‘ชาติชาย’ ชูนโยบายเศรษฐกิจชาติไทยพัฒนา สร้างอาชีพ-แก้หนี้ ไม่ใช้ ประชานิยม

‘ชาติชาย’ ชูนโยบายเศรษฐกิจชาติไทยพัฒนา สร้างอาชีพ-แก้หนี้ ไม่ใช้ ประชานิยม

เปิดใจ "ชาติชาย พยุหนาวีชัย" จากผ.อ.ออมสินสู่รองหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ชี้เข้าสู่เส้นทางการเมืองมั่นใจช่วยขับเคลื่อนการบริหารระดับประเทศได้ ระบุนโยบายพรรคมุ่งสร้างงาน สร้างอาชีพ แก้หนี้ โดยไม่ใช้ประชานิยมก่อหนี้เพิ่ม วาง 11 นโยบายขับเคลื่อนสู่ "ว้าวไทยแลนด์"

ชื่อของ “ชาติชาย พยุหนาวีชัย” ไม่มีใครในแวดวงธุรกิจ และการเงินการธนาคารไม่รู้จัก เพราะเขาคืออดีตผู้อำนวยการธนาคารออมสินคนที่ 16 นอกจากนั้นยังเป็นมือบริหารธุรกิจ ผ่านงานการบริหารในบริษัทเอกอีกหลายแห่งในตำแหน่งประธานบริหาร และกรรมการบริหาร

นอกจากนั้นชื่อของเขายังติดอยู่ในกระแสข่าวว่าจะได้เข้ามาเป็นเจ้ากระทรวงบริหารงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลอยู่บ่อยครั้ง อย่างไรก็ตามเมื่อปี่กลองการเลือกตั้งปี 2566 ดังขึ้นอย่างเป็นทางการ “ชาติชาย” ได้ตัดสินใจเข้าสู่เส้นทางการเมืองเต็มตัวในฐานะ รองหัวหน้า "พรรคชาติไทยพัฒนา" และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของพรรค

ในสมรภูมิการเลือกตั้งที่แต่ละพรรคต่างสาดนโยบายประชานิยม แจกเงิน อัดสวัสดิการกันมากมายชาติชายบอกว่านโยบายของพรรคชาติไทยพัฒนาไม่ใช้นโยบายแจกเงิน ไม่ใช้นโยบาย "ประชานิยม" แต่พรรคเน้นในเรื่องของความยั่งยืน สร้างงาน สร้างอาชีพซึ่งเชื่อว่าทำนโยบายในแนวทางนี้ยั่งยืนกว่า

“วันนี้เราจะพูดเรื่องแจกเงินอย่างเดียวคงไม่ได้ เอาแค่ถ้าจะแจกเงินให้คนแก่ ใช้เงินปีละประมาณ 4.8 แสนล้านบาท แต่รายได้ประเทศไทยจัดเก็บได้ 2.2 ล้านล้านบาท งบฯ 1.6 ล้านล้านเป็นงบประจำ จะกู้เงินเพื่อมาแจกอย่างเดียวก็คงไม่ได้ เพราะกู้มาแจกประเทศจะมีหนี้ท่วม ชาติไทยพัฒนาจึงจะไปในทิศทางที่จะพัฒนาประเทศแบบไม่ก่อหนี้ให้คนรุ่นหลังต้องมาแบกหนี้หลังแอ่น”ชาติชาย กล่าว

สำหรับสาเหตุที่ตัดสินใจเข้าสู่เส้นทางการเมืองรองหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนากล่าวว่าส่วนสำคัญมาจากการที่ทำงานอยู่ที่ธนาคารออมสินรู้สึกว่าตอนที่ทำงานที่ธนาคารออมสินมีความสุขมาก เพราะช่วยประชาชนได้มาก เวลาได้ไปปล่อยกู้ ไปพัฒนาโครงการต่างๆ นำนโยบายรัฐไปแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชน  ทำให้ได้คิดว่า

ขนาดองค์กรเดียวยังสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่ง ถ้ามีโอกาสเข้าไปขับเคลื่อนประเทศได้ในระดับที่สูงขึ้น ก็มั่นใจว่าจะช่วยประเทศได้อีกมาก และถ้าคนดี คนเก่ง เข้ามาทำงานการเมืองจะช่วยให้ประเทศดีขึ้นได้

ส่วนที่ตัดสินใจมาร่วมงานการเมืองกับพรรคชาติไทยพัฒนาเพราะเห็นว่าพรรคนี้เป็นพรรคกลางๆ พร้อมฟังเสียงของคนรุ่นใหม่ หัวหน้าพรรค "วราวุธ ศิลปอาชา" ก็เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีวิสัยทัศน์ รวมทั้งการบริหารงานภายในก็ไม่ได้มีคนมากเกินไป ไม่ได้มีความซับซ้อน ทำให้ทำงานการเมืองที่มีประสิทธิภาพ และเป็นพรรคขนาดกลางที่ไม่สาดโคลน ไม่ทะเลาะกับใคร ถ้าพรรคได้ร่วมรัฐบาลก็สามารถนำเสนอนโยบาย ผ่านคณะรัฐมนตรี  เสนอผ่านภายนอก หรือใครจะเอาแนวคิดนี้ไปใช้ก็ได้

‘ชาติชาย’ ชูนโยบายเศรษฐกิจชาติไทยพัฒนา สร้างอาชีพ-แก้หนี้ ไม่ใช้ ประชานิยม

สำหรับนโยบายเศรษฐกิจของพรรคเดินตามสโลแกน “รับฟัง ทำจริง” โดยมี 11 นโยบายที่อยากขับเคลื่อน ได้แก่

1.การสร้างงาน สร้างรายได้ กลุ่มเศรษฐกิจฐานราก  ผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งธุรกิจเอสเอ็มอี โดยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดของโควิด -19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งสร้าง ความรู้ สร้างอาชีพใหม่ๆ รวมทั้งส่งเสริมให้คนกลุ่มนี้นำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าไปช่วยพัฒนาให้เกษตรกรสร้างผลผลิตเพิ่มมากขึ้นให้มีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งดึงเอามหาวิทยาลัยสร้างอาชีพเสริมให้กับคนกลุ่มนี้เพื่อเพิ่มช่องทางหารายได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหาร ขนม นวดแผนโบราณ ซ้อมรถจักรยาน เป็นต้น

ส่งเสริมการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ ในรูปแบบหนึ่งแพลตฟอร์มหนึ่งตำบล ให้นำสินค้าที่มีมาวาง เพื่อให้ช่องทางการค้าขายกว้างขึ้น ส่วนการขยายแบบออฟไลน์ก็จะวางขายตามถนนคนเดิน หรือจุดพักรถแบบในต่างประเทศให้ค้าขายมากขึ้น

ส่วนการช่วยเหลือร้านค้าขนาดเล็ก และเอสเอ็มอีเพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ในอนาคตจะเริ่มการสร้างประวัติทางการเงินเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยคิวอาร์โค้ด  เพื่อให้ธนาคารสามารถเข้าไปดูประวัติตรวจสอบแหล่งเงินทุนได้ และนำข้อมูลนี้ไปเป็นเครดิตสกอร์ริ่ง เช่น ขายก๋วยเตี๋ยวได้วันละ 1,000 บาทก็จะมีรายการเงินผ่านบัญชีชัดเจน สิ่งที่จะพัฒนาต่อคือธนาคารจะต้องปล่อยกู้อัตโนมัติได้ และตัดเงินเงินต้นและดอกเบี้ยตามของยอดขายได้ อาจจะตัด 5% หรือ 10% ของยอดขาย หากทุกธนาคารทำแบบนี้จะช่วยคนตัวเล็กได้ 

กองทุนเวนเจอร์ฟันด์ช่วยสตาร์ทอัพ

นอกจากนี้พรรคจะตั้งกองทุนร่วมลงทุนในสตาร์ทอัพ (Venture Fund) โดยกองทุนมีขนาด 1 – 2 แสนล้านบาท ซึ่งภาครัฐสามารถช่วยสตาร์ทอัพโดยเข้าไปร่วมลงทุน หรือให้สถาบันการเงินเป็นคนทำ เพราะรัฐรับความเสี่ยงได้ หากสามารถทำให้สตาร์ทอัพไทยต่อยอดได้ประมาณ 1 หมื่นบริษัทก็จะเป็นเรื่องที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต  

2.แก้หนี้สินแบบเจาะลึก โดยถือเป็นนโยบายสำคัญ เพราะปัจจุบันหนี้สินเป็นปัญหาสำคัญของคนหลายกลุ่ม มีอาชีพที่มีปัญหาหนี้สินหลายอาชีพดังนั้นต้องมีการแก้ปัญหาหนี้อย่างเป็นระบบ ดังนั้นต้องมีการเปิดคลินิกให้คำปรึกษาหนี้ คลินิกแก้หนี้ ตั้งศูนย์บริหารจัดการหนี้แห่งชาติ รวมหนี้เพื่อนำมาบริหารจัดการหนี้ ตั้งบริษัทสินเชื่อบุคคลแห่งชาติรับซื้อหนี้จากสถาบันการเงินโดยมีการแฮร์คัทเงินต้นบางส่วน แล้วออกมาตรการปลอดเงินต้น ปลอดดอกเบี้ย เพิ่ม 2 ปี

สำหรับกลุ่มไม่มีความสามารถชำระหนี้  สำหรับกลุ่มที่สามารถชำระบางส่วน ให้ชำระเงินต้นก่อน ดอกเบี้ยทีหลัง เป็นเวลา 2 ปี รวมทั้งออกมาตรการขยายระยะเวลากู้ออกไปเป็นระยะยาว เช่น 30 ปี มาตรการลดดอกเบี้ยหรือเบี้ยปรับให้เป็นธรรม

“เรื่องการเงินผมรู้เรื่องนี้มากที่สุด แล้วเคยแก้มาแล้ว เพราะตอนที่เกิดวิกฤติโควิด-19 ธนาคารออมสิน เริ่มต้นพักหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้ลูกหนี้ 2 ปี ยอมขาดทุนดอกเบี้ย 25,000 ล้านบาท ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าใจและอนุญาติให้ธนาคารอื่นทำด้วย และให้คิดดอกเบี้ยได้ จึงไม่เสียหาย แต่ถ้ายังฝืนต่อไป คนจ่ายหนี้ไม่ไหวยิ่งจะทำให้เกิดหนี้เสีย  ธนาคารก็ต้องเพิ่มทุนและอาจเกิดวิกฤติธนาคาร ซึ่งทำให้ในช่วงโควิด-19 ธนาคารไม่ล้มเหมือนช่วงต้มยำกุ้ง”

 

3.นโยบายนำสหกรณ์มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยสหกรณ์ถือว่าเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้ เนื่องจากปัจจุบันสหกรณ์มีทุนและเงินสะสม กว่า 3.3 ล้านล้านบาทและมีสมาชิกกว่า 11.7 ล้านคน เป็นสถาบันที่สามารถช่วยพัฒนาประเทศได้ โดยต้องมีการแก้กฎหมายให้สหกรณ์สามารถนำเงินสะสมไปลงทุนได้ โดยวางหลักเกณฑ์ว่าให้สร้างผลประโยชน์และผลตอบแทนลงสู่ประชาชนและสมาชิกสหกรณ์ เช่น ไปลงทุนในกิจการที่หลากหลาย เช่น โรงไฟฟ้าชุมชน เกษตรชุมชน โรงกำจัดขยะแห่งชาติ สหกรณ์เครื่องจักรกลชุมชุน เป็นต้น

“หากให้สหกรณ์นำเงินสะสมมาลงทุนในกิจการที่เป็นประโยชน์ได้ ซึ่งสมมุติว่าแค่ 10% ก็ได้ 3 แสนล้านบาท สามารถหมุนในระบบเศรษฐกิจได้ 5 รอบ ก็ได้เงิน 1.5 ล้านล้านบาทแล้ว”

 

4.นโยบายด้านดิจิทัล และการศึกษา โดยใช้เรื่องดิจิทัลมาเพิ่มขีดสามารถในการแข่งขันของประเทศ และทำเรื่องการส่งเสริมรัฐบาลดิจิทัล (E-Government)  ควบคู่กับการพัฒนาไทยให้เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล 

การปฏิรูปการศึกษาโดยสนับสนุนให้เยาวชนเรียนในสิ่งที่ใช่ ใช้ในสิ่งที่เรียน เพื่อให้การเรียนตอบโจทย์เรื่องการสร้างแรงงานป้อนตลาด

5.การเพิ่มขัดความสามารถการแข่งขันของประเทศ โดยส่งเสริมให้มีการลงทุนที่เป็นไฮเทคโนโลยีในประเทศไทยมากขึ้น โดยดึงนักลงทุนที่เป็นเป้าหมายเข้ามาลงทุนโดยรัฐบาลอำนวยความสะดวกในการลงทุน

6.ส่งเสริมการค้าต่างประเทศ โดยเรื่องการค้าต่างปะเทศต้องเร่งเจรจาการค้าเสรี (FTA) การขยายความร่วมมือกับประเทศต่างๆ และการหารือกับกลุ่มบิมสเทค 7 ประเทศ และทำงานร่วมกับเอกชนเพื่อศึกษาการเปิดตลาดการค้าระหว่างประเทศของไทยมากขึ้น

7.สร้างเสริมธุรกิจที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทย โดยเฉพาะธุรกิจเกษตร อาหาร ธุรกิจ BCG เพื่อขับเคลื่อนเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามแนวทาง ESG การสนับสนุนให้เกษตรกร ชาวนา เรียนรู้กลไกการขายคาร์บอนเครดิตเพื่อสร้างรายได้ตามความต้องการคาร์บอนเครดิตที่เพิ่มขึ้น และราคาคาร์บอนเครดิตที่เพิ่มขี้นด้วย

8.พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ และรีแบรนด์ประเทศไทย เพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้มากขึ้น ดึงงานสำคัญระดับโลกเข้ามาจัดแสดงในประทศไทย เพื่อสร้างเรื่องราว และกิจกรรมการท่องเที่ยว โดยส่งเสริมให้ทำควบคู่กับการส่งเสริมการซอฟต์พาวเวอร์ที่เป็นจุดขายของไทย และเดินหน้าพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลที่จะช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยในไทยให้ครบวงจร

9.การส่งเสริม และอำนวยความสะดวกในเรื่องการลงทุน และการสร้างรายได้เข้าประเทศ จากชาวต่างชาติที่ต้องการเข้ามาลงทุน และทำงานในประเทศไทย การสนับสนุนวีซ่าระยะยาว (LTR)ให้ต่างชาติที่มีศักยภาพเข้ามายังประเทศไทย การปรับกลไกค่าจ้างแรงงานให้มีความยืดหยุ่น ขึ้นกับความสามารถของแรงงาน เช่น จ่ายค่าแรงตามจำนวนสินค้าที่ผลิตได้ เป็นต้น

10.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม ควบคู่กับนโยบายการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค สนับสนุนการจัดการคมนาคมทางน้ำ เพื่อให้สามารถลดค่าครองชีพในการเดินทาง โดยการเชื่อมต่อการเดินทางในระบบที่มีอยู่ นอกจากนั้นต้องเร่งเรื่องของโครงการคมนาคมที่ล่าช้า เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน

รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค ในรูปแบบใกล้เคียงกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ต่างๆไปได้รวดเร็ว

และ 11.นโยบายการส่งเสริมการค้าชายแดน เนื่องจากประเทศไทยมีจังหวัดที่ติดชายแดนกับเพื่อนบ้านถึง 31 จังหวัด หากสามารถทำการค้าชายแดนให้คึกคักขึ้น มีการยกระดับด่านชายแดนให้สามารถค้าขายได้ และเปิดด่านผ่อนปรนอีก 5 ด่านในจังหวัดที่มีมูลค่าการค้าสูง มั่นใจว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในประเทศเพราะสินค้าของไทยก็ได้รับการนิยมในกลุ่มประเทศ CLMV อยู่แล้ว

สำหรับนโยบายอื่นๆที่น่าสนใจชาติชายบอกว่า “วราวุธ”หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ได้เปิด  10 นโยบาย "ว้าว ไทยแลนด์" ไปแล้ว ท ประกอบด้วย  รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน(บรรหารโมเดล ปี 2540)  เกษตรรุ่นใหม่ขายคาร์บอนเครดิตได้ บาดาลขนาดใหญ่ทุกตำบล น้ำสะอาดทุกหมู่บ้าน

แจกพันธุ์ข้าวฟรีทั่วประเทศ 60 ล้านไร่ ขนส่งมวลชนเข้าถึงเท่าเทียม ขยายเขตไฟฟ้าการเกษตรทั่วประเทศหน่วยละ 2 บาท งบลงทุนท้องถิ่น 10 ล้านบาท ส่งเสริมนโยบายบายประเทศไทย 24 ชั่วโมง มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อเนื่องตลอดทั้งกลางวันและการคืน  นโยบายสร้างงานสร้างรายได้แก่ผู้สูงอายุ เบี้ยคนพิการ เดือนละ 3,000 บาท และสุขภาพดีที่เงินคืน 3,000 บาท สวัสดิการอัปเกรดได้ เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสรักษาพยาบาลได้ดีขึ้น