ผ่าแผน 3 บริษัท ชิงตลาดน้ำมัน ‘บางจาก’ พร้อมชน OR-PT

ผ่าแผน 3 บริษัท ชิงตลาดน้ำมัน ‘บางจาก’ พร้อมชน OR-PT

เปิดแผน 3 ธุรกิจน้ำมันแข่งเดือด หลังจบบิ๊กดีลควบรวม งันกลยุทธ์มัดใจลูกค้า “โออาร์” ยึดจุดแข็งผู้นำตลาด พัฒนาอีโคซิสเต็มธุรกิจ “พีที” ไม่หวั่นดีลควบรวม “บางจาก-เอสโซ่” มุ่งพัฒนาศักยภาพองค์กรแข่งขันกับตัวเอง “ชัยวัฒน์” มั่นใจผู้บริโภคเข้าถึงแบรนด์บางจากมากขึ้น

Key Point

  • การควบรวมกิจการระหว่างบางจากและเอสโซ่ ทำให้การแข่งขันธุรกิจค้าปลีกน้ำมันดุเดือดขึ้น
  • OR ที่เป็นผู้นำตลาดมีแผนลงทุนธุรกิจ Lifestyle ที่จะเพิ่มการดึงดูดเข้าใช้ปั๊ม PTT Station
  • PT เชื่อว่าการแข่งขันเป็นเรื่องปกติของธุรกิจ พร้อมเร่งพัฒนาธุรกิจทั้ง Oil และ Non-Oil
  • บางจาก มั่นใจว่าการควบรวมครั้งนี้จะทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงแบรนด์บางจากได้เพิ่มมากขึ้น

การควบรวมกิจการระหว่างบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เอสโช่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ทำให้การแข่งขันธุรกิจค้าปลีกน้ำมันเป็นที่น่าสนใจมากขึ้น และผู้ประกอบการที่มีจำนวนปั๊มน้ำมันอันดับ 1-3 ล้วนมีแผนที่จะเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด

ปัจจุบันประเทศไทยมีปั๊มน้ำมัน 27,993 แห่ง ซึ่งเป็นสถิติถึงเดือน ธ.ค.2565 โดยส่วนใหญ่ 70.9% เป็นปั๊มน้ำมันที่ไม่มีแบรนด์ ในขณะที่บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR มีสัดส่วน 8.5% รองลงมาเป็น บริษัทพีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG สัดส่วน 8.0% ส่วนบางจากและเอสโช่ มีจำนวนปั๊มรวมกันหลังควบรวมกิจการ สัดส่วน 7.7%

OR ลงทุน 1.4 หมื่นล้าน พัฒนาธุรกิจ Lifestyle

นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวถึงการควบรวมบางจากและเอสโซ่ ว่า ในฐานะที่เป็นผู้เล่นอยู่ในตลาด OR เตรียมตัวเองให้มีความเข้มแข็ง โดยปั้มน้ำมัน PTT Station เป็นปั้มที่มีมาตรฐาน มีระบบและเครือข่ายที่มีความเข้มแข็งอยู่แล้ว อีกทั้งรวมถึงผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆที่มีความพร้อมรองรับให้บริการประชาชน

ทั้งนี้ OR เตรียมงบลงทุนปี 2566 ที่ 31,197 ล้านบาท โดยในกลุ่มธุรกิจ Lifestyle ลงทุน 14,193 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 45% ของงบลงทุนทั้งหมด เพื่อขยายสาขาร้าน Café Amazon และร้าน Texas Chicken รวมถึงหาพันธมิตรและการลงทุนใหม่เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตทุกรูปแบบ โดยนอกจากธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) แล้วยังให้ความสำคัญในกลุ่มธุรกิจ Health & Wellness และ Tourism ตั้งเป้าสัดส่วนกำไรเพิ่มขึ้นระดับ 25-29%

รวมทั้งกลุ่มธุรกิจ Mobility จะรักษาผู้นำ Mobility Ecosystem ทั้งแง่การขยายสาขา PTT Station 122 แห่งในประเทศ และ 82 แห่งในต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมี 2,161 สาขา และ EV Station PluZ 500 เครื่องชาร์จ จากปีที่ผ่านมามี 300 เครื่องชาร์จ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย EV Station PluZ จำนวน 7,000 เครื่องชาร์จ ภายในปี 2573 และเป็นผู้นำโครงสร้างพื้นฐาน EV ในไทย รวมทั้งภายในปีนี้จะผลักดันความร่วมมือธุรกิจ EV ของกลุ่ม ปตท.อย่างเป็นระบบ

“พีที”พัฒนาโซลูชั่นดูแลลูกค้า

นายพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารปั๊ม PT กล่าวว่า หลังการควบรวมกิจการดังกล่าว เชื่อว่าการแข่งขันจะยังคงเป็นปกติที่มีการแข่งขันของผู้ให้บริการน้ำมันอยู่แล้ว ซึ่งไม่ได้กระทบอะไรกับ PT โดยต้องมองว่าลึกๆ แล้ว การแข่งขันก็แข่งขันกันมาเหมือนเดิมทั้งตอนที่มีเอสโซ่หรือไม่มีเอสโซ่ 

ดังนั้น บริษัทฯ ไม่ได้แข่งกับผู้บริการรายอื่น แต่แข่งกับตัวเองว่าในทุกปีจะต้องโตเท่าไหร่ และแต่ละปีต้องมีอะไรใหม่ เช่น การที่ PT มีบริการ PT Service Master ถือเป็นตัวอย่างชัดเจนว่า PT ให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นหลักและการบริการถือเป็นเรื่องสำคัญ

“สภาวะการแข่งขันเป็นไปตามปกติอยู่แล้ว จะรวมหรือไม่มีทั้งข้อดีข้อเสียในการแข่งขัน แต่สุดท้ายสำคัญว่าเราจะแข่งกับใคร ในทุกปีที่เราพูดมาเสมอเป็นเรื่องที่เราต้องแข่งกับตัวเองตลอดเวลา ต้องปรับปรุงตัวเองอย่างไรในการดำเนินการให้เป็นที่พึงพอใจกับลูกค้าให้ดีขึ้นในทุกปี และอีกเรื่องที่เราต้องแข่งกับตัวเองโดยเอาข้อมูลที่มีอยู่มาวิเคราะห์เจาะลึกเพื่อให้รู้ว่าลูกค้าต้องการอะไรบ้าง เพื่อเร่งพัฒนาปรับปรุงบริการตอบรับกับความต้องการลูกค้า เป็นต้น”

ทั้งนี้ PT ได้เปิดตัวการให้บริการรูปแบบใหม่ PT Service Master หรือผู้ชำนาญการด้านการบริการในสถานีบริการน้ำมัน PT เพื่อดูแลและให้บริการลูกค้า พร้อมให้ความช่วยเหลือ อำนวยความสะดวก รวมถึงแนะนำสินค้าและบริการให้ลูกค้าได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด เกิดความประทับใจ เกิดรอยยิ้มกลับไปเมื่อเข้ามาใช้บริการ เพื่อเป็นที่หนึ่งในใจของคนไทยทั้งประเทศ ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา PTG คัดเลือกพนักงานที่มีความรู้ความสามารถ ถูกฝึกฝนทั้งความรู้ด้านสถานีบริการน้ำมัน การพัฒนาดูแลบุคลิกภาพ และ Service ระดับ 7 ดาว

รวมทั้งสิ้นปี 2565 PT มีการขยายสาขาอย่างต่อเนื่องทั้งธุรกิจ Oil และ Non-Oil ทำให้มีสถานีบริการน้ำมัน PT รวม 2,149 สาขา ส่วนสาขาของธุรกิจ Non-Oil อยู่ที่ 1,526 สาขา แบ่งเป็น

สถานีบริการ Auto LPG 231 สาขา ร้านจำหน่ายก๊าซ LPG บรรจุถัง (Gas Shop) 253 สาขา ร้านกาแฟพันธุ์ไทย 511 สาขา ร้าน Coffee World 26 สาขา ร้านสะดวกซื้อ Max Mart 309 สาขา ศูนย์บริการซ่อมแซมและบำรุงรักษารถยนต์ Autobacs 45 สาขา ศูนย์เปลี่ยนถ่ายน้ำมัน Maxnitron Lube Change 52 สาขา จุดพักรถ Max Camp 64 สาขา และสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging) 35 สาขา และจะขยายสาขาเพิ่มเป็น 65 สถานี ภายในปี 2566

“ชัยวัฒน์” มั่นใจผู้บริโภคเข้าถึงแบรนด์บางจากมากขึ้น

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การควบรวมครั้งนี้จะทำให้บางจากมีสถานีบริการเพิ่มมากขึ้น และจะทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงแบรนด์บางจากได้ง่ายขึ้น โดยเมื่อทำธุรกรรมเสร็จจะเป็นการต่อยอดธุรกิจของกลุ่มบริษัทบางจากที่ให้ความสำคัญกับผู้บริโภค ชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยเมื่อเกิดการประหยัดต่อขนาด การลดต้นทุนทางธุรกรรม จะส่งต่อผลประโยชน์ให้กับผู้บริโภคด้วย

ทั้งนี้ ปัจจุบันบางจากมีปั๊มน้ำมัน 1,343 แห่ง เมื่อรวมกับปั๊มของเอสโซ่ 802 แห่ง จะทำให้บางจากมีปั๊มน้ำมันรวม 2,145 แห่ง มีจำนวนใกล้เคียงกับเบอร์ 1-2

นอกจากนี้ ในปี 2566 บางจากเตรียมงบลงทุน 45,000 ล้านบาท และแผนการลงทุนระยะ 8 ปี (2566-2573) เตรียมงบลงทุน 200,000 ล้านบาท โดยในกลุ่มธุรกิจการตลาดมีแผนขยายเครือข่ายสถานีบริการบางจากเป็น 1,900 แห่ง จากปัจจุบันที่มี 1,343 แห่ง และเมื่อรวมกับเอสโซ่กว่า 802 แห่ง จะเป็น 2,145 สาขา 

รวมทั้งจะพัฒนาร้านกาแฟอินทนิล 3,000 แห่งทั่วประเทศในปี 2573 จาก 1,030 แห่ง ตั้งเป้าหมายส่วนแบ่งการตลาดที่ 20% ในปี 2573 จากปัจจุบันอยู่ที่ 10.3% รวมทั้งลงทุน EV Charger สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จำนวน 180 สาถานี ครอบคลุม 57 จังหวัดทั่วประเทศไทย และความร่วมมือกับคู่ค้าและรายได้จากแฟรนไชส

ส่วนกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน บริษัทตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วน EBITDA ของกลุ่มธุรกิจเชื้อเพลิงนอกยานยนต์เป็น 60% ภายในปี 2573 และสัดส่วน EBITDA ของธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน 40% จากปีนี้มีกำลังการกลั่น 120,000 บาร์เรล/วัน ไม่มีการปิดซ่อมบำรุง