สรท.คาดส่งออกไทยไตรมาสแรกติดลบ 10 % ผลพวงเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

สรท.คาดส่งออกไทยไตรมาสแรกติดลบ 10 % ผลพวงเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ฉุดส่งออกไทยติดลบต่อเนื่อง คาดไตรมาสแรกติดลบ 10 % ไตรมาส 2 ติดลบ 5 % ยังคงเป้าส่งออกทั้งปี 1- 2 %

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)  เปิดเผยว่า  การส่งออกของไทยเจอแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกหลายประการ ส่งผลให้การส่งออกของไทยติดลบต่อเนื่อง โดยเดือนก.พ. ติดลบ 4.7 % มูลค่า 22,376.3 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสรท.คาดการณ์การณ์ว่าในเดือนมี.ค.ก็ยังคงติดลบต่อเนื่อง คาดว่าจะมีมูลค่า 23,000-23,500 ล้านดอลลาร์ซึ่งต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน (มี.ค. 65) ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 28,800 ล้านดอลลาร์

"จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว  และการที่เศรษฐกิจของจีนฟื้นตัวช้าจาการที่คาดการณ์ไว้ สรท.คาดว่าการส่งออก ไตรมาส 1 จะติดลบ 10 % และในไตรมาส 2 ก็คาดว่าการส่งออกยังติดลบราว 5% แต่หลังนี้ การส่งออกของไทยน่าจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้ จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า เช่น จีน สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป"นายชัยชาญ กล่าว

สรท.คาดส่งออกไทยไตรมาสแรกติดลบ 10 % ผลพวงเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

สรท. คงคาดการณ์การส่งออกรวมทั้งปี 2566 เติบโตระหว่าง 1-2% โดยมีปัจจัยปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2566 ได้แก่  ความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุน และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์  การแบ่งขั้วทางการเมืองและเศรษฐกิจ ที่ก่อให้เกิดสงครามทางการค้า เทคโนโลยี มาตรการกีดกันทางการค้า และ ต้นทุนราคาพลังงานโลกมีความผันผวนตามสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า และภาวะเงินเฟ้อ

ปัญหาการขาดสภาพคล่องของสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และยุโรปที่หากลุกลามอาจทำให้เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยสูงขึ้น สะท้อนความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภคมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้อุปสงค์การนำเข้าสินค้าปรับลดลงต่อเนื่อง

รวมทั้งดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ PMI ในเดือน มี.ค. ที่หดตัวรุนแรง โดยเฉพาะกิจกรรมภาคการผลิตในกลุ่มยูโรโซน ขณะที่ PMI ของสหรัฐ หดตัวน้อยลงในเดือนมี.ค.เป็นผลจากปัญหาอุปทานค่อนข้างกระจุกตัว สินค้าคงคลังยังคงทรงตัวในระดับสูง

ทั้งนี้ สรท. มีข้อเสนอแนะที่สำคัญประกอบด้วย 1. ขอให้ภาครัฐช่วยพิจารณาควบคุมหรือปรับขึ้นค่าไฟฟ้า (FT) ทั้งในภาคการผลิตและภาคครัวเรือนให้อยู่ระดับที่เหมาะสมเพื่ออำนวยความสะดวกและลดภาระด้านต้นทุนให้ผู้ประกอบการสามารถรักษาระดับราคาสินค้าให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดและกำลังซื้อของผู้บริโภค

2. ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้มีความผันผวนเกินกว่าประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย รวมถึงทบทวนการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และเพิ่ม Local Currency เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ส่งออกและนำเข้าของไทย

3.พิจารณามาตรการสนับสนุนเพื่ออุดหนุนการใช้พลังงานทางเลือก เช่น มาตรการลดหย่อนภาษี ในการเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar), พลังงานหมุนเวียน (Renewable) และพลังงานชีวมวล (Biomass) เป็นต้น