กรมชลฯ คุมเข้มแผนใช้น้ำโค้งสุดท้ายก่อนสิ้นสุดฤดูแล้ง 66

กรมชลฯ คุมเข้มแผนใช้น้ำโค้งสุดท้ายก่อนสิ้นสุดฤดูแล้ง 66

กรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำโค้งสุดท้ายก่อนสิ้นสุดฤดูแล้งปี 2566 ยึด 10 มาตรการรองรับฤดูแล้ง คุมแผนใช้น้ำอย่างประณีต ยืนยันน้ำกินน้ำใช้เพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน มีความห่วงใยต่อสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูแล้งนี้ สั่งกำชับทุกหน่วยงานในสังกัดกรมชลประทานทั่วประเทศ บริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามแผนจัดสรรน้ำที่กำหนดไว้ พร้อมปฏิบัติตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้งอย่างเคร่งครัด ตลอดจนวางแผนบริหารความเสี่ยง รองรับสถานการณ์ภัยแล้งในบางพื้นที่ไว้ล่วงหน้า เน้นย้ำน้ำอุปโภคบริโภคต้องเพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้

 

กรมชลฯ คุมเข้มแผนใช้น้ำโค้งสุดท้ายก่อนสิ้นสุดฤดูแล้ง 66 กรมชลฯ คุมเข้มแผนใช้น้ำโค้งสุดท้ายก่อนสิ้นสุดฤดูแล้ง 66

สถานการณ์น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน (2 เม.ย.66) มีปริมาณน้ำรวมกัน 48,375 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) หรือ 63% ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 24,433 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 14,864 ล้าน ลบ.ม. หรือ 60% ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 8,168 ล้าน ลบ.ม.

ในส่วนของการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ได้มีการวางแผนไว้ทั้งประเทศประมาณ 10.42 ล้านไร่ ปัจจุบัน (2 เม.ย.66) เพาะปลูกไปแล้ว 10.14 ล้านไร่ หรือ 97% ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาวางแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรังไว้ 6.64 ล้านไร่ เพาะปลูกไปแล้ว 6.37 ล้านไร่ หรือ 96% ของแผนฯ

 

 

“ภาพรวมปริมาณน้ำในปัจจุบัน ยังคงเป็นไปตามแผนจัดสรรน้ำที่กรมชลประทานได้กำหนดไว้ และยืนยันว่า น้ำจะเพียงพอสนับสนุนทุกกิจกรรมของการใช้น้ำไปจนตลอดฤดูแล้งนี้ เพราะได้มีการบริหารจัดการน้ำอย่างประณีต มีการจัดรอบเวรการส่งน้ำ การปรับปฏิทินการเพาะปลูก เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวได้ก่อนฤดูน้ำหลาก ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียของผลผลิตทางเกษตร รวมถึงการวางแผนบริหารความเสี่ยงล่วงหน้า เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งในบางพื้นที่ที่อาจเกิดขึ้นได้ จึงอยากขอความร่วมมือทุกภาคส่วน ร่วมแรงร่วมใจช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัด และปฏิบัติตามแผนการจัดสรรน้ำอย่างรัดกุม เพื่อให้มีน้ำเพียงพอใช้ไปจนถึงต้นฤดูฝนและลดความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต”