การจ้างงานปี 66 สัญญาณฟื้นตัวชัด แต่มีหลายปัจจัยต้องเฝ้าระวัง

การจ้างงานปี 66 สัญญาณฟื้นตัวชัด     แต่มีหลายปัจจัยต้องเฝ้าระวัง

สถานการณ์การจ้างงานในไทยปรับตัวดีขึ้น สอดคล้องกับการว่างงานที่ลดลงต่อเนื่องทำให้สภาวะของตลาดแรงงานไทยในขณะนี้กลับมาใกล้เคียงกับในปี 2562 ก่อนที่จะเกิดสถานการณ์โควิด-19 อย่างไรก็ตามยังมีบางประเด็นที่ต้องติดตามและเฝ้าระวัง

จากข้อมูลการรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสที่ 4/2565 ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่าการจ้างงานปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีจำนวนทำงานทั้งสิ้น 39.6 ล้านคน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.5% 

แบ่งเป็นการขยายตัวของการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมที่ 3.9% โดยเฉพาะในสาขาโรงแรมและภัตตาคารที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 6.6% และการค้าส่งและค้าปลีกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 2% ซึ่งมาจากปัจจัยหนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในไตรมาสที่ผ่านมา โดยมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทย 5.5 ล้านคน เพิ่มขึ้น 16 เท่าจากปี 2564 ส่วนการจ้างงานในภาคเกษตรหดตัวลง 3.4% โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ และการเคลื่อนย้ายแรงงานไปสู่สาขาอื่นๆ โดยเฉพาะสาขาการท่องเที่ยวที่ต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นในช่วงที่การท่องเที่ยวฟื้นตัว

สำหรับอัตราการว่างงานปรับตัวลดลงเหลือ 1.32% ของแรงงานทั้งระบบ ลดลงจากปี2564 ที่การว่างงานอยู่ที่ 1.96% 

นอกจากนั้นเมื่อพิจารณาจากชั่วโมงการทำงานถือว่าปรับตัวดีขึ้นชัดเจนกว่าในช่วงที่ผ่านมา โดยชั่วโมงการทำงานในภาพรวมในไตรมาสที่ 4/2565 อยู่ที่ 42.6 ต่อสัปดาห์ ขณะที่ชั่วโมงการทำงานในภาพรวมของเอกชนอยู่ที่ 46.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3% สอดคล้องกับจำนวนผู้ที่ทำงานต่ำระดับที่ลดลงจาก 4.5 แสนคน เหลือ 2.4 แสนคน ส่วนผู้ที่ทำงานมากกว่าเวลา หรือทำงานล่วงเวลา (ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) มีจำนวนมากกว่า 6.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึง9% สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม (สศช.) ระบุว่าแนวโน้มตลาดแรงงาน ปี 2566 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่คลี่คลายลง โดยเฉพาะในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ที่ประเทศไทยมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ

ส่วนปัจจุบันสถานการณ์แรงงานและการจ้างงานของไทยถือว่าปรับตัวใกล้เคียงกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยถ้าดูเฉพาะในไตรมาสที่ 4 การว่างงานอยู่ที่ 1.15% ปรับตัวดีขึ้น 5 ไตรมาสติดต่อกัน โดยมีผู้ว่างงานจำนวน 4.6 แสนคน โดยผู้ว่างงานระยะยาวที่ว่างงานเกิน 1 ปีก็มีจำนวนลดลงอย่างชัดเจน โดยลดลง 23.7% เหลือ 1.1 แสนคนซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่ดีของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ 

อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนยังมีจำนวนสูงกว่าช่วงก่อนการระบาดของ COVID-19 สะท้อนว่านายจ้างเลือกจ้างงานกลุ่มที่มีประสบการณ์ก่อนเด็กจบใหม่

เลขาธิการ สศช.ระบุว่ายังมีประเด็นที่ควรให้ความสนใจและเฝ้าระวังในเรื่องของประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแรงงานคือ

1.การจ้างงานในอุตสาหกรรมส่งออกและโอกาสการหางานของเด็กจบใหม่ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังคงพื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปและมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งมีสาเหตุจากทั้งการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ และสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้การส่งออกเริ่มหดตัวมาตั้งแต่เดือนต.ค. 2565 และอาจส่งผลต่อการจ้างงานในสาขาที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อการหางานของเด็กจบใหม่

เนื่องจากผู้ประกอบการอาจชะลอการจ้างงานเพิ่มและเลือกที่จะเพิ่มชั่วโมงการทำงานหรือเพิ่มหน้าที่ให้แก่ แรงานเดิม ทั้งนี้ ในไตรมาสสี่ ปี 2565 ผู้ว่างงานที่เป็นเด็กจบใหม่มีจำนวน 2.3 แสนคน โดยในจำนวนนี้ 64.5%  ระบุสาเหตุที่ว่างงานว่า หางานแล้วแต่ยังไม่ได้งาน สะท้อนให้เห็นการหางานที่ยากขึ้น

2. ภาระค่าครองชีพของแรงงานจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง แม้ว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำระดับสูง โดยเดือนม.ค. 2566 อยู่ที่ 5.02% และมีแนวโน้มที่จะยังคงสูงกว่าระดับปกติที่อยู่ในช่วง 1 – 2% เนื่องจากอิทธิพลจากภาวะเศรษฐกิจโลกและสงครามระหว่างประเทศ 

และ 3.ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจากผลสำรวจของกระทรวงแรงงาน พบว่าปัจจุบันกิจการประเภทโรงแรม ที่พัก ภัตตาคาร และร้านค้า ยังมีความต้องการแรงงานประมาณ 1 หมื่นตำแหน่งใน 60 จังหวัด ขณะที่ปี 2566 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยกว่า 28ล้านคน หรือคิดเป็นประมาณ 70% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2562 

ซึ่งภาครัฐยังคงต้องมีบทบาทในการจับคู่แรงงานกับสถานประกอบการ รวมถึงพัฒนาทักษะให้แก่แรงงานให้ตอบโจทย์ตำแหน่งงานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นด้วย