในปี 2565 โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประเมินว่าเศรษฐกิจซาอุฯ ขยายตัวถึง 7.6% 

ทั้งนี้ การเดินหน้ากลยุทธ์ Saudi Vision 2030 จะสร้างความแข็งแกร่งให้รัฐบาลรวมทั้งภาคเอกชนเพื่อยกระดับเศรษฐกิจไปสู่ New Horizon ด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศที่มีความหลากหลายและขับเคลื่อนด้วยภาคอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กำหนด 14 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ 

การศึกษา พลังงานและน้ำ เหมือง อสังหาริมทรัพย์ ไบโอเทค การแพทย์และสุขภาพบริการการเงิน ยานยนต์และโลจิสติกส์ 

การท่องเที่ยว ปิโตรเคมี เทคโนโลยีสารสนเทศอุตสาหกรรมการผลิต และนวัตกรรม

สำหรับเป้าหมายสำคัญ ได้แก่ ให้ประเทศมีสัดส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) 5.7% ของจีดีพี จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.3% รวมทั้งสร้างรายได้รัฐบาลจากอุตสาหกรรม Non-oil มูลค่า 267 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มสัดส่วนการมีส่วนร่วมของแรงงานหญิง 30% เพิ่มมูลค่ากองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะเป็น 2 ล้านล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ Vision 2030 ยังขับเคลื่อนไปพร้อมกับกลยุทธ์การลงทุนระดับชาติของซาอุฯ (The National Investment Strategy) ซึ่งมีการอนุมัติมาตรการและนโยบายที่ช่วยสนับสนุนการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการลงทุนและลดอุปสรรคต่างๆ ทำให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก โดยมีเป้าหมายในการดึงมูลค่าเงินลงทุนในประเทศ 545,000 ล้านดอลลาร์หรือคิดเป็น 30% ของ GDP ในปี 2030

“ปัจจุบันซาอุฯ ปรับกฎเกณฑ์และกฎระเบียบที่สร้างสภาพแวดล้อมดึงดูดการลงทุนไปแล้วกว่า 80% โดยมีไฮไลต์สำคัญ อาทิ นักธุรกิจสามารถยื่นเอกสารขอวีซ่าได้ภายใน 24 ชั่วโมง ลดปริมาณเอกสารที่จำเป็นสำหรับนำเข้า-ส่งออก เหลือ 2 ฉบับ และต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจได้ 100% ในหลายเซคเตอร์อุตสาหกรรม”

สร้างโอกาสนักธุรกิจไทย

นายดามพ์ บุญธรรม เอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด กล่าวว่า การฟื้นฟูความสันพันธ์ของไทยและซาอุฯ กลับมาอยู่ในระดับปกติอย่างสมบูรณ์ตั้งแต่ ม.ค.2565 ทำให้ทั้ง 2 ประเทศ เริ่มมีการเดินทางของผู้นำระดับสูงของภาครัฐรวมทั้งภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อแลกเปลี่ยนความตกลงความร่วมมือกันในหลายมิติ ทั้งด้านแรงงาน การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม พลังงาน การค้าและการลงทุน การเมืองและความมั่นคง 

ขณะที่ซาอุฯ ดำเนินการขับเคลื่อนกลยุทธ์นโยบาย Saudi Vision 2030 เพื่อให้ประเทศลดการพึ่งพาอุตสาหกรรมน้ำมัน โดยกำหนด 3 เป้าหลัก ได้แก่ 

1.สร้างสังคมให้มีชีวิตชีวา เนื่องจากซาอุเป็นประเทศที่มีประชากรอายุเฉลี่ย 32 ปี สังคมจึงมีความเป็นพลวัตสูง 2.สร้างเศรษฐกิจที่เฟื่องฟู ด้วยโครงการลงทุนขนาดใหญ่ อาทิ เมืองอัจฉริยะเดอะไลน์ เมืองท่องเที่ยวอัลอุรา เมืองมรดกโลก และเรดซีโปรเจ็กต์ 3.เป็นชาติที่ทะเยอทะยานเพื่อยกระดับสถานะบนเวทีโลกให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล  

“ความสัมพันธ์ที่ฟื้นฟูกลับมา เปิดโอกาสอีกมากให้ไทยและซาอุทั้งด้านการเมือง สังคมและเศรษฐกิจ ปัจจุบันยังไม่มีบริษัทไทยรายใหญ่ที่เข้าไปลงทุนในซาอุแต่อยู่ในขั้นตอนการศึกษาโดยเบื้องต้นการเข้าร่วมงานจัดแสดงสินค้าที่ทั้งสองประเทศจัดขึ้นจะเป็นโอกาสดีในการศึกษาตลาด”

ทั้งนี้ นักธุรกิจของซาอุแสดงความสนใจในการลงทุนในไทยเป็นอย่างมากในหลายสาขา ทั้งในรูปแบบการร่วมลงทุน การสั่งผลิต OEM ขณะเดียวกัน ซาอุเองกำลังเปิดทางดึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้าไปอีกมาก โดยอยู่ระหว่างการกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษในหลายพื้นที่

“อย่างไรก็ตาม นักธุรกิจไทยยังต้งคำนึงถึงความท้าทายในการลงทุนในซาอุในด้านกฎระเบียบทางสังคม วัฒนธรรมและกฎเกณฑ์ด้านธุรกิจ สภาพแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งอยู่ที่ 15%”

ดันไทยปักธงอาหารฮาราล

รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่ากระแสความตื่นตัวเรื่องความปลอดภัยในอาหารฮาลาลเพิ่มสูงขึ้น โดยผู้บริโภคมุสลิมให้ความสำคัญกับกระบวนการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น 

ทั้งนี้ศูนย์วิทยาศาสตร์ ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาคุณภาพการรับรองฮาลาลของผลิตภัณฑ์อาหารไทยแม้ว่าประเทศไทยมีข้อจำกัดที่ไม่ได้เป็นประเทศมุสลิม แต่คนมุสลิมทั่วโลกเชื่อมั่นอาหารฮาลาลจากประเทศ เพราะผ่านการพิสูจน์และรับรองมาตรฐานตามแนวทางศาสนาควบคู่วิทยาศาสตร์

ดังนั้นไทยต้องก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านนี้เพราะปัจจุบันตลาดฮาลาลเป็นตลาดใหญ่ของโลก โดยปัจจุบันศูนย์ได้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลบล็อกเซนมาใช้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในอาหารฮาลาล เชื่อว่าไทยจะสามารถปักธงในตลาดซาอุฯ ได้