ส่งออกไทยโคม่า พาณิชย์ หวังครึ่งปีหลังฟื้น

ส่งออกไทยโคม่า พาณิชย์ หวังครึ่งปีหลังฟื้น

เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ฉุดส่งออกไทยทรุดครึ่งปีแรก หวังครึ่งปีหลังพลิกสถานการณ์กลับมาเป็นบวก ทำยอดตัวเลขส่งออกทั้งปี 66 ขยายตัว 1-2 % สนค.ชี้ 5 กลุ่มสินค้าไทยช่วยพยุงส่งออกไทย

กระทรวงพาณิชย์ ได้รายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยหรือการส่งออกไทยเดือนก.พ.2566 มีมูลค่า 22,376.3 ล้านดอลลาร์ ลดลง 4.7% การนำเข้ามีมูลค่า 23,489.7 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 1.1%  ขาดดุลการค้า 1,113.4 ล้านดอลลาร์ รวม 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.) การส่งออกมีมูลค่า 42,625.8 ล้านดอลลาร์ ลด 4.6%  นำเข้ามูลค่า 48,388.8 ล้านดอลลาร์ เพิ่ม 3.3%  ขาดดุลการค้า 5,763.1 ล้านดอลลาร์

การส่งออกในเดือนก.พ.2566 ที่ขยายตัวติดลบ 4.7% เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน นับจากเดือนต.ค.2565 ที่ลบ 4.4% พ.ย.2565 ลบ 6% ธ.ค.2565 ลบ 14.6% และม.ค.2566 ลบ 4.5%  และยังคาดว่า การส่งออกในเดือนมี.ค.จะติดลบคาดว่าจะลบประมาณ 8% 

ปัจจัยหลักที่ทำให้การส่งออกของไทยยังติดลบต่อเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว กระทบต่อความต้องการสินค้า โดยกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้ายังคงหดตัว รวมทั้งสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน (โดยเฉพาะเม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์) และทองคำ มีการปรับลดลงจากปัจจัยราคาเป็นหลัก และจากฐานที่สูงในปีก่อนหน้า

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การส่งออกในไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) ตัวเลขน่าจะจะยังติดลบ เพราะผู้นำเข้ามีสต๊อกค้างอยู่ ไตรมาส 2 (เม.ย.-มิ.ย.) ก็จะยังลบอยู่ แต่เชื่อว่าครึ่งปีหลัง จะเริ่มกลับมาเป็นบวกมากขึ้น โดยกรมฯ จะเร่งกิจกรรมส่งเสริมและผลักดันการส่งออกต่อเนื่อง ซึ่งจนถึงขณะนี้ทำไปแล้วประมาณ 25% และตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 จะมีงานแสดงสินค้าใหญ่ ๆ มากขึ้น และทูตพาณิชย์ในต่างประเทศก็จะเริ่มกิจกรรมตั้งแต่ไตรมาส 2 และ 3 ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกในระยะต่อไป ทั้งนี้ เห็นได้ชัดจากตลาดเป้าหมายที่มีการเพิ่มกิจกรรม เช่น ตะวันออกกลาง ยอดส่งออกเพิ่มได้สูงมาก

ส่งออกไทยโคม่า พาณิชย์ หวังครึ่งปีหลังฟื้น

 

ยอดตัวเลขการส่งออกที่ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 สอดคล้องกับความเห็นของ นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวมาตั้งแต่เดือนก.ย.2565 ทำให้การส่งออกตั้งแต่ต.ค.2565 จนถึงม.ค.2566 ชะลอตัวลงตาม และคาดว่าจะลดลงต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 1 และจะทำให้การส่งออกไทยในไตรมาส 1  ติดลบต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 2 ส่วนไตรมาส 3 และ 4 หรือในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่า การส่งออกของไทยจะพลิกกลับมาเป็นบวก หากไม่มีปัจจัยลบอื่นเกิดขึ้นในระหว่างทาง

ขณะที่นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า ประเมินไตรมาสแรก จะติดลบสูง เพราะฐานปีก่อนสูง ที่ไตรมาสแรกบวก 14.7% โดยคาดว่า การส่งออกไตรมาสแรกจะหดตัวประมาณ 6-8%หลังไตรมาสแรกตัวเลขจะเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆและจะพลิกกลับมาเป็นบวกประมาณช่วงกลางปีเป็นต้นไป แต่จะดีขึ้นเรื่อง ๆ และจะพลิกกลับมาเป็นบวกประมาณกลางปีเป็นต้นไป และเชื่อว่าเป้าหมาย 1-2% จะทำได้ โดยตัวเลขเฉลี่ยต่อเดือนต้องอยู่ที่ 24,700 ล้านดอลลาร์

สนค. คาดว่ากลุ่มสินค้าที่จะมีส่วนสำคัญในการผลักดันการส่งออกปี 2566 เป็นสินค้าเกษตรและอาหารที่ได้ปัจจัยหนุนจากกระแสความมั่นคงทางอาหารและความต้องการสินค้าจำเป็นในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว สินค้าที่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งสินค้าที่ได้รับอานิสงส์จาก ข้อจำกัดด้านอุปทานการผลิตที่ผ่อนคลายลง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ตลอดจนสินค้าที่สอดรับกับ Megatrend ของโลก ไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม การเข้าสู่ยุคดิจิทัล และพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใส่ใจดูแลสุขภาพ

โดยสินค้าส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัว ได้แก่ 1. กลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ เครื่องดื่ม ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และไอศกรีม 2. กลุ่มสินค้าที่ได้รับอานิสงส์จากการท่องเที่ยว เช่น เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า และเครื่องใช้สำหรับการเดินทาง 3. กลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด (แผงโซลาร์)

4. กลุ่มสินค้าเกี่ยวกับการแพทย์และสุขภาพ อาทิ เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ เลนส์แว่นสายตา ตามเทรนด์สุขภาพ และสังคมผู้สูงอายุ และ 5. สินค้ากลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน ที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องหลังจากปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์คลี่คลายลง ทำให้ผู้ส่งออกในอุตสาหกรรมรถยนต์สามารถเร่งการผลิตและการส่งออกตามคำสั่งซื้อได้ต่อเนื่อง

สถานการณ์การส่งออกในช่วงครึ่งหลัง หากไม่มีปัจจัยลบอย่างอื่นเพิ่มเติม ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องด้านการส่งออกของไทย ต่างคาดหวังว่า ในครึ่งปีหลังการส่งออกไทยจะฟื้นกลับมาเป็นบวกได้บ้าง เพื่อทำให้ทั้งปีส่งออกไทยทำได้ตามเป้าที่วางไว้