ส่องความคืบหน้า 3 ท่าเรือสำราญ จ่อเปิดบริการรับนักท่องเที่ยวปี 2571

ส่องความคืบหน้า 3 ท่าเรือสำราญ จ่อเปิดบริการรับนักท่องเที่ยวปี 2571

“กรมเจ้าท่า” เปิดความคืบหน้า 3 โครงการพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) สมุย – พัทยา - ภูเก็ต คาดทยอยเปิดให้บริการปี 2571 มั่นใจหนุนธุรกิจการท่องเที่ยว หากพัฒนาให้เป็นท่าเรือต้นทางโอกาสเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 7 - 8 เท่า

กรมเจ้าท่าเปิดข้อมูลความคืบหน้าพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) หลังจากที่ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในเส้นทางท่องเที่ยวทางทะเลระหว่างประเทศ ซึ่งมีเรือครูสจอดแวะ ทั้งฝั่งทะเลอ่าวไทย และ อันดามันตลอดทั้งปี โดยในปี 2561 พบว่ามีเรือครูสเข้ามาแวะพักจอด ในประเทศไทยสูงเป็นลำดับที่ 3 ของภูมิภาคเอเชีย จำนวน 581 เที่ยวต่อปี อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 14 %

โดยมีท่าเทียบเรือหลักที่รองรับ ประกอบด้วย

1.ท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบัง จำนวน 149 เที่ยวต่อปี

  • นักท่องเที่ยวใช้จ่ายเงินประมาณ 7,000 บาทต่อคนต่อวัน

2.ท่าเรือเกาะสมุย จำนวน 89 เที่ยวต่อปี

  • นักท่องเที่ยวใช้จ่ายเงินประมาณ 4,200 บาทต่อคนต่อวัน

3.ท่าเรือภูเก็ต จำนวน 219 เที่ยวต่อปี

  • นักท่องเที่ยวใช้จ่ายเงินประมาณ 6,400 บาทต่อคนต่อวัน

จากโอกาสทางการเติบโตของการท่องเที่ยวทางทะเลผ่านเรือสำราญขนาดใหญ่ ในปี 2558 กรมเจ้าท่าจึงได้เริ่มว่าจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ และได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2563 - 2566 ภายใต้แผนงานบูรณาการสร้างรายได้ จากการท่องเที่ยว วงเงินรวม 156.15 ล้านบาท เพื่อพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ จำนวน 3 โครงการ ได้แก่

1. โครงการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) ที่ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี

ปัจจุบันมีความก้าวหน้าของผลการศึกษาแล้ว  80% เพื่อเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในการพัฒนาท่าเรือ ขณะนี้คณะกรรมการตรวจรับร่างหลักการของโครงการ การร่วมลงทุน และร่างรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนแล้ว อยู่ระหว่างที่ปรึกษาจัดทำรายงานหลักการฉบับสมบูรณ์

ส่องความคืบหน้า 3 ท่าเรือสำราญ จ่อเปิดบริการรับนักท่องเที่ยวปี 2571

2. โครงการศึกษาวางแผนแม่บทเพื่อพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ และสำรวจออกแบบท่าเรือสำราญขนาดใหญ่บริเวณชายฝั่งอันดามัน

โดยทำการศึกษาแนวทางปรับปรุงท่าเรือน้ำลึกภูเก็ตให้สามารถรองรับเรือครูสได้ และจัดทำแผนแม่บทการปรับปรุงท่าเรือชายฝั่งเพื่อรองรับผู้โดยสารจากเรือครูสที่เข้ามาจอดทิ้งสมอ (Landing pier) ซึ่งผลการศึกษาขณะนี้ก้าวหน้า 50% อยู่ระหว่างที่ปรึกษาแก้ไขรายงานศึกษาความเหมาะสมฉบับสมบูรณ์ กำหนดแล้วเสร็จส่งกรมเจ้าท่าภายใน เม.ย. 2566

หลังจากนั้นจะดำเนินการจัดทำร่างรายงานการสำรวจออกแบบ ร่างรายงานสรุปสำหรับผู้บริหาร ร่างแบบรายละเอียดเบื้องต้น และร่างการประมาณราคา กำหนดแล้วเสร็จภายใน พ.ค. 2566 และจะดำเนินการจัดทำรายงานการวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และหลักการของโครงการร่วมลงทุนฉบับสมบูรณ์ กำหนดแล้วเสร็จภายใน ก.ค. 2566

ส่องความคืบหน้า 3 ท่าเรือสำราญ จ่อเปิดบริการรับนักท่องเที่ยวปี 2571

3. โครงการศึกษาสำรวจออกแบบ ท่าเรือต้นทาง (Home Port) สำหรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) บริเวณอ่าวไทยตอนบน

โดยได้ข้อสรุปที่เหมาะสมในการพัฒนาท่าเรือบริเวณแหลมบาลีฮาย เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ท่าเรือเป็นลักษณะผสมผสาน (Hybrid) คือเป็นท่าเรือต้นทาง (Home port) รองรับเรือขนส่งผู้โดยสารไม่เกิน 1,500 คน และเป็นท่าเรือแวะพัก ( Port of call) สำหรับรองรับเรือขนส่งผู้โดยสาร 3,500 - 4,000 คน ปัจจุบันผลการศึกษาก้าวหน้า 60% ซึ่งมีรูปแบบการลงทุนเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนพัฒนาโครงการ

ปัจจุบันอยู่ระหว่างที่ปรึกษาแก้ไขร่างรายงานการสำรวจออกแบบ ร่างรายงานสรุปสำหรับผู้บริหาร ร่างแบบรายละเอียดเบื้องต้น และร่างการประมาณราคา กำหนดแล้วเสร็จส่งกรมเจ้าท่าภายใน เม.ย. 2566 และจะดำเนินการจัดทำรายงานการวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และหลักการของโครงการร่วมลงทุนฉบับสมบูรณ์ กำหนดแล้วเสร็จภายใน มิ.ย. 2566 เพื่อนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาให้ความเห็นชอบ และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจพิจารณาต่อไป

ส่องความคืบหน้า 3 ท่าเรือสำราญ จ่อเปิดบริการรับนักท่องเที่ยวปี 2571 ส่องความคืบหน้า 3 ท่าเรือสำราญ จ่อเปิดบริการรับนักท่องเที่ยวปี 2571

ทั้งนี้ 3 โครงการพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่มีขั้นตอนการดำเนินงาน ได้แก่

  • ตั้งงบประมาณ พ.ศ. 2567-2568 จัดทำรายงาน EHIA (ระยะเวลา 540 วัน)
  • ตั้งงบประมาณ พ.ศ.2568-2569 คัดเลือกผู้ร่วมทุน (ระยะเวลา 360 วัน)
  • ตั้งงบประมาณ พ.ศ.2569-2571 เริ่มก่อสร้าง (ระยะเวลา 900 วัน)
  • แผนเปิดให้บริการท่าเรือภายในปี 2571

ทั้งนี้ การพัฒนาท่าเรือรองรับเรือครูส จะช่วยสนับสนุนธุรกิจเรือครูสในประเทศไทยได้อย่างครอบคลุมเส้นทางทั้งสองฝั่งทะเล เป็นการสร้างความสามารถในการแข่งขันเพิ่มสัดส่วนรายได้ด้านการท่องเที่ยว เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของประเทศ กระตุ้นรายได้การท่องเที่ยวเรือสำราญทางน้ำ เพิ่มการจดทะเบียนเรือท่องเที่ยวทางน้ำ อีกทั้งเพิ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ผ่านด่านทางน้ำอีกด้วย

โดยในแง่เศรษฐกิจเรือครูส 1 ลำ มีนักท่องเที่ยวประมาณ 3,000 คน จากผลการสำรวจพบว่านักท่องเที่ยวใช้จ่ายประมาณ 7,000 บาทต่อคนต่อวัน หมายความว่า เรือครูส 1 ลำ นำเม็ดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจ ประมาณ 21 ล้านบาทต่อวันต่อลำ หากเรือครูสแวะเข้าเทียบท่าจำนวนมากขึ้น และจอดท่องเที่ยวในเมืองไทยนานขึ้น จะสร้างเม็ดเงินด้านการท่องเที่ยวมากขึ้นไปด้วย อีกทั้งในกรณีที่ท่าเทียบเรือได้รับการพัฒนาให้เป็นท่าเรือต้นทาง (Home Port) มูลค่าทางเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นจากที่ได้กล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 7 - 8 เท่า

ส่องความคืบหน้า 3 ท่าเรือสำราญ จ่อเปิดบริการรับนักท่องเที่ยวปี 2571