'LOLE' เกณฑ์โอกาสเกิดไฟฟ้าดับ ดัชนีชี้วัดความมั่นคงระบบไฟฟ้าไทย ตอบโจทย์กระแสโลก

'LOLE' เกณฑ์โอกาสเกิดไฟฟ้าดับ ดัชนีชี้วัดความมั่นคงระบบไฟฟ้าไทย ตอบโจทย์กระแสโลก

ปัจจุบัน "ไฟฟ้า" เปรียบเสมือนปัจจัยที่ 5 สำหรับทุกคนเสียแล้ว หากไม่มีไฟฟ้าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศคงเป็นเรื่องลำบาก รวมถึงการใช้ชีวิตของประชาชนก็จะยากขึ้น

หลังวิกฤติครั้งใหญ่ผ่านพ้น แนวโน้มเศรษฐกิจประเทศไทยเริ่มฟื้นตัวและกำลังเติบโตทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องมีโรดแมปในการสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้าและพลังงานสำหรับอนาคต โดยเฉพาะการมีแผนการผลิตไฟฟ้าสำรองที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการใช้งาน เพื่อให้ภาคประชาชนและประเทศไทยสามารถใช้ไฟฟ้าได้อย่างเสถียร เดินหน้าได้อย่างไม่สะดุด โดยเฉพาะในภาคเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนประเทศนั้น หากเกิดวิกฤติที่ไม่คาดฝันเพียงเสี้ยววินาทีเดียว เช่น ไฟดับ หรือไฟไม่เพียงพอใช้งาน อาจสร้างความสูญเสียให้กับเศรษฐกิจประเทศเกินกว่าที่คาดคิด

ในฐานะหน่วยงานทางนโยบายพลังงานของประเทศทั้งปัจจุบันและอนาคต นอกจากทำหน้าที่เสนอแนะในเรื่องของนโยบายของพลังงานทั้งหมดของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หรือพลังงานหมุนเวียนแล้ว อีกหนึ่งภารกิจสำคัญของ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ สนพ. ยังต้องมีบทบาทขับเคลื่อนในเรื่องของ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ Power Development Plan (PDP) ด้วย

ตลอดระยะเกือบสามสิบปีที่ผ่านมา ทาง สนพ. ยังร่วมกับหน่วยงานด้านพลังงาน ทั้งอุตสาหกรรมการไฟฟ้า และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน รวมถึงหน่วยงานทางด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนรองรับปริมาณการใช้ไฟฟ้าในอนาคตของประเทศ ที่เรียกว่าแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP โดยมีหน้าที่วางแผนในการกำหนดแหล่งผลิตไฟฟ้าให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งจะมีการพยากรณ์ล่วงหน้าให้สอดคล้องกับนโยบายในภาพรวม

ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้กำหนดเกณฑ์ที่ใช้วัดความมั่นคงของระบบไฟฟ้า เรียกว่า "เกณฑ์กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง" หรือ Reserve Margin เพื่อเป็นตัวกำหนดให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าเพียงพอกับความต้องการไฟฟ้าสูงสุด (Peak) รวมถึงสามารถรับมือกับเหตุการความขัดข้องที่ไม่ได้คาดหมายได้ แต่เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2564 ตามที่มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้เห็นชอบให้ใช้ ดัชนีโอกาสเกิดไฟฟ้าดับ (Loss of Load Expectation : LOLE) แทนเกณฑ์กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่จะเริ่มมากขึ้นในอนาคต และเพื่อให้การประเมินและการวางแผนความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศมีความแม่นยำมากขึ้น

  • โลกเปลี่ยน พฤติกรรมเปลี่ยน ระบบไฟฟ้าเปลี่ยน (ตาม)

วัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ได้สรุปภาพรวมสถานการณ์ การใช้ไฟฟ้า ในปี 2565 ที่ผ่านมาว่า ภาพรวมมีความเติบโตสูงขึ้นประมาณ 3.5% เทียบกับปี 2564 ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

"จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลง ส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจในประเทศไทยมีการฟื้นตัวมากขึ้นจากหลายปัจจัย ตั้งแต่การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในปี 2565 ที่มีการเติบโตเพิ่มขึ้น 2.5% รวมถึงภาคธุรกิจการบริการที่เติบโตสูงขึ้น โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว อาทิ โรงแรม อพาร์ตเมนต์ ภัตตาคาร และร้านอาหาร ซึ่งในปีที่ผ่านมามีจำนวนนักท่องเที่ยวใช้บริการประมาณ 7,000,000 คน โตสูงขึ้นจากปี 2564 ประมาณ 1,500% ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ภาคการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยในภาพรวมเติบโตมากขึ้น" วัฒนพงษ์ กล่าว

แนวโน้ม การใช้ไฟฟ้า ไม่เพียงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในภาคธุรกิจเท่านั้น ในส่วนของการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนที่แม้ปัจจุบัน ผู้คนจะเริ่มกลับไปทำงานในสำนักงานแล้ว แต่หากมองในอนาคตอันใกล้ ก็มีแนวโน้มใช้งานไฟฟ้าในครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน

"ปกติการใช้ไฟฟ้าจะสอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งได้มีการคาดเดาไว้ว่าปี 2566 มีการคาดการณ์ไว้ว่า GDP จะอยู่ในกรอบที่ประมาณ 3% เพิ่มจากในปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 2.6% ดังนั้น การใช้ไฟฟ้าจะสอดคล้องกับ GDP โดยปกติจะเพิ่มมากกว่าเล็กน้อย ซึ่งในปีนี้ หากมองในแง่ของการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของปี 2565 จะอยู่ที่ประมาณ 33,000 เมกะวัตต์ในปี 2566 คาดการณ์ว่าการใช้ไฟฟ้าสูงสุดจะมีประมาณ 34,000 เมกะวัตต์"

  • จัดหาไฟฟ้า เพื่อชาติมั่นคง

เดิมแผนพัฒนาพลังไฟฟ้าประเทศไทยมีการคาดการณ์ Reserve Margin อยู่ที่ 15-25% ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 เนื่องจากในตอนนั้น ระบบไฟฟ้า และเศรษฐกิจในประเทศไทยยังเติบโตไม่มาก แต่จากแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าของคนไทยในปัจจุบัน มีพฤติกรรม รูปแบบ หรือลักษณะการใช้ไฟฟ้าเปลี่ยนไปจากอดีต ทำให้ไม่สามารถวิเคราะห์ หรือวางแผนกำลังการผลิตไฟฟ้าด้วยการใช้เกณฑ์กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองแต่เพียงอย่างเดียวได้อีกต่อไป

ดังนั้น สำหรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าในปี พ.ศ. 2566-2580 กระทรวงพลังงาน จึงมีการนำเกณฑ์วัดที่เรียกว่า "เกณฑ์ในการเกิดโอกาสไฟฟ้าดับ" หรือที่เราเรียกว่า LOLE มาประกอบกับเกณฑ์การวัดกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง หรือ Reserve Margin ควบคู่กัน

วัฒนพงษ์ อธิบายว่า เกณฑ์ Reserve Margin นั้นมีความเหมาะสมใช้เป็นเกณฑ์การวัดในอดีตที่มีการผลิตด้วยโรงไฟฟ้าที่เป็นฟอสซิลจากก๊าซธรรมชาติ หรือถ่านหินเป็นหลัก แต่ข้อเสียคือ สามารถวัดได้เพียงจุดเดียวในปีหนึ่ง และเป็นตัวแทนการสำรองไฟฟ้าจุดเดียว ซึ่งที่ผ่านมาอยู่กำหนดวัดในช่วงฤดูร้อนระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคมเป็นตัวแทนคาดการณ์ทั้งประเทศ แต่หากวิเคราะห์สถานการณ์ใช้ไฟปัจจุบันไม่สามารถทำได้ เนื่องจากประเภทโรงไฟฟ้าในอนาคตยังจะมีเรื่องของพลังงานหมุนเวียน เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมที่มีความไม่เสถียร เพราะฉะนั้นเกณฑ์การสำรองไฟฟ้า จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง โดยไม่สามารถใช้การวัดกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองในจุดเดียว แต่ต้องเป็นการวัดทุกช่วงเวลาแทน จึงเป็นที่มาของการนำเกณฑ์ ที่เรียกว่า "LOLE" มาประกอบการคาดการณ์

  • รู้จัก LOLE คืออะไร

LOLE หรือภาษาไทยเรียกว่า ดัชนีโอกาสเกิดไฟฟ้าดับ (Loss of Load Expectation) เป็นการพิจารณาในเชิงเทคนิคและเชิงวิชาการ ซึ่งได้รับการยอมรับจากนานาประเทศในระดับสากล เช่น สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ที่มีการใช้เกณฑ์ดังกล่าว ซึ่งสามารถวัดได้ทุกช่วงเวลา ทำให้เกิดความมั่นใจในเรื่องความมั่นคงของระบบไฟฟ้า

LOLE เป็นเกณฑ์ที่ใช้วัดระดับความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในการวางแผนเชิงความน่าจะเป็น (Probabilistic Planning) โดยค่า LOLE คือค่าดัชนีที่แสดงถึงจำนวนวันที่คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะสูงกว่าความสามารถในการผลิตไฟฟ้าในรอบ 1 ปี ซึ่งจะคำนวณจากผลรวมของค่าความน่าจะเป็นที่จะเกิดไฟฟ้าดับในแต่ละชั่วโมงตลอด 1 ปี โดยจะคำนึงถึงความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นในการทำงานของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและการเปลี่ยนแปลงของความต้องการใช้ไฟฟ้าเป็นหลัก

วิธีการตามแนวทาง LOLE ได้รับการยอมรับและนำมาใช้กันแพร่หลายตั้งแต่ปี ค.ศ.1980 (พ.ศ. 2523) ในหลายๆ ประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา กำหนดเกณฑ์ LOLE ไม่เกิน 0.1 วัน/ปี เกาหลีใต้ กำหนดเกณฑ์ LOLE ไม่เกิน 0.3 วัน/ปี หรือมาเลเซีย กำหนดเกณฑ์ LOLE ไม่เกิน 1 วัน/ปี

เนื่องจากปัจจุบันประชาชนมีการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่เรียกว่า Electrification เช่นสมาร์ทโฟน แทบเล็ต เป็นต้น รวมถึงกระแสความนิยมรถยนต์ไฟฟ้า EV ตลอดจนการใช้ชีวิตประจำวันในรูปแบบ Work from anywhere ทำให้พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของภาคประชาชนเปลี่ยนไป หรือคาดเดาพฤติกรรมไม่ได้เหมือนในอดีต นอกจากนี้ พลังงานหมุนเวียน และ พลังงานสะอาด เริ่มเป็นที่นิยมในประเทศไทยมากขึ้น ฉะน้ันเกณฑ์การวัด LOLE จึงตอบโจทย์ เพราะคือการคำนวณความน่าจะเป็นโดยผ่านโมเดลหรือแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ทุกชั่วโมงหรือทุกวันในหนึ่งปี เพื่อหาโอกาสที่จะเกิดไฟฟ้าดับ

"ดัชนีโอกาสเกิดไฟฟ้าดับเป็นผลการศึกษาที่ทาง สนพ. ได้ร่วมกับทางสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ศึกษามาตั้งแต่ปี 2561 สภาพการคือนำสถิติข้อมูลไฟฟ้าที่ดับในอดีตมารวมกับเรื่องของกำลังการผลิตไฟฟ้าหรือโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน และอนาคตในแผน PDP (Power Development Plan) มาคำนวณทำการเพิ่มประสิทธิภาพว่า การที่เราสามารถที่จะลดเรื่องของไฟดับได้ลงไป 1 หน่วย เมื่อเทียบกับต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ แบบไหนที่จะได้ผลลัพธ์สูงสุด หรือเกิดประโยชน์ต่อภาพรวมของประเทศมากที่สุด ก็จะได้เป็นตัวเลขที่ออกมา ประมาณ 0.7 วัน/ปี" ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน อธิบาย

\'LOLE\' เกณฑ์โอกาสเกิดไฟฟ้าดับ ดัชนีชี้วัดความมั่นคงระบบไฟฟ้าไทย ตอบโจทย์กระแสโลก

  • ยืนยันไม่ว่าจะใช้เกณฑ์ไหน ประชาชนก็ไม่กระทบ

จากข้อสงสัยกรณีที่ว่า หากมีการทำแผนสำรองของ PDP เพิ่มขึ้นมาน้ัน จะส่งผลกระทบต่อการขึ้นค่าไฟ หรือไม่ รศ.ดร.กุลยศ อุดมวงศ์เสรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายถึงความแตกต่างกันของเกณฑ์วัดไฟฟ้าทั้งสอง โดย "เกณฑ์กำลังไฟฟ้าผลิตสำรอง" จะดูว่าระบบผลิตไฟฟ้า ณ ช่วงเวลาที่ประเทศไทยใช้ไฟสูงที่สุด เรามีโรงไฟฟ้าสำรองเพียงพอหรือไม่ ส่วน "เกณฑ์ในการเกิดโอกาสไฟฟ้าดับ" หรือ LOLE (Loss of Load Expectation) ข้อดีก็คือ สามารถใช้วัดความมั่นคงของระบบไฟฟ้าได้ลอดทั้งปี และวัดทุกช่วงเวลาได้ และสามารถนำเกณฑ์ดังกล่าวมาคิดตามหลักการทางวิศวกรรม สามารถอธิบายได้ว่าโรงไฟฟ้ามั่นคงหรือไม่ เมื่อเทียบเป็นโอกาสการเกิดไฟฟ้าดับ

พร้อมยืนยันว่า การเปลี่ยนมาใช้เกณฑ์วัดความมั่นคงของระบบไฟฟ้า แบบ LOLE สำหรับในภาคประชาชน จะไม่ค่อยได้รับผลกระทบมากนัก เพราะประเทศไทยได้มีการใช้เกณฑ์วัดความมั่นคงของระบบไฟฟ้าทั้ง "เกณฑ์กำลังไฟฟ้าผลิตสำรอง" และ "เกณฑ์ในการเกิดโอกาสไฟฟ้าดับ LOLE" ควบคู่กันในการวางแผนระบบไฟฟ้าในประเทศมานานกว่า 10 ปีแล้ว

สอดคล้องกับที่ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เอ่ยขยายความว่า ปัจจุบันประชาชนบางส่วนอาจได้รับข้อมูลที่ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน ในความเป็นจริง กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองไม่ได้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาเพิ่มค่าไฟสูงขึ้น แต่ปัจจัยหลักที่ทำให้ค่าไฟเพิ่มขึ้นมาจาก "ต้นทุนเชื้อเพลิง" ซึ่งเป็นสัดส่วนถึงประมาณ 60% ในการพิจารณาขึ้นค่าไฟ แต่จะต้องมีการพิจารณาองค์ประกอบอื่นร่วมด้วย เช่น ค่าก่อสร้าง โรงไฟฟ้า ระบบส่ง ระบบจำหน่ายต่างๆ ซึ่งในปี 2565 ที่ผ่านมา ราคาของก๊าซธรรมชาติเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน เนื่องจากก๊าซในอ่าวไทยที่มีราคาถูก ได้มีการเปลี่ยนผ่านหรือหายไป ทำให้ต้องมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG แต่จากผลกระทบกรณีพิพาทระหว่างรัสเซียกับยูเครน ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว LNG ที่นำเข้ามาในประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ส่งผลให้ต้นทุนไฟฟ้าในประเทศมีราคาแพง

"ในการผลิตไฟฟ้าปัจจุบันของประเทศไทยมีก๊าซธรรมชาติประมาณ 50-60% ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อราคาผันผวนบวกกับค่าเงินบาทไทยที่อ่อนลงส่งผลทำให้การซื้อเชื้อเพลิงมีราคาแพง รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น นโยบายภาครัฐในการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง การสนับสนุนเรื่องพลังงานหมุนเวียนซึ่งมีราคาสูง เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคาอาจจะสูงขึ้น" วัฒนพงษ์ ให้ข้อมูล

ต่อคำถามที่ว่า หากกรณีวันใดวันหนึ่ง ประเทศไทยไม่สามารถผลิตกำลังไฟฟ้าได้เพียงพอต่อปริมาณการใช้งานจะเป็นอย่างไร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เผยว่า ในทางระบบไฟฟ้า หากเกิดไฟดับจะมีมูลค่าความเสียหาย ภาษาอังกฤษเรียกว่า Outage Cost ซึ่ง สนพ. เคยมีการศึกษา โดยร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ ตั้งแต่ปี 2555 ว่า หากเกิดไฟดับ 1 คร้ังจะมีมูลค่าความเสียหายประมาณ 90,000 บาทต่อครั้ง หรือประมาณเกือบ 90 บาท ต่อหน่วย ซึ่งปัจจุบันเศรษฐกิจประเทศไทยมีการเติบโตมากขึ้นจากปี 2555 มูลค่าความเสียหายย่อมจะมีมูลค่าเยอะมากขึ้นตาม

ในภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมการส่งออก ซึ่งต้องใช้ความแม่นยำในด้านการผลิตขั้นสูง และมีมูลค่าการเสียหายที่เยอะมาก ดังนั้น ระบบไฟฟ้าในประเทศไทยควรจะมีความเสถียรในการรองรับ รวมถึงในอนาคตประเทศไทยจะมีนักลงทุนเข้ามา โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งเป็นเรื่องของอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ EIC (Economic Intelligence Center) อุตสาหกรรมดาต้าเซ็นเตอร์ (Data Center) เทคโนโลยีสะอาด CT (Clean Technology) ซึ่งนักลงทุนในกลุ่มนี้ ให้ความสำคัญในเรื่องของระบบไฟฟ้า เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนมาใช้เกณฑ์การวัด LOLE จะตอบโจทย์ ช่วยลดอัตราความสูญเสียโอกาสการเกิดไฟดับ

ในแง่ความเพียงพอต่อการใช้งาน ผู้อำนวยการ สนพ. ชี้แจงว่า ปัจจุบันจำนวนโรงงานไฟฟ้าหรือกำลังการไฟฟ้าผลิตสำรองในประเทศไทยมีความสอดคล้องกับค่า LOLE ที่ทาง สนพ.คาดการณ์ไว้

"ปัจจุบันตัวเลขค่า LOLE ในประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์ 0.7 ซึ่งอาจจะต่ำกว่าสหรัฐอเมริกาหรือเกาหลีใต้ แต่ก็สูงกว่าในบางประเทศ ซึ่งเกณฑ์ค่า 0.7 เป็นเกณฑ์ที่เหมาะสมกับประเทศไทย สามารถใช้ได้ยาวเลย เพราะเป็นตัวเลขที่ผ่านการศึกษามาอย่างดี มีความสอดคล้องกับการลงทุนของระบบจำหน่ายที่จะมีเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยสามารถการันตีได้ว่าประเทศไทยจะมีกำลังไฟฟ้าใช้เพียงพอและไม่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมทั้งประเทศ สามารถที่จะตอบสนองความต้อง การใช้ไฟฟ้า ของประเทศ ทั้งในแง่ประสิทธิภาพและคุณภาพในการบริการทุกชั่วโมงและตลอดทั้งปีอย่างแน่นอน" วัฒนพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย