สงกรานต์คึกคัก เที่ยวไทยสะพัด 1.85 หมื่นล้าน

สงกรานต์คึกคัก ททท.คาดต่างชาติเที่ยวไทย 3 แสนคน เพิ่มขึ้น 525% ไทยเที่ยวไทย 3.8 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 1.85 หมื่นล้านบาท ภาคใต้ฮอตสุด แจงปัจจัยหนุนเที่ยวบินใหม่พุ่ง กิจกรรมพรึ่บ รับคนอั้นอยากเล่นน้ำสงกรานต์ คนไทยเฮโลเที่ยวต่างประเทศ

การเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาล สงกรานต์ 2566 นี้ ถือว่าคึกคักที่สุดในรอบ 3 ปี โดยบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการสนามบินรวม 6 แห่งของทอท. กว่า 2.37 ล้านคน เพิ่มขึ้น 137.48% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดว่าสงกรานต์นี้ จะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 18,530 ล้านบาท

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า บรรยากาศการท่องเที่ยวในช่วง สงกรานต์66 ถือว่าคึกคักมากที่สุดในรอบ 3 ปี ททท.คาดว่าสถานการณ์การเดินทางท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์ จะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว รวม 18,530 ล้านบาท

ททท.ประเมินว่าในช่วงวันที่ 13-16 เม.ย.นี้ คนไทยจะเดินทางเที่ยวในประเทศกว่า 3.8 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้หมุนเวียน 13,500 ล้านบาท เนื่องจากคนอัดอั้นไม่ได้ร่วมเล่นน้ำสงกรานต์มากว่า 3 ปี ประกอบกับททท.และเอกชน พร้อมใจจัดกิจกรรมและเทศกาลสงกรานต์กันอย่างยิ่งใหญ่ทั้งในเมืองท่องเที่ยวหลักและเมืองท่องเที่ยวรอง

ทั้งจากข้อมูลของ Google Trends พบว่าจังหวัดท่องเที่ยว 5 อันดับแรกที่คนไทยค้นหาสถานที่ท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์เป็นจังหวัดระยะใกล้ ได้แก่ นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา ระยอง สมุทรปราการ และกรุงเทพฯ ขณะที่เชียงใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ยอดนิยมสำหรับการเล่นสงกรานต์ กลับติดอยู่ในอันดับ 7 คาดว่าเป็นผลจาก PM 2.5

สำหรับอัตราการเข้าพักเฉลี่ยในช่วงสงกรานต์ พบว่า ภาคใต้มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยสูงสุด อยู่ที่ 80% เนื่องจากฤดูร้อนคนนิยมเที่ยวทะเล และส่วนหนึ่งมาจากโครงการ “เราเที่ยวด้วยกันเฟส 5” ทำให้โรงแรมที่พักมีราคาที่นักท่องเที่ยวไทยเอื้อมถึง ส่วนภาคเหนือ กลับมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยต่ำสุดอยู่ที่ 60% ซึ่งคาดว่าเกิดจากปัญหา PM 2.5 ที่ปกคลุมหลายจังหวัดตอนบนในภาคเหนือ

ในส่วนการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงสงกรานต์ระหว่างวันที่ 12-16 เม.ย.นี้ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 305,000 คน เพิ่มขึ้น 525% คิดเป็นสัดส่วน 58% ของจำนวนนักท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2562 และสร้างรายได้ราว 5,030 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 630% คิดเป็นสัดส่วน 60% ของรายได้ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2562

ส่วนใหญ่จะเป็นการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากตลาดระยะใกล้ จากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ และภูมิภาคอาเซียน โดยตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่นิยมเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ได้แก่ อินเดีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส และรัสเซีย

เนื่องจากมีการจองการเดินทางเข้าไทยล่วงหน้าเพิ่มสูงขึ้นในสัปดาห์ก่อนหน้าของเทศกาลสงกรานต์ ซึ่ง 5 อันดับของตลาดที่มียอดจองเข้าไทยมากที่สุด คือ สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และจีน

ภาพรวมของยอดจองบัตรโดยสารล่วงหน้าของนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงสรานต์ปี 2566 (เฉพาะสายการบินปกติ ไม่รวมการเดินทางโดยโลว์คอสต์ แอร์ไลน์ส และเช่าเหมาลำ) ถือว่าฟื้นตัวกลับมาราว 46% หรือเกือบครึ่งหนึ่งของปี 2562 รวมทั้งนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย และลาว ที่เดินทางข้ามแดนเข้ามาท่องเที่ยวร่วมกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์คึกคัก ในพื้นที่จังหวัดชายแดน อาทิ งานหาดใหญ่ มิดไนท์ สงกรานต์ ,งานอุดร สงกรานต์ เฟสติวัล

 

ปัจจัยที่สนับสนุนการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยในช่วงสงกรานต์ปีนี้ จาก 3 ปัจจัย ได้แก่

1.เที่ยวบินใหม่ช่วงสงกรานต์ โดยเที่ยวบินที่เริ่มทำการบิน ตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย.นี้ มีเที่ยวบินใหม่รวม 20 เที่ยวบิน หรือ 2,074 ที่นั่ง ส่วนใหญ่มาจาก จีน ไต้หวัน เวียดนาม และกัมพูชา รวมทั้งเที่ยวบินเช่าเหมาลำจาก รัสเซีย บินตรงเข้าภูเก็ต และอู่ตะเภา

2.การจัดกิจกรรมนานาชาติในช่วงสงกรานต์ ที่นอกจากรูปแบบการจัดเทศกาลสงกรานต์ตามประเพณีและวัฒนธรรมไทย ที่กระจายทั่วทุกพื้นที่ ยังเน้นการจัดงานตามแนวทาง “สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจ สู่สากล” เช่นการผนวกด้วยเทศกาลดนตรีแนว EDM (Electronic Dance Music) และแนวทาง Hip Hop จากศิลปินชื่อดังระดับนานาชาติ

3.ททท.สำนักงานต่างประเทศ จัดกิจกรรมกระตุ้นการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2566 อาทิ ททท.สำนักงานโฮจิมินห์ จัดกิจกรรม Laos Cross Border Promotion ไปยังอุดรธานี และหนองคาย

ททท.สำนักงานคุนหมิง ร่วมกับบริษัทนำเที่ยวพันธมิตร เสนอขายแพคเกจท่องเที่ยวแบบคาราวานมายังประเทศไทย ผ่านเข้ามาทางด่านชายแดนเชียงของ จ.เชียงราย ด่านท่าลี่ จ.เลย ด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว จ.หนองคาย และด่านบ่อเกลือ จ.น่าน

โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติจะใช้เวลาพำนักเฉลี่ยในไทยราว 3-4 วัน และมีการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อวัน ราว 5,380 บาท สูงกว่าปี 2562 ก่อนวิกฤตโควิด ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาสินค้าในภาพรวมที่ปรับระดับราคาสูงขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อของไทย