'อีเอ' ชี้ ไทยยังต้องอาศัยฟอสซิลในการผลิตไฟเพื่อรักษาความมั่นคงด้านพลังงาน

'อีเอ' ชี้ ไทยยังต้องอาศัยฟอสซิลในการผลิตไฟเพื่อรักษาความมั่นคงด้านพลังงาน

"อีเอ" ย้ำ ประเทศจะใช้พลังงานสะอาด 100% เป็นไปได้ยาก ยังต้องอาศัยฟอสซิลเพื่อความมั่นคง ระบุชัด การจะเป็นกรีนทำแล้วต้องยั่งยืน ถ้าทำแล้วเป็นแค่กลไกสุดท้ายก็ต้องทำใหม่

นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA กล่าวบรรยายในงานสัมมนา GO GREEN 2023 Business Goal to the Next Era หัวข้อ "Business Big Move ขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียว" จัดโดย "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ในเรื่องของคาร์บอนถือเป็นกระแส บริษัทถือเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่จึงต้องช่วยกันผลักดัน ซึ่งการเริ่มต้นดำเนินการจึงมีต้นทุน การจะให้เอสเอ็มอีเริ่มคงเป็นไปได้ยาก องค์กรที่มีขนาดใหญ่มีโอกาสมากกว่าองค์กรขนาดเล็ก ทั้งนี้ บริษัทได้ร่วมกับสถาบันการศึกษาทั้งใน และต่างประเทศ  รวมถึงพาร์ตเนอร์ทั้งใน และต่างประเทศ จึงได้รู้ว่าเทรนด์ทั่วโลกไปถึงไหน

นอกจากนี้ บริษัท มีกำลังทั้งด้านการเงิน และคน บริษัทมีโปรดักต์หลายตัว การศึกษาว่ากรีนโปรดักต์ไหนจะมา จากการที่บริษัท เป็นองค์กรใหญ่มีความน่าเชื่อถือ มีเครดิตจะมีโอกาสขยายธุรกิจ โดยเฉพาะในเรื่องของเทรนด์ธุรกิจอีวี  โลจิสติกส์ ในฐานะบริษัทใหญ่ที่ตั้งในไทยช่วยดันซัพพลายเชน และสร้างความเข้าใจว่าต้องเปลี่ยนเป็นอีวีภายในกี่ปี และกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากไม่เปลี่ยนตัวลูกค้าจะโดนในเรื่องของคาร์บอนด้วย และทำอะไรได้บ้างเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งกระบวนการสำคัญคือ ลดการใช้พลังงาน และเอาพลังงานสะอาดมาใช้

EA "เรามีธุรกิจใหญ่ 3 ส่วน คือ ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน คือ โซลาร์ และลม ธุรกิจปาล์ม ซึ่งเมื่อก่อนทำไบโอดีเซล มาขยายตลาดกรีนโปรดักต์มากขึ้น อาทิ วัสดุ PCM มาเป็นส่วนผสมของสร้างอาคารหรือเสื้อผ้าเพื่อช่วยควบคุมอุณหภูมิ รวมถึง ไบโอเจ็ตเพราะอุตสาหกรรมการบินปล่อยคาร์บอนเยอะ โดยปกติใช้น้ำมันราว 300 ล้านตันต่อปี จึงเป็นตลาดใหญ่ และธุรกิจที่ 3 คือ ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ตั้งแต่แบตเตอรี่  สถานีชาร์จ และทุกอันที่เป็นหัวเครื่องจักรมาเป็นไฟฟ้า เป็นต้น"

อย่างไรก็ตาม การดำเนินธุรกิจในไทย ยังเป็นโอกาสให้บริษัทเป็นฮับ เพราะมีธุรกิจใหม่เกิดขึ้น ส่งผลให้บริษัท สามารถช่วยทำให้เกิดการจ้างงาน ถ่ายทอดองค์ความรู้ และขายเทคโนโลยีได้ ต้องหาทางให้เจอโดยแทรกเข้าไปให้ตรงจุด หากมองโอกาสในส่วนของสถานีชาร์จไฟฟ้า บริษัทได้เข้าไปติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าให้กับโรงพยาบาลรามา 578 จุด ยกระดับอุตสาหกรรมอีวี จากยอดจดทะเบียนรถอีวีช่วงที่ผ่านมามีการเติบโตหลายหมื่นคัน อนาคตจะเป็นแสนคัน จึงต้องดูว่าคอนโดฯ หรือโรงแรม ควรติดตั้งกี่จุด เช่น รถอีวี 600 คัน จะต้องติด 50 จุด ซึ่งวันนี้เพียงพอ แต่ปีหน้าอาจจะไม่พอ         

นอกจากนี้ ในส่วนของการรีไซเคิลแบตเตอรี่ นั้น สามารถนำกลับมาใช้เก็บไฟได้เสมือนกับมือถือที่มีระยะเวลาใช้งาน แต่อาจจะมีการเสื่อมสภาพ เมื่อนำกลับมาดำเนินการใหม่จะใช้ได้อีก 70-80% ซึ่งต้องหาวิธีว่าจะทำวิธีไหน ซึ่งวันนี้ยังมีเวลา ซึ่งจุดแข็งบริษัท คือ มีโรงงานแบตเตอรี่ จึงต้องบริหารจัดการเพื่อไม่ให้เป็นภาระของสังคม พร้อมกับสร้างมูลค่าต่อได้จากการดึงกลับมาใช้ใหม่ได้

สำหรับการใช้พลังงานในประเทศไทย หากจะให้ดีกว่านั้น พลังงานที่เอากลับมาควรเป็นพลังงานทดแทน จะทำอย่างไรให้เป็นพลังงานทดแทน 100% แต่ความเป็นจริงเป็นไปไม่ได้ เพราะมีการใช้สายส่งร่วมกัน สุดท้ายก็ยังต้องมีฟอสซิลเพื่อความมั่นคง ต้องแก้ด้วยวิธีอื่น การจะเป็นกรีนซึ่งทำแล้วต้องยั่งยืน ถ้าทำแล้วเป็นแค่กลไกก็ต้องมาทำใหม่

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์