ม.หอการค้า แนะ ‘เพื่อไทย’ ประเมินความคุ้มค่าจ่ายเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท

ม.หอการค้า แนะ ‘เพื่อไทย’ ประเมินความคุ้มค่าจ่ายเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท

ม.หอการค้าไทย แนะเพื่อไทยประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ในการจัดงบ 5 แสนล้าน โอนผ่านระบบดิจิทัลให้ประชาชนคนละ 10,000 บาท

หลังจากที่พรรคเพื่อไทยประกาศนโยบายการให้เงินดิจิทัลแก่ผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไป คนละ 10,000 บาท เพื่อใช้จ่ายในช่วงระยะ 6 เดือน และเป็นการโอนให้ผ่านระบบดิจิทัล ทำให้หลายฝ่ายได้แสดงความเห็นถึงนโยบายนี้ในวงกว้าง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์ เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ถือเป็นนโยบายที่ได้รับความสนใจจากสังคมค่อนข้างมาก เช่นเดียวกับนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท โดยภาคประชาชน ธุรกิจ และนักวิชาการ และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ทั้งในด้านบวกและด้าน โดยนโยบายนี้มองได้ 2 มุม คือ

1.ในแง่ของหลักการหรือเทคนิคนั้นต้องพิจารณาว่า มีกฏหมาย หรือกฎระเบียบใดมาใช้รองรับกับการออกเงินดิจิทัลดังกล่าวและผูกพันกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือไม่ เพราะหากเป็นการเติมเงินเข้าในระบบเศรษฐกิจ ก็อาจจะอยู่ในกลไกการดูแลของ ธปท.

รวมทั้งต้องพิจารณาว่านโยบายนี้จะต้องมีการปรึกษาหารือหรือขอความเห็นจาก ธปท.ร่วมด้วยหรือไม่ โดยในส่วนนี้ไม่น่ากังวลมากถ้าทำก็สามารถออกกฎหมายหรือระเบียบรองรับได้

2.ความคุ้มค่าและความจำเป็น โดยนโยบายนี้จะใช้เงินประมาณ 500,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเม็ดเงินมาจากงบประมาณประจำปีหรืองบกลาง และอาจจะถูกมองว่ามีความคุ้มค่ามากกว่านโยบายอื่นหรือไม่ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เมื่อเทียบกับการใช้เงินเพื่อการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศในระยะยาวได้กับการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยงินดิจิทัลในระยะสั้น ซึ่งต้องชั่งน้ำหนักกันด้วย

นายธวรรธน์ กล่าวว่า สิ่งที่จะต้องจับตา คือ ในเดือน เม.ย.-พ.ค.2566 ซึ่งเป็นช่วงที่จะมีเม็ดเงินจากการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งลงไปในแต่ละพื้นที่ ประกอบกับในเดือนเม.ย. เป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งจะมีเม็ดเงินในการจับจ่ายใช้สอยมากเป็นพิเศษในช่วงนี้ ขณะเดียวกัน หลังจากการเลือกตั้งในเดือนพ.ค.ผ่านไปแล้ว จะต้องรอดูว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะผ่านไปด้วยดีหรือไม่ ไม่มีการเมืองนอกสภา รวมทั้งความชัดเจนของการมีรัฐบาลใหม่ ตลอดจนนโยบายต่างๆ ที่จะแถลงต่อสภา รวมถึงการขับเคลื่อนงบประมาณด้วย