‘วราวุธ’ กางโรดแมป Green Gold เปลี่ยนโลก!

เมื่อวานนี้ ‘กรุงเทพธุรกิจ’ ได้เปิดเวทีสัมมนา Go Green 2023 : Business Goal to the Next Era โดยผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาสีเขียว ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วราวุธ ศิลปอาชา ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ Go Green : Thailand Roadmap ว่า ประเทศไทยได้แสดงเจตจำนงต่อนานาประเทศถึงเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ.2050 หรือ พ.ศ.2593 เพื่อกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ.2065 หรือ พ.ศ.2608 โดยการดำเนินการได้จัดทำแผนระยะสั้นและแผนระยะยาว 

ภายในปี 2573 ทุกภาคส่วนต้องลดก๊าซเรือนกระจกที่มีอยู่ 40% ขณะนี้ได้ทบทวนแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายสาขาในอีก 2 ปีข้างหน้า ประกอบด้วย สาขาพลังงานและภาคขนส่ง ตั้งเป้าจะลดการปล่อยก๊าซเพิ่มจาก 153 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เป็น 216 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ส่วนภาคอุตสาหกรรมคงที่ 2.25 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า, ภาคของเสีย 1.5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ลดเพิ่มเป็น 2.6 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และภาคเกษตรตั้งเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

สำหรับการพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิตในไทย ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้จัดทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกโดยสมัครใจตามมาตรฐานของไทย หรือ T-VER โดยมีผู้สมัครเข้าร่วมแล้วเป็นจำนวน 141 โครงการ คิดเป็นปริมาณ 14.14 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า 

รวมทั้งขณะนี้การซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยมีการซื้อขายไปประมาณ 2 ล้านกว่าตันคาร์บอน มูลค่า 100 กว่าล้านบาท ซึ่งถ้าเทียบจะตกตันละเกือบ 75 บาท แต่ในอนาคตอันใกล้จะขึ้นเป็นตันละ 100 กว่าบาท หรือ 1,000 กว่าบาท
นอกจากนี้ ได้มีการตั้งกระดานซื้อขายคาร์บอน Carbon Credit Exchange Platform ซึ่งในโครงการนี้จะมีนิติบุคคลเข้าร่วมประมาณ 37 บัญชี และมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ประมาณ 3,000 กว่าตัน

ใช้ดาวเทียมหนุนคาร์บอนเครดิต

กระทรวงทรัพย์ฯ ได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA จัดทำระบบประเมินคาร์บอนเครดิตโดยใช้ดาวเทียม พบว่ามีเทคโนโลยีใหม่ที่เรียกกว่า Flux-Tower ที่จะสามารถมอนิเตอร์การเกิดคาร์บอนได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งหากต้องการมอนิเตอร์พื้นที่ทั่วประเทศ 323 ล้านไร่ จะต้องมีการลงทุนติดตั้งเสา 1,000 กว่าต้น โดยมีต้นทุนต้นละ 7-8 ล้านบาท เท่ากับจะใช้เงินลงทุน 7,000-8,000 ล้านบาท ก็จะสามารถมอนิเตอร์ได้แบบเรียลไทม์ได้

“เรากำลังก้าวออกจาก Black Gold สู่ Green Gold หรือคาร์บอนเครดิต ได้เวลานำคาร์บอนเครดิตเปลี่ยนโลกใบนี้ ต้องมีการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ และอีก 20-30 ปี จะสู่ Green Hydrogen”