สสว. จับมือ UN Women หนุนโอกาส สร้างความเสมอภาคผู้ประกอบการสตรี

สสว. จับมือ UN Women หนุนโอกาส สร้างความเสมอภาคผู้ประกอบการสตรี

สสว. เอ็มโอยู UN Women หวังสร้างโอกาสผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มสตรี เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและเอกชน ตามเทรนด์ธุรกิจโลกที่มุ่งส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและความหลากหลาย เร่งจัดทำนิยามที่ชัดเจนและจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกอบการสตรีในไทย

นายวีระพงษ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า ในบริบทของเวทีโลกได้มีการกำหนดเป้าหมายในการสร้างความยั่งยืน ทั้งในเรื่องสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ (gender equality) และความหลากหลาย (diversified) โดยบริษัทขนาดใหญ่มีการกำหนดนโยบายให้โควต้าสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างที่เปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กลุ่มสตรี และกลุ่มเปราะบาง ได้เข้าร่วม จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะสร้างการเติบโตทางธุรกิจ

ทั้งนี้ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง สสว. และองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาขาติ (UN Women) จะร่วมมือกันใน 3 เรื่องหลัก ประกอบไปด้วย 1. การศึกษางานวิจัยร่วมกัน และการทบทวนนโยบายที่สร้างสภาพแวดล้อมที่สร้างโอกาสความเท่าเทียม ให้กลุ่มผู้ประกอบการสตรีสามารถเติบโตและเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐและเอกชน

2.การเชื่อมโยงผู้ประกอบการสตรี องค์กรที่ใส่ใจเรื่องความเสมอภาคทางเพศ เข้ากับผู้ซื้อที่เป็นองค์กรรัฐและเอกชนรายใหญ่

3.ส่งเสริมการขยายโอกาสทางการตลาดและการสร้างเครือข่ายซัพพลายเออร์ที่มีความหลากหลาย โดยเริ่มต้นจากการส่งเสริมกิจกรรมภายใต้โครงการ WE RISE Together ของ UN Women ในประเทศไทยและเวียดนาม

นางสาววิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ สสว. กล่าวว่า ปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่มีการนิยามคำจำกัดความของผู้ประกอบการสตรีอย่างชัดเจน รวมทั้งยังไม่มีการจัดเก็บข้อมูลเชิงลึกในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ทั้งในแง่ของผู้ประกอบการ การจ้างงาน และสัดส่วนผู้ถือหุ้น ซึ่งการขาดกลไกดังกล่าวทำให้ไม่สามารถระบุปัญหา ว่าเกิดการกีดกันทางเพศในการดำเนินธุรกิจหรือไม่ และเป็นอุปสรรคต่อการกำหนดสิทธิเพื่อผู้ประกอบการสตรี รวมถึงการจะใช้ประโยชน์จากความร่วมมือในระดับสากลในการส่งเสริมเอสเอ็มอีที่กำหนดเป้าหมายเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการสตรี

"โดยความร่วมมือนี้ จะเป็นการสร้างฐานข้อมูลของสัดส่วนผู้ประกอบการสตรีในไทยและนำไปสู่การออกแบบมาตรการที่ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมให้เกิดความเท่าเทียม รวมทั้งที่มีการเป็นโอกาสให้กลุ่มผู้ประกอบการสตรีได้เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างของบริษัทใหญ่"

นางสาวซาร่าห์ นิบบ์ส รักษาการผู้อำนวยการภูมิภาค สำนักงาน UN Women ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก กล่าวว่า จากการศึกษาข้อมูลผู้ประกอบการทั่วโลก พบว่าปัจจุบันมีธุรกิจที่ผู้หญิงเป็นเจ้าของกิจการสามารถเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กรค์ขนาดใหญ่เพียงแค่ 1% โดยส่วนใหญ่แล้วยังพบว่าผู้ประกอบการสตรีจะประกอบธุรกิจบริการและมีมูลค่าธุรกิจค่อนข้างต่ำ 

นอกจากนี้ ในงานวิจัยในระดับสากลระบุว่า บรรทัดฐานของสังคมที่กำหนดบทบาทหน้าที่ของเพศหญิงในการดูแลครอบครัวและลูกทำให้เกิดอคติต่อผู้ประกอบการที่เป็นผู้หญิง ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจในการประเมินปล่อยกู้ของธนาคาร

"ความร่วมมือในวันนี้ถือเป็นการเปิดประตูไปสู่การค้าที่ยุติธรรม โอกาสทางเศรษฐกิจ และนวัตกรรมที่ไม่เพียงจะช่วยอุดช่องว่างทางเศรษฐกิจ แต่ยังไปลดความเหลื่อมล้ำทางเพศ" สสว. ร่วมมือ UN Women