พาณิชย์ลุ้นครึ่งปีหลังส่งออกฟื้น รับไตรมาสแรกติดลบหนัก6-8%

พาณิชย์ลุ้นครึ่งปีหลังส่งออกฟื้น รับไตรมาสแรกติดลบหนัก6-8%

ลุยกิจกรรมโปรโมท คงเป้าหมายทั้งปีโต 1-2% พาณิชย์ คงเป้าหมายส่งออกปี 66 โต 1-2% ชี้ครึ่งปีหลังฟื้น เร่งลุยกลยุทธ์โปรโมททั้งสินค้า-ตลาดใหม่ รับไตรมาสแรกติดลบหนัก 6-8% ขณะก.พ. ติดลบ 4.7% ตลาดสำคัญติดลบหลักทั้งสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น

     การส่งออกเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย คิดเป็นสัดส่วนถึง 70% ดังนั้นหากภาคการส่งออกไม่มีแรงขับเคลื่อนก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบตามไปด้วย ซึ่งปี 2566 การค้าระหว่างประเทศกำลังเผชิญความท้าทายรอบด้าน 

          นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงภาวะการค้าระหว่างประเทศเดือนก.พ. 2566 

โดยการส่งออก มีมูลค่า 22,376.3 ล้านดอลลาร์ หดตัว 4.7%  เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 23,489.7 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว1.1%  ดุลการค้าขาดดุล 1,113.4 ล้านดอลลาร์ 

ส่วนการส่งออก 2 เดือนแรก(ม.ค.-ก.พ.) ปี 2566 การส่งออก มีมูลค่า 42,625.8 ล้านดอลลาร์ หดตัว 4.6%  เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 48,388.8 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 3.3 %ดุลการค้า 2 เดือนแรกของปี 2566 ขาดดุล 5,763.1 ล้านดอลลาร์ 

“หักน้ำมัน สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัวเพียง0.05%  เนื่องจากฐานที่สูงในปีก่อนหน้า และแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว กระทบต่อความต้องการสินค้า” 

2 เดือนขาดดุลแล้ว2แสนล้านบาท

โดยกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้ายังคงหดตัว รวมทั้งสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน (โดยเฉพาะเม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์) และทองคำ มีการปรับลดลงจากปัจจัยราคาเป็นหลัก อย่างไรก็ดีการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรกลับมาขยายตัวในรอบ 5 เดือน และสินค้าอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนต่อการส่งออกสูงยังคงขยายตัวได้ดี ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) และเครื่องปรับอากาศ แม้ว่าการส่งออกไปตลาดหลัก (ได้แก่ สหรัฐ จีน ญี่ปุ่น) ยังคงหดตัว แต่การส่งออกไปตลาดเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญในปี 2566 เติบโตดี โดยเฉพาะตลาดตะวันออกกลาง และอินเดีย อีกทั้งการส่งออกไปฮ่องกงที่เป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทย กลับมาขยายตัวในรอบ 10 เดือน

สำหรับมูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนก.พ. 2566 การส่งออก มีมูลค่า 730,123 ล้านบาท หดตัว 5.3%  การนำเข้า มีมูลค่า 776,425 ล้านบาท ขยายตัว 0.5% ดุลการค้า ขาดดุล 46,301 ล้านบาท ภาพรวม 2 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออก มีมูลค่า 1,430,250 ล้านบาท หดตัว 3.2% การนำเข้า มีมูลค่า 1,647,855 ล้านบาท ขยายตัว 5.0% ดุลการค้า 2 เดือนแรกของปี 2566 ขาดดุล 217,605 ล้านบาท

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)  กล่าวว่า สำหรับปัจจัยที่ทำให้การส่งออกของไทยมีมูลค่าลดลง เป็นผลมาจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าชะลอตัว ค่าครองชีพ และอัตราเงินเฟ้อของประเทศคู่ค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค และคาดว่ามูลค่าการส่งออกของไทยในครึ่งปีแรกจะลดลงต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขการส่งออกของสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.)และประเทศผู้ส่งออก ที่มีมูลค่าการส่งออกในเดือน ก.พ. ลดลงเช่นกัน เช่นไต้หวัน ลดลง 17 % ญี่ปุ่น ลดลง7.7 % เกาหลีใต้ลดลง7.5 % ในส่วนของไทยที่ลดลง 4.7 % เมื่อพิจารณาสถิติการส่งออกในเดือน ก.พ. ของ 5 ปีย้อนหลังยังเห็นว่าการส่งออกในปี2566 นี้สูงกว่าเดือนก.พ. ปี 2565 ถึง 1,000 ล้านดอลาร์ 

ไตรมาส 1 ยังโคม่าติดลบ 6-8% 

อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกของไทยจะกระเตื้องขึ้นในครึ่งปีหลังโดยจะเริ่มเห็นภาพตั้งแต่ไตรมาสที่3 เป็นต้นไป ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะเร่งประชาสัมพันธ์เชิงการค้าผ่านการจัดการแฟร์ในต่างประเทศ ซึ่งจะเริ่มมีมากขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป ทั้งตลาดตะวันออกกลาง CLMV โดยทั้งปียังคาดว่าว่ามูลค่าการส่งออกของไทยจะเป็นไปตามเป้าหมาย ขยายตัวที่ 1-2 % 

“การส่งออกไตรมาสแรกจะหดตัวประมาณ6-8%หลังไตรมาสแรกตัวเลขจะเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆและจะพลิกกลับมาเป็นบวกประมาณช่วงกลางปีเป็นต้นไป หากจะให้ถึงเป้าหมายการส่งออกที่กระทรวงเคยกำหนดไว้ที่1-2% ตัวเลขส่งออก10เดือนที่เหลือเฉลี่ยจะอยู่ที่24,700ล้าน ดอลลาร์ต่อเดือน”

แนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า ช่วงครึ่งปีแรกการส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง ประเทศคู่ค้าหลักยังคงเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องจะชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดีคาดว่าช่วงหลังของปีการส่งออกจะปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากแรงกดดันเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงตามแนวโน้มราคาพลังงาน และปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลกที่ทยอยคลี่คลาย นอกจากนี้ แรงหนุนจากการเปิดประเทศของจีน และการฟื้นตัวของภาคบริการและการท่องเที่ยวจะช่วยหนุนอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าในระยะต่อไป