‘ครม.’เทกระจาดก่อนยุบสภาฯ 6.8 หมื่นล้าน ไฟเขียว งบกลางฯ-หั่นภาษี-เพิ่มงบฯ

‘ครม.’เทกระจาดก่อนยุบสภาฯ 6.8 หมื่นล้าน ไฟเขียว งบกลางฯ-หั่นภาษี-เพิ่มงบฯ

ครม.เทกระจาดก่อนยุบสภาฯ 6.8 หมื่นล้านทั้งงบกลางฯ หั่นภาษี เพิ่มงบ งบฯกลาง 1.2 หมื่นล้าน กระจายท้องถิ่นทั่วประเทศ อุ้มค่าไฟ จัดงบลงศูนย์ชุมชนข้าว พร้อมจัดงบฯ 1.3 หมื่นล้านเพิ่มเงิน อสม.ทั่วประเทศอีกเดือนละ 1,000 บาท จัดเข้างบฯปี 67 พ่วงไฟเขียวหั่นภาษีอีก 4.3 หมื่นล้าน

         ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (7 มี.ค.) มีการพิจารณาเรื่องที่สำคัญเกี่ยวกับการใช้เงินงบประมาณทั้งการอนุมัติงบกลางฯ การอนุมัติรายการงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับปีงบประมาณ 2567 และการเว้นการจัดเก็บภาษีเพื่อลดค่าครองชีพและสนับสนุนการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใหม่รวมวงเงิน 68,613.21 ล้านบาท ซึ่งต้องมีการเร่งรัดการอนุมัติก่อนที่จะมีการยุบสภาฯของรัฐบาลนี้เนื่องจากรัฐบาลรักษาการไม่สามารถอนุมัติได้เนื่องจากมีผลผูกพันกับรัฐบาลต่อไปโดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวกับพรรคร่วมรัฐบาลว่าอาจจะเหลือการประชุม ครม.อีก 1 – 2 ครั้ง  โดยมีรายละเอียดการอนุมัติในส่วนต่างๆดังนี้

โดยในส่วนแรกคือการอนุมัติงบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วนปีงบประมาณ 2566 มี 3 โครงการ วงเงินรวม 12,242.67 ล้านบาท นายอนุชา บูรพชัยศรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุม ครม.เห็นชอบอนุมัติใช้งบกลางฯดังนี้

1.โครงการก่อสร้าง/ปรับปรุง ซ่อมแซมถนน แหล่งกักเก็บน้ำ หรือสิ่งสาธารณประโยชน์อื่นๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งได้รับความเสียหายจากสาธารณภัย จำนวน  2,765 โครงการ ใน 67 จังหวัด  ครอบคลุมทั้งในระดับ  อบจ.  เทศบาลนคร  เทศบาลเมือง  เทศบาลตำบล และอบต.ทั่วประเทศ วงเงินรวม  8,171.6 ล้านบาท

โดยโครงการนี้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้สำรวจข้อมูลถนน แหล่งกักเก็บน้ำ หรือสิ่งสาธารณประโยชน์อื่นๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับความเสียหายจากสาธารณภัย  หรือที่มีความประสงค์ที่จะดำเนินการก่อสร้าง/ปรับปรุง ซ่อมแซม ให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้ มีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยมีจำนวนกว่า 2,000 โครงการ เช่นการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก  ซ่อมแซมถนนลาดยางแอสฟัลห์ติกคอนกรีต (ยางมะตอย)  ปรับปรุงถนนลูกรัง การก่อสร้างแนวป้องกันตลิ่งซ่อมแซมเขื่อนป้องกันตลิ่ง ขุดลอกคลอง/หนอง/ลำห้วย/ ซ่อมแซมฝายน้ำล้น/ อาคารน้ำล้น   ติดตั้งโครมไฟฟ้าถนนแอลอีดีติด  ตั้งโซล่าเซลล์ เป็นต้น

 2. ครม.อนุมัติวงเงิน 3,191,740,000 ล้านบาท ให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับค่าไฟฟ้าประจำเดือนมกราคม-เมษายน 2566  เพื่อให้ส่วนลดอัตราค่าไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน  โดยเป็นกรอบวงเงินของการไฟฟ้านครหลวงจำนวน 517.95  ล้านบาท และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจำนวน 2,673.8 ล้านบาท เพื่อบรรเทาผลกระทบในการลดภาระค่าครองชีพให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่เป็นกลุ่มเปราะบาง

 และ 3. ครม.อนุมัติโครงการส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิตข้าวรักษ์โลก BCG Model  ภายใต้กรอบวงเงิน 874.83  ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาปัจจัยการผลิตและเครื่องจักรกลการเกษตร ตามแผนความต้องการของศูนย์ข้าวชุมชน 292 ศูนย์  เป้าหมายพื้นที่ดำเนินการ 58,400 ไร่ และพื้นที่ให้บริการ 60 ล้านไร่ โดยปรับปรุงกระบวนการเพาะปลูกข้าว เน้นการทำนาแบบประณีต คือ การใช้ระบบชีวมวล ชีวภาพ และจุลินทรีย์ที่ลด ละ เลิก การใช้สารเคมี ส่งเสริมการทำนาแบบยั่งยืน สร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มเกษตรกร

สำหรับพื้นที่ และขอบเขตการดำเนินการพื้นที่ผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี  อยู่ในกลุ่มของศูนย์ข้าวชุมชนที่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมการข้าว จำนวน 292 ศูนย์ ในพื้นที่  74 จังหวัด ซึ่งเป็นศูนย์ข้าวชุมชนที่มีความพร้อมในการดำเนินงานตามเงื่อนไขของโครงการฯ  โดยดำเนินการศูนย์ละ 200 ไร่ เพื่อปลูกข้าวรักษ์โลก

ซึ่งมีรูปแบบการเกษตรแบบยั่งยืน ไม่มีการเผาฟาง ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีหรือลดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูข้าว มีการจัดการศัตรูข้าวด้วยการใช้จุลินทรีย์เพื่อการเกษตรและสารชีวภัณฑ์ มีการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรและเทคโนโลยีนวัตกรรมสมัยใหม่ เพื่อลดต้นทุนในการผลิต ลดความเสียหายอันเกิดจากศัตรูข้าวหรือกิจกรรมการทำนา และเพิ่มศักยภาพในการผลิตข้าวคุณภาพดีปลอดสารพิษ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพิ่มผลผลิตต่อไร่ ส่งผลดีต่อสุขภาพและรายได้ของเกษตรกรที่จะเพิ่มขึ้น

ในส่วนต่อมาคือเรื่องการอนุมัติให้มีการจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมในปี 2567 ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขวงเงินรวม 13,081 ล้านบาท ตามที่ ครม.เห็นชอบเพิ่มค่าป่วยการอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) จากเดิมเดือนละ 1,000 บาทต่อคน เป็นเดือนละ 2,000 บาทต่อคน  โดยเริ่มต้นตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567  (1 ต.ค.2566)  พร้อมมอบให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานอนามัย กรุงเทพมหานคร ตั้งคำของบประมาณ ประจำปีของรายการการจ่ายเงินค่าป่วยการให้แก่อสม.และอสส. ในส่วนที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 เป็นต้นไป

โดยปัจจุบันมี อสม. จำนวน 1,075,163 คน และ อสส. จำนวน 15,000 คน  คาดว่าจะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นในแต่ละปีงบประมาณ จำนวน 13,081 ล้านบาท ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่า รัฐบาลต้องดูแลบุคลากร คนทำงานทุกภาคส่วน ซึ่งจะต้องพัฒนาทุกระบบให้เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น

และส่วนสุดท้ายคือในส่วนที่ ครม.เห็นชอบข้อกฎหมายที่มีผลต่อการดูแลค่าครองชีพประชาชน และการระดมทุนในรูปแบบใหม่ซึ่งมีผลต่อการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐเนื่องจากทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้มีในส่วนที่สำคัญ 2 ส่วนได้แก่

1.การเว้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และน้ำมันเตาให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.ในช่วงที่ราคาเชื้อเพลิงมีราคาแพงและต้องใช้น้ำมันทั้งสองชนิดในการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเป็นวงเงินรวมกว่า 8,050 ล้านบาท

2.การอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ..... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ เป็นการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงินได้และมูลค่าของฐานภาษี (รายได้จากการขายลบต้นทุน) อันเนื่องมาจากการขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนที่เสนอขายต่อประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบสินทรัพย์ดิจิทัล และยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป (ย้อนหลังไปถึงวันที่พระราชกำหนดการประกอบสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 มีผลใช้บังคับ) เพื่อให้มาตรการภาษีของโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนเท่าเทียมกับมาตรการภาษีของหลักทรัพย์ และส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจโดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการระดมทุน

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) คาดการณ์ว่าในช่วงปี 2566 ถึงปี 2567 จะมีการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนมูลค่ารวมประมาณ 128,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 25,600 ล้านบาท และภาษีมูลค่าเพิ่มประมาณ 8,960  ล้านบาท ดังนั้น ประมาณการการสูญเสียรายได้ของภาครัฐ ในช่วง 2 ปี ที่ สำนักงาน ก.ล.ต. คาดการณ์รวมภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ประมาณ 35,279 ล้านบาท