เปิดมาตรการสกัดเงินเฟ้อ 10 ประเทศ รับมืออย่างไร? ในยุคเงินเฟ้อสูง

เปิดมาตรการสกัดเงินเฟ้อ 10 ประเทศ รับมืออย่างไร? ในยุคเงินเฟ้อสูง

สนค. เปิดข้อมูลเงินเฟ้อ 10 ประเทศเดือน ก.พ.66 สาเหตุเงินเฟ้อพุ่งจากราคาพลังงาน งัด"ขึ้นดอกเบี้ย"เป็นเครื่องมือสกัดเงินเฟ้อ จับตาโอเปกลดกำลังการผลิตดันเงินเฟ้อสูงอีกรอบ

สำนักงานนโยบายและยุทศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดเผยข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภคหรืออัตราเงินเฟ้อเดือนก.พ.2566 ของ 10 ประเทศสำคัญ พร้อมกับมาตรการทางเศรษฐกิจที่นำมาสกัดเงินเฟ้อ พบว่า หลายประเทศเงินเฟ้ออยู่ในอัตราสูงแต่เริ่มชะลอตัวลง โดยมาตรการส่วนใหญ่ที่นำมาใช้เพื่อสกัดเงินเฟ้อไม่ให้สูงเกินไป ที่ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือสำคัญ คือ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย  

 

10 ประเทศกับมาตรการสกัดเงินเฟ้อ

1.สหรัฐ เงินเฟ้อเดือนก.พ.66 สูงขึ้น 6.0 %โดยมีสาเหตุสำคัญมาจาก ราคาอาหาร และสาธารณูปโภค แต่การขยายตัวถือว่าอยู่ในระดับต่ำ สุดนับตั้งแต่ ก.ย. 64 และการปรับขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ อาทิ หมวดอาหาร (ธัญพืชและเบเกอรี่ ผลิตภัณฑ์จากนม เนื้อสัตว์ ปลา ไข่ไก่) หมวดที่ไม่ใช่อาหาร (การขนส่งสาธารณะ ที่อยู่อาศัย รถยนต์) หมวดพลังงาน (ก๊าซธรรมชาติ ค่าไฟฟ้า )

ทำให้สหรัฐนำมามาตรการทางเศรษฐกิจที่สำคัญมาใช้เพื่อสกัดเงินเฟ้อ คือ ธนาคารกลางปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ไปสู่ระดับ 4.75 - 5.0%และคาดว่าจะมีการปรับดอกเบี้ยขึ้นอีกไม่กี่ครั้ง เนื่องจากสถาบันทางการเงินเริ่มได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และรัฐสภาผ่านร่างกฎหมายลดอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act)

เปิดมาตรการสกัดเงินเฟ้อ 10 ประเทศ รับมืออย่างไร? ในยุคเงินเฟ้อสูง

2.สหราชอาณาจักร เงินเฟ้อเดือนก.พ. 66 สูงขึ้น  10.4 % สาเหตุสำคัญมาจากราคาพลังงาน และอาหารและเครื่องดื่ม ที่ยังคงปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับ เดือนเดียวกันของปีก่อน การปรับขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ อาทิ หมวดพลังงาน (ค่าแก๊ส ค่าไฟฟ้า)อาหารและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ (ผลิตภัณฑ์จากนม น้ำตาล ชีส ไข่ สินค้ากลุ่มน้ำมันและไขมัน ผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องประกอบอาหาร)และค่าประกัน (ประกันอุบัติเหตุยานพาหนะ ประกันท่องเที่ยว)

ทำให้ธนาคารกลางปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ไปสู่ระดับ 4.25%เป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 11 ติดต่อกัน เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังคงสูงขึ้น และอังกฤษจะปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประมาณ 10% (ขึ้นอยู่กับอายุของแรงงาน) มีผลตั้งแต่เดือนเม.ย. 66

 

3.สาธารณรัฐประชาชนจีน เงินเฟ้อเดือนก.พ.66 สูงขึ้น  1.0% สาเหตุสำคัญมาจากอุปสงค์ที่ยังซบเซา แม้จีนจะเปิดประเทศเต็มรูปแบบ โดยมูลค่าการนำเข้า-ส่งออกของจีน รวมถึงภาคการผลิตปรับตัวลดลง การปรับขึ้นของราคาสินค้าเกือบทุกกลุ่ม โดยเฉพาะหมวดอาหาร (น้ำมันประกอบอาหาร ผลไม้สด ผลิตภัณฑ์จากนม เนื้อสุกร) และภาคบริการอื่น ๆ แต่เป็นการขยายตัวในระดับต่ำ

โดยธนาคารกลางจีนใช้มาตรการปรับลด Required Reserve Ratio (RRR) 0.25% ซึ่งทำให้ค่าเฉลี่ย RRR ลงมาอยู่ที่ 7.6% โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค. 66เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบธนาคาร และลดต้นทุนในการระดมทุนของภาคธุรกิจ รวมทั้งกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ภาครัฐมีนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ อาทิ การปรับกฎระเบียบเรื่องวีซ่า และการจัดงานต่าง ๆ

 

 

4.อินเดียเงินเฟ้อ เดือนก.พ.66 สูงขึ้น 6.44 % สาเหตุสำคัญมาจาก ราคาพลังงาน เครื่องนุ่งห่ม และอาหารที่สูงขึ้นกว่าเดือนเดียวกันปีก่อนโดยสูงกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่กำหนดไว้ที่ 6% ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ส่วนหนึ่งมาจากอุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้น การปรับขึ้นของราคาสินค้าทุกหมวด อาทิ หมวดเชื้อเพลิงและแสงสว่าง หมวดเสื้อผ้าและรองเท้า และหมวดอาหารและเครื่องดื่ม (เครื่องเทศ ธัญพืชและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ ของทานเล่น)  ซึ่งธนาคารกลางประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร (repo rate)ต่อเนื่องอีก 0.25% ไปสู่ระดับ 6.50% ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่ายังคงมี การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยต่อไป เนื่องจากเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง ธนาคารกลางมีแนวโน้มเข้าแทรกแซงค่าเงิน เพื่อไม่ให้เงินรูปีอ่อนค่ามากนักเมื่อเทียบกับดอลลาร์

5.เกาหลีใต้เงินเฟ้อ เดือนก.พ.66 สูงขึ้น 4.8 % มีสาเหตุสำคัญจาก ราคาสินค้าสูงขึ้นตามต้นทุน แต่มีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างชัดเจน เนื่องจากการหดตัวของภาคการส่งออก โดยเฉพาะในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น การปรับขึ้นของราคาสินค้าในทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดสาธารณูปโภค ร้านอาหารและโรงแรม สินค้าและบริการอื่น ๆ ของใช้และการบริการในบ้าน อาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เสื้อผ้าและรองเท้า  โดยมาตรการทางเศรษฐกิจที่นำมาใช้คือ ธนาคารกลางยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 3.50% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อเริ่มชะลอตัวลงแล้ว รวมถึงปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ 1.6% และ 3.5% ตามลำดับ ภาครัฐปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในไตรมาสแรกของปี 66 เฉลี่ยสูงขึ้น 9.5% ตามต้นทุนที่สูงขึ้น และคงราคาก๊าซไว้เท่าเดิม แต่อาจจะพิจารณาปรับขึ้นราคาในไตรมาส 2

 

เปิดมาตรการสกัดเงินเฟ้อ 10 ประเทศ รับมืออย่างไร? ในยุคเงินเฟ้อสูง

 

6.ญี่ปุ่นเงินเฟ้อ เดือนก.พ.66สูงขึ้น 3.3% โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากราคาสินค้าจำเป็นสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิต และอุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้น แม้เงินเฟ้อภาพรวมจะเริ่มชะลอตัวลง แต่ราคาอาหาร และเฟอร์นิเจอร์และของใช้ในบ้าน ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง การปรับขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ อาทิ เฟอร์นิเจอร์และของใช้ในบ้านหมวดอาหาร (ปลาและอาหารทะเล น้ำมันประกอบอาหาร ผลิตภัณฑ์จากนมและไข่) หมวดเสื้อผ้าและรองเท้า ทำให้นาคารกลางยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ -0.1% และขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรให้เคลื่อนไหวในช่วง -0.5% ถึง +0.5% ภาครัฐออกมาตรการอุดหนุนค่าไฟฟ้า และค่าแก๊ส ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือน ก.พ. – ส.ค. 66 และเดือน ก.ย. 66 จะลดเงินอุดหนุนลงครึ่งหนึ่ง ขณะที่สหภาพแรงงานเรียกร้องให้มีการปรับขึ้นค่าแรง โดยเฉลี่ย 4.49%

 

7.เวียดนามเงินเฟ้อ เดือนก.พ.66สูงขึ้น4.31 % มีสาเหตุสำคัญจากอุปสงค์ในประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งจากการส่งออก การลงทุนในประเทศ และการท่องเที่ยว แต่มีแนวโน้มชะลอตัวลงกว่าที่คาดตามอุปสงค์โลกที่ชะลอตัว การปรับขึ้นของราคาสินค้าส าคัญ อาทิ ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา หมวดที่อยู่อาศัยและวัสดุก่อสร้าง (ค่าแก๊ส ค่าไฟฟ้า)หมวดขนส่ง (น้ำมันเชื้อเพลิง ขนส่งสาธารณะ) ค่าบริการด้านวัฒนธรรม ความบันเทิง และการท่องเที่ยว ทำให้ ธนาคารกลางประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1% มาอยู่ที่ 3.5% และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในตลาดระหว่างธนาคารลง 1% สู่ระดับ 6% รวมทั้งลดเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้นในบางภาคส่วนเหลือ 5% จากเดิม 5.5% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ (Refinancing rate) คงเดิมที่ 6%

 

8.อินโดนีเซียเงินเฟ้อ เดือนก.พ.สูงขึ้น  5.47 % สาเหตุสำคัญมาจากราคาพลังงาน และอาหารที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลรอมฎอน การปรับขึ้นของราคาสินค้าเกือบทุกหมวด อาทิ หมวดการเดินทาง หมวดอาหาร ยาสูบ และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (ข้าว ยาสูบ ไข่ต้ม ปลาสด)หมวดของใช้ส่วนตัวและบริการอื่น ๆ (ทองค า) และหมวดบริการร้านอาหาร ทำให้ธนาคารกลางคงอัตราดอกเบี้ยที่ 5.75% เนื่องจากเชื่อว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ผ่านมาจะสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้ ภาครัฐปรับสัดส่วนการใช้น้ำมันปาล์มในภาคพลังงานเป็น B35 มีผลตั้งแต่เดือน ก.พ. 66 รวมถึงอินโดนีเซียมีปรากฏการณ์เอลนีโญที่ส่งผลให้อากาศแห้ง และส่งผลต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตร

 

9.มาเลเซียเงินเฟ้อ เดือนก.พ.สูงขึ้น3.7 % สาเหตุสำคัญมาจากอุปสงค์ในประเทศฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการท่องเที่ยว และการลงทุน ขณะที่การส่งออกยังขยายตัวแต่ในอัตราที่ต่ำกว่าคาดการณ์ การปรับขึ้นของราคาสินค้าเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดร้านอาหารและโรงแรม หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (เนื้อสัตว์ อาหารทานนอกบ้าน กลุ่มข้าว ขนมปัง ธัญพืช กลุ่มนม ชีส ไข่) และหมวดการขนส่ง โดยธนาคารกลางมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.75% เนื่องจาก ยังกังวลถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ และอุปสงค์โลกที่ชะลอตัว ภาครัฐกำหนดเพดานราคาสินค้าสำคัญ อาทิ เนื้อไก่ ไข่ และน้ำมันพืช รวมถึงนำเข้าไข่ไก่เพื่อช่วยบรรเทาภาวะขาดแคลนภายในประเทศ แต่มีแผนจะยกเลิกการควบคุมราคาสินค้าภายใน มิ.ย. 66

 

10.สิงคโปร์เงินเฟ้อ เดือนก.พ.66 สูงขึ้น 6.3 % สาเหตุสำคัญมาจาก ราคาสินค้ากลุ่มพลังงาน และอาหารที่ยังคงสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามราคาต้นทุนและการเก็บภาษีเพิ่มเติม รวมถึงราคาภาคบริการที่ปรับตัวสูงขึ้น ตามอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัว โดยเงินเฟ้อพื้นฐานปรับตัวสูงสุดในรอบ 14 ปี (5.5%) การปรับขึ้นของราคาสินค้าทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดการขนส่ง หมวดสาธารณูปโภค หมวดอาหาร (อาหารสด) และที่พักอาศัย (ค่าเช่าบ้าน) โดยทางการได้มีการภาษีสินค้าและบริการ (GST) เป็น 8% จากเดิม 7% ตั้งแต่เดือน ม.ค. 66 นอกจากนี้ จะเก็บภาษีสินค้านำเข้ามูลค่าไม่เกิน 400 S$ รวมทั้งสินค้านำเข้าที่ซื้อผ่านทางออนไลน์เพิ่มเติม โดยในเดือน ม.ค. 67 จะขึ้นภาษีอีกครั้งจาก 8% จาก 9% ภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่สูงขึ้น (the Assurance Package (AP) and the permanent GSTVoucher (GSTV) Scheme) มูลค่ากว่า 9.6 พันล้าน S$

 

ขณะที่เงินเฟ้อไทย เมื่อเทียบกับต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือนก.พ.2566) พบว่า เงินเฟ้อไทยต่ำเป็นอันดับที่ 20 จาก 134 เขตเศรษฐกิจที่มีการประกาศตัวเลข ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ดีกว่าหลายเขตเศรษฐกิจ อาทิ สหรัฐอเมริกา อิตาลี สหราชอาณาจักร เม็กซิโก อินเดีย และเกาหลีใต้ รวมถึงประเทศในอาเซียน ทั้งลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อน่าจะชะลอลงต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามคงต้องจับตาสถานการณ์ราคาพลังงานหลังกลุ่มโอเปกปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันลง 1.15 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือนพ.ค.นี้ไปจนถึงสิ้นปี ส่งผลให้ราคาน้ำมันดีดตัวขึ้นสูง  จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของโลกกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกหรือไม่ เพราะราคาพลังงานถือเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เงินเฟ้อในหลายประเทศสำคัญพุ่งสูงขึ้น