“พลังงาน” ชี้ หน้าร้อนปีนี้ยอดใช้ไฟฟ้าพุ่งสูงสุดในรอบ 3 ปี

“พลังงาน” ชี้ หน้าร้อนปีนี้ยอดใช้ไฟฟ้าพุ่งสูงสุดในรอบ 3 ปี

“พลังงาน” ชี้ หน้าร้อนปีนี้ยอดไฟฟ้าพุ่งสูงสุดในรอบ 3 ปี ปัจจัยเศรษฐกิจดีขึ้นหลังไทยเปิดประเทศ ย้ำมีไฟฟ้าเพียงพอ จากปริมาณสำรองไฟฟ้ายังสูงถึง 30% คาดปี 2568 สำรองไฟฟ้ากลับสู่ภาวะปกติเหลือ 15% ยืนยันแผน PDP 2023 ฉบับใหม่ยอดใช้ไฟในระบบ 3 การไฟฟ้าสูงกว่า 7.7 หมื่นเมกะวัตต์

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ยอดใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ของปี 2566 จะเป็นช่วงหน้าร้อนโดยจะพุ่งสูงสุดในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา หรือสูงกว่า 30,936 เมกะวัตต์ เนื่องจากประเทศไทยเปิดประเทศทำให้เศรษฐกิจเติบโต ส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นด้วย โดยกระทรวงพลังงานมั่นใจว่าประเทศไทยจะมีไฟฟ้าเพียงพอรองรับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นแน่นอน เนื่องจากสำรองไฟฟ้าไทยสูงถึง 30% จากปกติควรอยู่ระดับ 15%

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาข้อมูลพบว่าสำรองไฟฟ้าของไทยจะเริ่มลดลงหลังจากความต้องการใช้ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) มากขึ้น และจะส่งผลให้สำรองไฟฟ้ากลับสู่ภาวะปกติที่ 15% ได้ในปี 2568 แต่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2566-2580 หรือ PDP 2023 ฉบับใหม่ที่กำลังจัดทำอยู่ จะยกเลิกการพิจารณาปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศ (Reserve Margin) และเปลี่ยนเป็นการใช้เกณฑ์ดัชนีความเชื่อถือได้ หรือ Loss of Load Expectation (LOLE) แทน

สำหรับเกณฑ์ LOLE ดังกล่าวจะวัดจากการยอมรับให้ไฟฟ้าดับได้กี่วันใน 1 ปี นั้น ผลการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ใช้เกณฑ์ LOLE โดยการยอมรับให้ไฟฟ้าดับได้เพียง 0.7 วันต่อปี หรือ ไม่เกิน 24 ชั่วโมงต่อปี ซึ่งจะเหมาะสมกับประเทศไทยที่จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเข้าระบบมากขึ้น เพราะการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนมีข้อเสียตรงผลิตไฟฟ้าได้ไม่ต่อเนื่องขึ้นกับธรรมชาติในแต่ละช่วงเวลา ดังนั้น ระบบ LOLE จะมาช่วยตรวจวัดปริมาณไฟฟ้าที่เหมาะสมต่อความมั่นคงไฟฟ้าประเทศได้ดีกว่า

สำหรับความคืบหน้าแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2566-2580 หรือ PDP 2023 คาดว่าจะเสร็จกลางปี 2566 นี้ โดยต้องผ่านขั้นตอนการเสนอคณะอนุกรรมการ PDP ซึ่งมีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน จากนั้นจะเปิดรับฟังความเห็นประชาชนและเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบน.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) พิจารณาเพื่อประกาศใช้ต่อไป

ทั้งนี้ แผน PDP 2023 เบื้องต้นจะบรรจุปริมาณการผลิตไฟฟ้าในระบบ 3 การไฟฟ้ามากกว่าแผนเดิม PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่มีอยู่ 77,211 เมกะวัตต์ เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าจะสูงขึ้น เพราะช่วงปลายของแผนฯ คาดว่าจะมีการใช้รถ EV มากขึ้นและการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่โครงการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

นอกจากนี้ สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจะสูงขึ้นอยู่ระดับ 50% นอกนั้นจะเป็นไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งต่ำกว่า 50%  ลดลงจากปัจจุบันที่อยู่ 60% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ รวมทั้งจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กบรรจุอยู่ในแผนด้วย เป็นต้น ส่วนค่าไฟฟ้าจะพยายามให้เท่าแผน PDP เดิมที่เฉลี่ยทั้งแผนอยู่ที่ 3.60 บาทต่อหน่วย

“ส่วนการปรับเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ในครั้งนี้ อาจกระทบต่อแผน PDP2023 บ้างแต่ก็ไม่น่ามาก เพราะได้จัดทำแผนบนข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างรอบคอบแล้ว และอยากให้รัฐบาลใหม่สนับสนุนแผนฯ เพื่อให้เริ่มใช้ได้ตามกำหนดในปี 2566 นี้ ซึ่งหากรัฐบาลใหม่ต้องการปรับแก้ไขแผนฯ ก็คาดว่าจะต้องใช้เวลาเกือบ 1 ปี ซึ่งอาจจะล่าช้าและเริ่มใช้ได้ในปี 2567 เป็นแผน PDP 2024 แทนก็เป็นไปได้เช่นกัน”   

นายพิสุทธิ์ เพียรมนกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า อยากฝากรัฐบาลใหม่ในเรื่องนโยบายพลังงานเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน โดยอย่าเอาราคาพลังงานที่เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติมาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง โดยที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้แก้ไขปัญหาราคาพลังงานได้กว่าประเทศเพื่อนบ้าน ท่ามกลางสถานการณ์ราคาพลังงานโลกที่ผันผวนหนัก

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยสามาถแก้ปัญหาและดูแลราคาพลังงานให้ประชาชนได้เป็นอย่างดี โดยใช้เม็ดเงินกว่า 4.2 แสนล้านบาท ดูแลทั้งค่าไฟฟ้า ราคาก๊าซหุงต้ม (LPG), ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) และราคาน้ำมันดีเซล เป็นต้น ซึ่งเป็นการดูแลพลังงานให้สมดุลทั้ง 3 ด้านคือ 1. ด้านความมั่นคงพลังงาน 2. ด้านราคาพลังงานที่เป็นธรรม และ 3. ด้านการส่งเสริมพลังงานสะอาด และเชื่อว่าหากไทยยังคงเดินหน้านโยบายพลังงานเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนต่อไป แม้จะเกิดวิกฤติพลังงานในอนาคต ไทยก็จะผ่านพ้นได้แน่นอน