เปิดงบฯ อุดหนุนราคาพลังงาน 4 ปี 'สุพัฒนพงษ์' เผยใช้เงินกว่า 4.2 แสนล้าน 

เปิดงบฯ อุดหนุนราคาพลังงาน 4 ปี 'สุพัฒนพงษ์' เผยใช้เงินกว่า 4.2 แสนล้าน 

กระทรวงพลังงาน เปิดตัวเลขงบประมาณอุดหนุนราคาพลังงาน ตั้งแต่ปี 2563-2566 'สุพัฒนพงษ์' ใช้เงินตรึงราคา "น้ำมัน-ไฟฟ้า-LPG-NGV" กว่า 4.2 แสนล้าน 

Key Points

  • ราคาพลังงานผันผวน 4 ปี "สุพัฒนพงษ์" อัดงบกว่า 4.2 ล้านบาท ช่วยตรึงราคา
  • เทกว่า 1 แสนล้าน พยุงราคาผู้ใช้น้ำมันดีเซลกว่า 12.34 ล้านราย
  • 'กองทุนน้ำมัน' ควักจ่ายกว่า 4 หมื่นล้าน หนุนราคาก๊าซหุงต้มภาพครัวเรือน
  • 'ปตท.' ใช้งบกว่า 13,217 ล้าน ช่วยเหลือด้านราคาแก่ผู้ใช้รถ NGV กว่า 3 แสนคน
  • กฟผ. แบกภาระค่า Ft กว่า 1 แสนล้าน ช่วยอุ้มค่าไฟประชาชนกว่า 21.47 ล้านราย

นายพิสุทธิ์ เพียรมนกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน บริหารจัดการมาตรการดูแลประชาชน โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศไทยและทั่วโลกต่างต้องประสบกับวิกฤติโควิต-19 ตลอดจนสงครามทางการเมือง ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานที่เป็นหัวใจหลักของเศรษฐกิจมีความผันผวนอย่างหนัก

ทั้งนี้ มาตรการพลังงานที่ภาครัฐช่วยเหลือประชาชนปี 2563-ม.ค. 2566 โดยใช้งบประมาณช่วยเหลือด้านพลังงานรวม 420,850 ล้านบาท

โดยปี 2563 จำนวน 4.1 หมื่นล้านบาท ปี 2564 จำนวน 7.8 หมื่นล้านบาท ปี 2565 จำนวน 3 แสนล้านบาท และปี 2566 จำนวน 2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น 

มาตรการพยุงราคารน้ำมัน 

วงเงินที่ใช้ 106,518 ล้านบาท ประชาชนได้รับประโยชน์จำนวน 12.34 ล้านราย แบ่งเป็น

1. การตรึงราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ในกรอบไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร (เดือนต.ค. 2564-เมย. 2565) 2. อุดหนุนส่วนที่เกิน 30 บาทต่อลิตร (เดือนพ.ค.-มิ.ย.) และส่วนที่เกิน 35 บาทต่อลิตร (เดือนก.ค.-
ก.ย.) อุดหนุนตามความเหมาะสม (เดือนต.ค.-ธ.ค.) 

2. ลดการเก็บเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน

3. ปรับส่วนผสมไบโอดีเซล เหลือ B5 4. ผู้ประกอบการค้าน้ำมันคงค่าการตลาดน้ำมันกลุ่มดีเซลไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร และ 5. ช่วยเหลือกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธ ารณะที่มีใบอนุญาตไม่เกิน 250 บาทต่อคนต่อเดือนรวม 3 เดือน (เดือนพ.ค.-ก.ค. 2565)

มาตรการพยุงค่าไฟฟ้า

วงเงินที่ใช้ 260,035 ล้านบาท ประชาชนได้รับประโยชน์ 21.47 ล้านราย ประกอบด้วย

1. ปรับลดและตึงค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ตลอดจนบริหารจัดการให้กระทบประชาชนน้อยที่สุด

2. ลดค่าไฟฟ้าครัวเรือนและกิจการขนาดเล็กรวม 22 ล้านราย

3. ยกเว้นการเรียกเก็บอัตราไฟฟ้าต่ำสุด และ

4. คืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้ารวม 8 ล้านราย

มาตรการพยุงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG)

วงเงินที่ใช้ 41,081 ล้านบาท ประกอบด้วย

1. ตรึงราคาขายปลีกนานกว่า 2 ปีและทยอยขึ้นราคาตั้งแต่ 1 เม.ย. 2565 ประชาชนได้ประโยชน์ 20 ล้านครัวเรือน

2. ช่วยผู้มีรายได้น้อย 5.5 ล้านคน ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจากเดิม 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือนเป็น 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน

3. ขยายระยะเวลาการช่วยส่วนลดราคา LPG กลุ่มร้านค้าหาบเร่แผงลอยโดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดำเนินการ 5,500 รายต่อเดือน

มาตรการพยุงราคา NGV

วงเงินที่ใช้ 1,3217 ล้านบาท โดย ปตท. ซึ่งประชาชนได้ประโยชน์ 308,798 คน ประกอบด้วย

1. ตรึงราคาขายปลีกรถทั่วไป

2. ตรึงราคาขายปลีกรถสาธารณะ

3. ตรึงราคาขายปลีกแท็กซี่ภายใต้โครงการ NGV เพื่อลมหายใจเดียวกัน

นายพิสุทธิ์ กล่าวว่า อยากฝากรัฐบาลใหม่ในเรื่องนโยบายพลังงานเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน โดยอย่าเอาราคาพลังงานที่เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติมาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง โดยที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้แก้ไขปัญหาราคาพลังงานได้กว่าประเทศเพื่อนบ้าน ท่ามกลางสถานการณ์ราคาพลังงานโลกที่ผันผวนหนัก สามาถแก้ปัญหาและดูแลราคาพลังงานให้ประชาชนได้เป็นอย่างดี โดยใช้เม็ดเงินกว่า 4.2 แสนล้านบาท ดูแลทั้งค่าไฟฟ้า ราคาก๊าซหุงต้ม(LPG),ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(NGV) และราคาน้ำมันดีเซล เป็นต้น 

"ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานดูแลราคาพลังงานให้สมดุลทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านความมั่นคงพลังงาน, ด้านราคาพลังงานที่เป็นธรรม และด้านการส่งเสริมพลังงานสะอาด และเชื่อว่าหากไทยยังคงเดินหน้านโยบายพลังงานเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนต่อไป แม้จะเกิดวิกฤติพลังงานในอนาคต ไทยก็จะผ่านพ้นได้แน่นอน"