'บีพีพี' จ่อชิงเค้กโครงการรับซื้อไฟสะอาดรอบ 2 กว่า 3,668 เมกะวัตต์

'บีพีพี' จ่อชิงเค้กโครงการรับซื้อไฟสะอาดรอบ 2 กว่า 3,668 เมกะวัตต์

“บีพีพี” พร้อมเดินหน้ายื่นซื้อขายไฟสะอาดรอบ 2 ของกกพ. ภายหลังรอบแรกยื่นไประดับ 200 เมกะวัตต์ ตั้งงบ 3 ปีกว่า 700 ล้านดอลลาร์ เพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้ากว่า 2,000 เมกกะวัตต์ ดันยอดกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 5,300 เมกะวัตต์ ในปี 2568

นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP กล่าวว่า ในปี 2566-2568 บริษัทฯ ได้วางแผนเร่งสร้างการเติบโตของพอร์ตโฟลิโอตามกลยุทธ์ Greener & Smarter โดยเน้นประสิทธิภาพและความต่อเนื่องของการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าและการบริหารจัดการต้นทุน สร้างกระแสเงินสดที่มั่นคงเพื่อต่อยอดในพอร์ตโฟลิโอพลังงานที่สะอาดขึ้น ลงทุนในโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (High Efficiency, Low Emissions: HELE) ในตลาดที่มีความต้องการไฟฟ้าสูง

\'บีพีพี\' จ่อชิงเค้กโครงการรับซื้อไฟสะอาดรอบ 2 กว่า 3,668 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังคงมองหาโอกาสในการขยายการเติบโตไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ซึ่งนอกเหนือจากการประสบความสำเร็จในการลงทุนในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I แล้ว บริษัทฯ ยังพิจารณาขยายการลงทุนเพิ่มเติม เช่น ธุรกิจซื้อขายไฟฟ้าผ่านแพลตฟอร์มระบบกลาง (Energy Trading) และธุรกิจค้าปลีกไฟฟ้า โดยเป็นการผนึกพลังร่วมภายในระบบนิเวศของบริษัทฯ ด้วยการใช้ความรู้และทรัพยากรภายในองค์กร และข้อได้เปรียบในการบริหารจุดคุ้มทุนและกระจายความเสี่ยงด้านธุรกิจไฟฟ้าที่ครบวงจรครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทาน

สำหรับธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานที่ดำเนินการโดยบ้านปู เน็กซ์ จะเน้นการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่ส่งเสริมศักยภาพและการเติบโต รวมถึงหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ (New S-curve) อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในเดือนก.พ. 2566 ที่ผ่านมาได้เพิ่มสัดส่วนการเข้าถือหุ้นใน บริษัท ดูราเพาเวอร์ โฮลดิ้งส์ จํากัด (Durapower) จาก 47.68% เป็น 65.10% ด้วยเงินลงทุน 70 ล้านดอลลาร์ กลายเป็นผู้ถือหหุ้นใหญ่สุด โดยจะสร้างโอกาสการเติบโตของธุรกิจแบตเตอรี่ให้แข็งแกร่งมากขึ้น

“บริษัทฯ ต้องเป้าหมายในการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า 5,300 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นพลังงานความร้อนร่วม 4,500 เมกะวัตต์ พลังงานสะอาด 800 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 จากปี 2565 มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 3,300 เมกะวัตต์ โดยตั้งงบปลงทุนหลักเพื่อเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าอีก 2000 เมกะวัตต์ จะใช้งบประมาณระดับ 500-700 ล้านดอลลาร์ ใน 3 ปี และตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังผลิตในปีนี้ 1,000 เมกะวัตต์”

สำหรับโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มโรงไฟฟ้าประเภทไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 เพิ่มเติมอีก 3,668.5 เมกะวัตต์ นั้น บริษัทมีฯ ความสนใจที่จะเข้าร่วมยื่นเอกสารแน่นอน โดยรอบแรกที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดจำนวน 5,203 เมกะวัตต์ นั้น บริษัทฯ ได้เข้าร่วมลงทุนผ่านบ้านปู เน็กซ์ ราว 150-200 เมกะวัตต์ ซึ่งผ่านการพิจารณา 3 รอบแล้ว เหลือประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

“คงต้องรอเงื่อนไขที่ชัดเจนก่อน รอบที่ 2 อาจเรียกว่าเป็นรอบเก็บตก ยังไม่สรุปชัดเจน แม้จะประกาศหน้าเว็บไซต์ แต่เป็นเพียงทิศทางเท่านั้น ยืนยันว่าเราคงไม่พลาดโอกาส แต่จะยื่นเท่าไหร่นั้นจะพยายามหาให้ได้เยอะที่สุดเท่าที่ทำได้ แต่ต้องดูที่คุณสมบัติ เพราะรอบเก็บตกน่าจะมีเงื่อนไขกฎเกณฑ์ต่าง ๆ รัดกุมกว่ารอบแรก เราก็เตรียมตัวไว้พอสมควร ถ้าโอกาสเปิดเราก็จะเพิ่มจำนวนเมกะวัตต์ให้ได้มากที่สุดเท่าที่เราต้องการได้

ส่วนกรณีที่ธนาคารในสหรัฐเกิดปัญหาในขะนี้ หลัก ๆ เป็นธนาคารให้บริการด้านสตาร์ทอัพ จึงไม่กระทบบริษัทฯ โดยตรง แต่ในทางอ้อมในฐานะประชมคมโลกก็อาจมีกระทบบ้าง บริษัทฯ จึงจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยแหล่งเงินทุนที่จะเข้าหาเพื่อซื้อกิจการต่าง ๆ ยังไม่ได้รับผลกระทบ ส่วนเป้าหมายรายได้ปี 2566 ว่าจะมากกว่าปี 2565 หรือไม่นั้น ส่วนหนึ่งจะขึ้นอยู่กับว่าปีนี้จะขึ้นอยู่กับความสำเร็จของการซื้อกินการใหม่ ๆ เป็นต้น

สำหรับภาพรวมปี 2565 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ จำนวน 5,739 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 84% จากปีก่อน โดยมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) 9,124 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 162% จากปีก่อน เป็นผลมาจากการรับรู้รายได้เต็มปีของโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ที่สามารถขายไฟฟ้าในปริมาณและราคาที่ดี และการรับรู้กำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุนใน Sunseap

ส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนอยู่ในระดับต่ำมากเป็นปัจจัยให้เห็นว่าบริษัทฯ ยังเติบโตได้อีก และสร้างกำไรได้ดีในอนาคต โดยส่วนหนึ่งมาจากการออกแบบพอร์ตโฟลิโอจากการผลิตกระแสเชื้อเพลิงในตลาดทั่วโลกที่ต่างกันทั้งรูปแบบของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวและสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแบบเสรี อย่างที่ได้ดำเนินธุรกิจในสหรัฐ

ทั้งนี้ จากการที่โรงไฟฟ้า HPC และโรงไฟฟ้า BLCP มีความสามารถในการรักษาประสิทธิภาพการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี โดยมีค่าความพร้อมจ่าย (Equivalent Availability Factor: EAF) สูงถึง 86% และ 87% ตามลำดับ ส่งผลให้ บริษัทฯ มีสถานะทางการเงินที่มั่นคงแข็งแกร่ง พร้อมต่อยอดการเติบโตของบริษัทฯ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ถือหุ้น

โดยบริษัทฯ พร้อมเดินหน้าสร้างการเติบโต โดยจะขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวทาง Triple E ได้แก่ 1. Ecosystem: มุ่งสร้างเมกะวัตต์คุณภาพด้วยสมดุลของพอร์ตธุรกิจทั้งจากพลังงานความร้อน (Thermal Power Business) พลังงานหมุนเวียน (Renewable Power Business) และเทคโนโลยีพลังงาน (Energy Technology) 2. Excellence: รักษาเสถียรภาพการผลิตควบคู่ไปกับประสิทธิภาพความพร้อมจ่ายไฟ (EAF) และเน้นการสร้างกระแสเงินสดได้อย่างสม่ำเสมอ และเพิ่มโอกาสทำกำไรในตลาดที่มีการเติบโตและมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง และ 3. ESG: ดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับหลักความยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ