หอการค้า”ห่วงปิดธนาคาร SVB แนะ ‘คลัง-ธปท.’ ตื่นตัวปัญหานี้

หอการค้า”ห่วงปิดธนาคาร SVB  แนะ ‘คลัง-ธปท.’ ตื่นตัวปัญหานี้

“หอการค้า” ชี้คำสั่งปิดธนาคาร SVB สะท้อนความเปราะบางเศรษฐกิจสหรัฐ แนะ “คลัง-ธปท.” ตื่นตัวปัญหานี้ ห่วงเศรษฐกิจสหรัฐกระทบเศรษฐกิจโลก

Key Points

  • คำสั่งปิดธนาคาร SVB ทำให้ทั่วโลกต้องจับตาดูสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐที่มีขนาดใหญ่อันดับ 1 ของโลก
  • หอการค้าไทยติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐอย่างใกล้ชิดเพราะจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกได้
  • ภาคเอกชนไทยต้องการให้กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ตื่นตัวกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น
  • ถึงแม้ว่าจะมีโอกาสซ้ำรอยวิกฤติ Subprime น้อย แต่แต่สะท้อนให้เห็นความเปราะบางของเศรษฐกิจสหรัฐ

เศรษฐกิจสหรัฐถูกจับตามองอีกครั้งหลังจากที่ธนาคารซิลเวอร์เกท และธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ (Silicon Valley Bank : SVB) ต้องปิดตัวลงในสัปดาห์ที่ผ่านมา

สำหรับธนาคารซิลเวอร์เกท เน้นให้บริการด้านคริปโทเคอร์เรนซี และ SVB เน้นการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยหลายฝ่ายจับตามองการปิดตัวดังกล่าว รวมถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐและการแห่ถอนเงิน

เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2566 กระทรวงปกป้องการเงินและนวัตกรรมแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย ประกาศปิดกิจการของ SVB พร้อมกับมอบหมายให้บรรษัทค้ำประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) เป็นผู้ดูแลเงินฝากของ SVB

ข้อมูล ณ สิ้นเดือน ธ.ค.2565 ระบุว่า SVB มีสินทรัพย์ทั้งหมดราว 2.09 แสนล้านดอลลาร์ และมีเงินฝาก 1.754 แสนล้านดอลลาร์

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าววว่า การปิดตัวของการปิดตัวธนาคารแห่งซิลิคอน วัลเลย์ (Silicon Valley Bank : SVB) ซึ่งกระทบสตาร์ทอัพที่ลงทุนเป็นเงินฝากในธนาคาร SVB ตรงๆ เนื่องจากลูกค้าหลัก คือ สตาร์ทอัพรายใหญ่ที่มาฝากเงินไว้กับธนาคาร และธนาคารก็ปล่อยกู้ต่อสตาร์ทอัพเพื่อนำไปต่อยอดทำธุรกิจต่อ 

หอการค้า”ห่วงปิดธนาคาร SVB  แนะ ‘คลัง-ธปท.’ ตื่นตัวปัญหานี้

ทั้งนี้ เมื่อดอกเบี้ยขึ้นจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ทะยอยขึ้นดอกเบี้ย ก็เกิดการถอนเงินออกจนขาดสภาพคล่องอย่างหนัก โดยหอการค้าไทยได้ติดตามข้อมูลที่มีการรายงานว่า วันที่ 11 มี.ค.2566 ธนาคารแห่งซิลิคอน วัลเลย์ เข้าสู่ภาวะล้มละลายหลังเพิ่มทุนไม่สำเร็จ และถูก Federal Deposit Insurance Corporation (FDIC) สั่งปิดสำนักงานใหญ่และ SVB และเข้าดูแลสินทรัพย์ของธนาคาร

“หลักๆ กระทบต่อความเชื่อมั่นในระบบธนาคาร และเชื่อว่ายังไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย ณ ตอนนี้ แต่จะเห็นภาพชัดเจนเมื่อกลับมาเปิดตลาดในวันจันทร์นี้”

แนะ “ธปท.-คลัง”ตื่นตัวปัญหานี้

รวมทั้งเชื่อว่าจะไม่กระทบเหมือนวิกฤติ Subprime เพราะจากข้อมูลที่ทราบมาตอนนี้ธนาคารกลางสหรัฐเข้าไปดูแลจัดการแล้ว และสถานการณ์ทางการเงินของสหรัฐยังถือว่าแข็งแกร่ง 

นอกจากนี้ ต้องจับตามองว่านักลงทุนรายอื่นยังมีความกังวลและแห่ถอนเงินตามมากขนาดไหน แต่ส่วนตัวยังเชื่อว่าไม่เป็น Domino effect หรือการที่คนแห่กันถอนเงิน จนธนาคารมีความเสี่ยงที่จะไม่มีเงินสดคืนให้กับคนถอน ในรูปแบบของ Bank run ถึงธนาคารอื่น

“นี่เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่ออกมาว่าเศรษฐกิจสหรัฐและการฟื้นตัวที่ยังเปราะบางอยู่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง จำเป็นต้องได้รับการติดตามอย่างใกล้ชิด “นายสนั่น กล่าว

นอกจากนี้นโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและประเทศไทยอื่นเสมอ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลังต้องตื่นตัวในส่วนนี้ด้วย

ย้อยรอย 15ปี ปิด Lehman Brothers

ทั้งนี้ ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 15 ปี ในช่วงวิกฤติ Subprime มีการปิด Lehman Brothers เมื่อวันที่ 15 ก.ย.2551 จากผลกระทบจากวิกฤติสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่ช็อควงการเงินตลาดเงินโลก และวิกฤติซับไพร์มกระทบเศรษฐกิจโลกและทำให้หลายประเทศออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสหรัฐที่ต้องออกมาตรการด้านการบริโภค 286,000 ล้านดอลลาร์ ด้านการลงทุน 22,000 ล้านดอลลาร์ และด้านการลงทุนภาครัฐ 364,000 ล้านบาท

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้สรุปผลกระทบของเศรษฐกิจสหรัฐในรายงานภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 3 ปี 2551 ว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีปัญหาสินเชื่อด้อย คุณภาพได้ขยายตัวลุกลามขึ้นเป็นปัญหาวิกฤติการณ์การเงิน ส่งผลให้สถาบันการเงินประสบปัญหาทางด้านสภาพคล่องและส่งผลต่อความมั่นคงของสถาบันการเงินจํานวนมาก ปัญหาดังกล่าวซ้ำเติมภาคเศรษฐกิจจริงของสหรัฐที่อยู่ในภาวะชะลอตัวในครึ่งปีแรก 

ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2551 เศรษฐกิจสหรัฐ 0.3% (yoy) แต่ลดลง 0.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก้อนหน้า (qoq) และเป็นการเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค (Technical recession) 

สำหรับการหดตัวของเศรษฐกิจมีสาเหตุมาจากการหดตัวของการบริโภคเอกชนและการลงทุนจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ลดลงอย่างต่อเนื่องและการชะลอตัวของสินเชื่อ ยอดขายรถยนต์ต่ำที่สุดในรอบ 25 ปี แสดงให้เห็นแนวโน้มการหดตัวอย่างรุนแรง ของเศรษฐกิจ

รัฐบาลสหรัฐได้ดําเนิน มาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยมีมาตรการที่สําคัญ ได้แก่  การอัดฉีดสภาพคล่องและการเข้าถือหุ่นในสถาบันการเงินที่มี ปัญหาความมั่นคง การร่วมมือกับธนาคารกลางประเทศต่างๆ ในการดําเนินมาตรการเพื่อป้องกันการลุกลามของ ปัญหาวิกฤติการณ์ทางการเงิน รวมทั้งการประกาศ มาตรการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาความไม่มั่นคงของสถาบันการเงินส่งผลให้สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจตึงตัวอย่างรุนแรงเนื่องจากความไม่มั่นใจความเสี่ยงของคู่สัญญา เมื่อรวมกับการลดลงของราคาหลักทรัพย์คาดว่า จะทําให้ภาคธุรกิจประสบปัญหาในการระดมทุนมากขึ้น และเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคธุรกิจ

https://www.bangkokbiznews.com/world/1057397