นวัตกรรมอาหาร ทางรอด  ในวันที่โลกไม่เหมือนเดิม

COVID-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน คือ 2 เหตุการณ์สำคัญที่ตอกย้ำถึงความเปราะบางของสถานการณ์ความมั่นคงอาหารโลก (Global food security) อีกทั้งยังเป็นกระจกสะท้อนถึงความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดของห่วงโซ่การผลิตอาหารโลกได้อย่างชัดเจน

เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้วิกฤติความมั่นคงอาหารโลกเลวร้ายลง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศยากจนและประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าอาหาร

ขาดแคลนอาหารและราคาอาหารที่แพงขึ้นอย่างมาก วิกฤติที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความสำคัญของการพึ่งพาตนเองด้านอาหาร (Food sufficiency) เพื่อสร้างความมั่นคงของประเทศ และช่วยให้อยู่รอดท่ามกลางวิกฤติอาหารโลกที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ

อนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยมาปรับใช้ คือหนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายในการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ไม่ว่าจะเป็นการนำ Food tech เช่น เทคโนโลยีชีวภาพ หรือนาโนเทคโนโลยี เข้ามาช่วยพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการเพาะปลูกหรือแปรรูปอาหาร รวมไปถึงการใช้ประโยชน์จาก Big data และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อช่วยให้การวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ และการตัดสินใจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หรือแม้แต่การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาช่วยในการตรวจสอบย้อนกลับทางเดินของอาหารตลอดห่วงโซ่การผลิต เพื่อสร้างความโปร่งใสและความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและคู่ค้า รวมถึงการสนับสนุนให้มีสตาร์ทอัพและนักวิจัยด้านนวัตกรรมตั้งแต่การผลิตในระดับต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อเอื้อให้เกิดโมเดลทางธุรกิจใหม่ ๆ ซึ่งสอดรับกับห่วงโซ่อาหารแห่งอนาคต

ยิ่งไปกว่านั้น การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอาหารยังช่วยตอบโจทย์เทรนด์การบริโภคในตลาดโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นความต้องการบริโภคอาหารที่ทำหน้าที่บางอย่าง (Functional food) และส่งผลดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค การออกแบบอาหารเพื่อการบำบัดรักษาผู้ป่วยเฉพาะโรค (Medical food) หรือแม้แต่การผลิตอาหารนวัตกรรมทางเลือกใหม่ ๆ (Novel food) อย่างโปรตีนจากพืช หรือเนื้อสัตว์เทียม เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นกระแสที่กำลังได้รับความนิยมและเติบโตขึ้นต่อเนื่องในปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมอาหารอีกด้วย

สำหรับประเทศไทยแล้ว แน่นอนว่าหนึ่งในทางลัดในการเดินไปสู่เป้าหมายนี้ คือการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยเฉพาะทุนต่างชาติจากประเทศที่มีความก้าวล้ำด้านเทคโนโลยีการผลิตอาหารให้เข้ามาลงทุนหรือตั้งฐานการผลิตในไทย เพื่อหนุนให้การขับเคลื่อนกลยุทธ์ดังกล่าวก้าวไปสู่เป้าหมายได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งต้องอาศัยปัจจัยหนุนสำคัญจากการสร้างความเชื่อมั่นจากภาครัฐ รวมถึงการออกนโยบายสนับสนุนการลงทุนที่สอดคล้อง มีความชัดเจนและต่อเนื่องเป็นพื้นฐานสำคัญ

ขณะเดียวกันไทยควรอาศัยจังหวะและมองหาโอกาสจากกระแสการย้ายฐาน (Relocation) และขยายฐานการผลิต (Expansion) ของทุนต่างชาติเพื่อหาสมดุลของขั้วอำนาจใหม่ ในการดึงดูดผู้เล่นระดับโลกที่มีศักยภาพเข้ามาในไทย โดยอาศัยจุดขายจากความได้เปรียบของทำเลที่ตั้ง รวมทั้งความเหมาะสมทางกายภาพและความหลากหลาย

ทางชีวภาพ อันดับต้น ๆ ของโลก รวมถึงการมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ครบวงจร เพื่อก้าวไปสู่การเติบโตภายใต้เศรษฐกิจกระแสใหม่ (New economy) ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยนับจนถึงต้นปี 2023 ที่ผ่านมา มีการลงทุนสะสมในสาขาอุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหารใน EEC แล้วกว่า 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านนวัตกรรมทางการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อยกระดับคุณภาพและเพิ่มผลผลิตต่อไร่

ดังนั้น การปักหมุดให้ EEC เป็นศูนย์กลางในการบ่มเพาะนวัตกรรมด้านอาหารแห่งใหม่ของโลก เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมอัจฉริยะเพื่อมุ่งไปสู่อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต จึงไม่ใช่ “ทางเลือก” อีกต่อไป แต่เป็นทั้ง “คำตอบและทางรอด” สำหรับไทยท่ามกลางวิกฤติอาหารโลกที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ เพราะอาหารจะไม่ได้มีบทบาทเป็นแค่เพียง 1 ในปัจจัย 4 อีกต่อไป แต่ยังเปรียบเสมือนยุทธปัจจัยและหมากตัวสำคัญในการต่อรองและการเดินเกมในเวทีเศรษฐกิจโลกอีกด้วย