เปิดใจ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ชาติพัฒนากล้า แก้ปัญหาเศรษฐกิจ-สร้างรายได้ประเทศ

เปิดใจ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ชาติพัฒนากล้า แก้ปัญหาเศรษฐกิจ-สร้างรายได้ประเทศ

เรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่พรรคการเมืองต่างๆให้ความสำคัญ มีการหาเสียงถึงนโยบายด้านนี้อย่างต่อเนื่อง   “พรรคชาติพัฒนากล้า” เป็นพรรคการเมืองที่พูดถึงนโยบายเรื่องเศรษฐกิจมาตั้งแต่เริ่มต้น โดยเป็นพรรคที่เปิดนโยบายที่จะสร้างรายได้ให้กับประเทศประมาณ 5 ล้านล้านบาท

“กรุงเทพธุรกิจ” สัมภาษณ์ “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ”  ประธานพรรคชาติพัฒนากล้าเกี่ยวกับรายละเอียดนโยบายเศรษฐกิจของพรรค

สุวัจน์กล่าวว่าปัจจุบันปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องใหญ่ ทำให้มองการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศปี 2566 ต่างจากปี 2562 ที่ในตอนนั้นอยู่บนฐานความขัดแย้ง ผลการเลือกตั้งที่ออกมาจึงสะท้อนการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ความสงบไม่ได้อยู่บนพื้นฐานเรื่องของเศรษฐกิจ ขณะที่ในปี 2566 แม้ความขัดแย้งยังมีอยู่แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่าคือ ปัญหาเศรษฐกิจ ฉะนั้นคนมีสิทธิ์เลือกตั้งก็จะดูว่าใครจะมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ได้บ้าง

“ผมอยู่ในการเมืองมา 30 ปี ผมคิดว่าสถานการณ์เศรษฐกิจตอนนี้หนักที่สุด เพราะมีปัจจัยทั้งจากในและนอกประเทศ ความเสียหายทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นพร้อมๆกัน เช่น ช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ตลอด 2 ปี ทุกประเทศในโลกกู้เงินมาแก้ปัญหากันหมด ก่อให้เกิดภาระหนี้สินของประเทศทั่วโลก นำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อ จนพูดกันว่าจะเกิดเศรษฐกิจถดถอย ขณะเดียวกันก็มีสงครามระหว่างยูเครน-รัสเซีย มาซ้ำเติมอีก จนเกิดผลกระทบต่อราคาน้ำมัน และราคาก๊าซธรรมชาติที่แพงขึ้น เร่งให้เกิดเงินเฟ้อ ขณะที่ภาวะหนี้สิน และโควิด-19 มีสงครามการค้าที่มีอยู่”

 

เปิดใจ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ชาติพัฒนากล้า แก้ปัญหาเศรษฐกิจ-สร้างรายได้ประเทศ

ประเทศไทยยังเจอความท้าทายกับภาวะที่โลกแบ่งขั้วสภาพโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โครงสร้างทางภูมิรัฐศาสตร์ เปลี่ยนไปจากยุคโลกาภิวัฒน์ ซึ่งล้วนมีผลต่อการเคลื่อนย้ายการลงทุน  ขณะที่ในปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยไม่ได้มีความพร้อมในการลองรับวิกฤติ

เพราะประเทศไทยไม่เคยมีหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเกิน 60% และไม่เคยมีหนี้ครัวเรือนเกิน 90% ส่วนเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่เราคาดหวัง คือนักท่องเที่ยวจากต่างชาติปีนี้อาจได้ 25ล้านคน ในปีนี้ก็จะฟื้นตัวแต่ยังไม่ดีเท่ากับในช่วงก่อนโควิด-19  ส่วนจีดีพีของไทยก็ยังไม่เป็นผู้นำในอาเซียนได้

เพราะเรามีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจระดับ 3% ขณะที่ในอาเซียนขยายตัวเฉลี่ย 5%  จะเห็นได้ว่าปัจจัยที่เกิดขึ้นและปัจจัยที่กดดันประเทศไทยหนัก จึงสรุปว่าการเลือกตั้งครั้งนี้พี่น้องประชาชนจะมีเกณฑ์การตัดสินใจที่ต่างจากการเลือกตั้งในปี 2562 เพราะให้น้ำหนักกับทางเศรษฐกิจมากกว่า

โฟกัสที่นโยบายเศรษฐกิจขอเป็น “Niche Market”

ประธานพรรคชาติพัฒนากล่าวว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคชาติพัฒนากล้า จึงเน้นนโยบายเศรษฐกิจมากกว่านโยบายอื่น เพราะเราไม่ใช่พรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่ต้องครอบคลุมทุกมิติของการแก้ปัญหาของประเทศ เราจึงเป็นเหมือนกับ “Niche Market” เป็นพรรคการเมืองที่มีกลุ่มเฉพาะ มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ เหมือนเป็นหมอก็โรคเฉพาะทาง คือเราจะเน้นนโยบายเศรษฐกิจ

 

ระดมผู้เชี่ยวชาญทำนโยบายเศรษฐกิจ 

ทั้งนี้การจัดทำนโยบายเศรษฐกิจพรรคใช้เวลาไม่ต่ำกว่า  3 เดือน โดยระดมประสบการณ์ผู้ใหญ่ในพรรค และนักวิชาการอยู่ในพรรคด้วย และช่วยกันคิด จนออกมาเป็น 12 นโยบายสำคัญ โดยจัดสร้างแพลตฟอร์มเศรษฐกิจกันใหม่ หาจุดแข็งของประเทศไทยให้เจอและนำไปใช้ โดยต้องหาเงินเข้าประเทศให้ได้ 5 ล้านล้านบาท

โดยพรรคแบ่งเศรษฐกิจเป็นเฉดสี และนำมาจัดกลุ่มหยิบจับให้ชัดเจน เช่น เศรษฐกิจสีเหลือง ได้แก่ ซอฟต์พาวเวอร์ ทั้งกีฬา ดนตรี ศิลปะ ที่ต้องทำให้เป็นเศรษฐกิจที่ชัดเจน โดยจะต้องมีกองทุนซอฟต์พาวเวอร์ 10,000 ล้านบาทไว้สนับสนุน

เปิดใจ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ชาติพัฒนากล้า แก้ปัญหาเศรษฐกิจ-สร้างรายได้ประเทศ

ขณะที่ในด้านเศรษฐกิจสีเขียว คาร์บอน เครดิต อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ควรหยิบมาทำให้เป็นกิจจะลักษณะ หรือเศรษฐกิจสีเทา อะไรที่ยังไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือคลุมเครือ ที่เกี่ยวกับ ชีวิตกลางคืน แรงงานต่างด้าว หวย ก็ควรหยิบมาทำให้เป็นเรื่องถูกกฎหมาย หรือเศรษฐกิจสีขาว ในเรื่องของการท่องเที่ยว การดูแลสุขภาพ ท่องเที่ยวสายมู หรือเศรษฐกิจสีเงิน มีผู้สูงอายุ 12 ล้านคน ก็ทำให้เป็นเศรษฐกิจได้ เช่น หมู่บ้านผู้สูงอายุ ศูนย์ดูแลสุขภาพ การออกแบบอายรยะสถาปัตย์ ทั้งหมดนี้เราพยายามทำให้ชัดเจน โดยประเมินรายได้การจ้างงานที่จะเกิดจากตรงนี้มีมูลค่า 5 ล้านล้านบาท

ส่วนเรื่องของ “เครดิตบูโร” ที่มีการพูดกันว่าคนไม่มีเครดิตแต่ต้องการต่อยอดทางธุรกิจได้ ตอนนี้มีคนที่ได้รับผลกระทบตรงนี้ 5 ล้านราย ในช่วงโควิด-19 มีการจ่ายหนี้ไม่ตรงบ้าง ทำให้ระบบเครดิตบูโรรายงานพฤติกรรมในทางลบ จึงหมดโอกาสได้รับเครดิตดีๆ จึงต้องการให้มีการปรับปรุงเพื่อให้มีลมหายใจต่อยอดใหม่  ไม่ใช่รายงานด้านลบด้านเดียว ให้รายงานด้านดีๆ ด้วย เช่น เขายังจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟได้ ยังผ่อนชำระได้หรือมีเงินเดือนที่สูงกว่าค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่หักล้างเครดิตบูโรได้จึงพูดถึงเครดิต สกอริ่ง ให้มีโอกาสกลับมาสร้างเนื้อสร้างตัวกันใหม่

ในเรื่องนโยบายการเพิ่มเงินในกระเป๋าให้ประชาชนเพื่อให้มีภาระภาษีน้อยที่สุดนั้นต้องทำให้คนเงินเดือนไม่ถึง 40,000 บาทไม่เสียภาษีบุคลธรรมดา มาจากเดิมที่คนมีรายได้หลังหักค่าลดหย่อนเกิน 150,000 บาทถึงเสียภาษี

ตอนนี้จะเปลี่ยนเป็นใครมีเงินหลักหักค่าลดหย่อน เกิน 300,000 บาทถึงค่อยเสียภาษี เท่ากับเงินเดือนๆละ 40,000 บาท หรือปีละ 480,000 บาท เมื่อหักค่าลดหย่อน 180,000 บาท ก็เหลือรายได้สุทธิ 300,000 บาท

“ตรงนี้คำนวณดูแล้ว 3 กรมภาษีเก็บรายได้ปีละ 3 ล้านล้านบาท แต่ด้วยนโยบายที่จะช่วยคนเกือบ 4ล้านคนไม่ต้องเสียภาษีจะมีผลกระทบเป็นเงินเพียง 20,000 กว่าล้านบาท เทียบแล้วน้อยมากไม่ถึง 1% ของรายได้จัดเก็บรวม แต่ช่วยเติมเงินในประเป๋าที่จะมากระตุ้นเศรษฐกิจทางอ้อมได้”

กางแผนลดค่าใช้จ่ายประชาชน 

สำหรับในส่วนของการลดค่าใช้จ่ายของประชาชน จากเรื่องของน้ำมันแพง ก๊าซแพง ค่าไฟฟ้าแพง พรรคจึงจะมีส่วนของนโยบายรื้อโครงสร้างพลังงาน ในเรื่องของค่าการกลั่นที่สิงคโปร์ ซึ่งกำหนดราคาที่เหมาะสมได้จากปัจจุบันไม่ได้ถูกกำหนดว่าจะเป็นเท่าไหร่แต่ไปขึ้นลงตามราคาสิงโปร์ ไม่ได้สะท้อนค่าการกลั่นจริงๆ จึงต้องมีสูตรการคิดต้นทุนที่เป็นธรรมกับผู้บริโภคส่วนเรื่อองไฟฟ้า ทุกคนร้องไฟฟ้าแพง วันนี้มีไฟฟ้าถูกแพงขึ้นอยู่กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ที่มีกำลังการผลิต 53,000 เมกกะวัตต์ แต่ใช้จริง 33,000 เมกะวัตต์ มีส่วนเกิน 20,000 เมกกะวัตต์ เท่ากับมีไฟฟ้าสำรอง 40%ดีในแง่เสถียรภาพ แต่เกินไปมากจนกระทบกับค่าไฟฟ้าผันแปร (FT) เพราะ 53,000 เมกกะวัตต์ ไม่ใช่เอกชนผลิตคนเดียว มีที่เอกชนผลิตและขายให้ กฟผ.

เปิดใจ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ชาติพัฒนากล้า แก้ปัญหาเศรษฐกิจ-สร้างรายได้ประเทศ

ซึ่งในช่วงพีคความต้องการก็จ่ายให้ในราคาเต็ม แต่ช่วงความต้องการใช้ต่ำเอกชนมีค่าต้นทุนในการลงทุนไว้ ฉะนั้นเวลาไม่ผลิต กฟผ.ก็มีค่าพร้อมจ่ายให้แม้ไม่ได้จ่ายไฟ ทำให้เวลามีไฟฟ้าสำรองเยอะเกินไป กลายเป็นค่าแปรผันที่เป็นค่าเอฟที ตรงนี้ควรปรับไฟฟาสำรองให้มีความเหมาะสมยังอยู่ในความเชื่อมั่นของนักลงทุน แต่ไม่เยอะเกินไป แค่ 20% ก็เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจแล้ว

นอกจากนี้ต้องเร่งรัดพัฒนาโครงการร่วมไทย-กัมพูชามาทดแทน ซึ่งเป็นสัญญามาตั้งแต่ปี 2544  กว่า 20 ปีมาแล้วทางกัมพูชาก็พร้อม  เราก็พร้อมและปริมาณไม่น้อยกว่าแหล่งเอราวัณ หากได้มาปริมาณก๊าซก็จะมากพอหมดห่วงได้เลย

สำหรับนโยบายที่ต้องช่วยเหลือภาคเกษตร เป็นจุดแข็งของประเทศ ข้าว อ้อย ยาง มันสำปะหลัง ปาล์มข้าวโพด ต้องมีแผนแม่บทในอีก 5 ปี แทนที่จะส่งออกสินค้าเกษตรแบบเดิมที่เป็นวัตถุดิบ ต้องเพิ่มรายได้โดยเอาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมมาเพิ่มมูลค่าสินค้เกษตร เช่น ยางพาราผลิต 5 ล้านตัน ส่งออกเป็นยางดิบ ยางแท่ง 4.5 ล้านตันเป็นวัตถุดิบ ส่วนอีก 500,000 ตัน เป็นยางรถยนต์ ซึ่งมูลค่าเท่ากับที่ส่งออกเป็นวัตถุดิบ หากปรับโครงสร้างใหม่ประเทสไทยจะเป็นมหาอำนาจทางการเกษตรได้ เหล่านี้คือจุดแข็งที่ประเทศไทยมีและนำมาใช้ได้

 

ดันซอฟต์พาวเวอร์คู่ท่องเที่ยว

เช่นเดียวกับซอฟต์พาวเวอร์ นโยบายท่องเที่ยว ก่อนโควิด-19 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคน อยู่คนละ 10 วัน ค่าใช้จ่ายวันละ 5,000 บาท หรือ ทริปละ 50,000 บาท สมมติทำนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็น 70-80 ล้านคน และให้อยู่นานขึ้นเป็น 12 วัน และให้จ่ายเพิ่มเป็นวันละ 6,000 บาท  ก็เพิ่มค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยวจากเดิม 2 ล้านล้านบาทเป็น 5 ล้านล้านบาทได้ โดยสร้างสินค้าใหม่ด้านท่องเที่ยว ทำท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ทำแหล่งท่องเที่ยวเพื่อรองรับกลุ่มดิจิทัลนอร์แมท ทำสตรีทฟู้ด และมิชลินเพิ่มขึ้น  และไปหาตลาดใหม่จากพึ่งจีนให้ไปบุกตลาดอินเดีย ที่มีประชากรอันดับหนึ่งของโลก จีดีพีขยายตัวสูง ระยะทางใกล้กับไทยเพียง 3 ชั่วโมง มีความสัมพันธ์และพื้นฐานทางวัฒนธรรมใกล้เคียง ตอนนี้มี 1.5 ล้านคนเติมได้อีกเยอะ รวมถึงเกาหลีก็เพิ่มได้เยอะ

และสุดท้ายคือ นโยบายมอเตอร์เวย์ทั่วไทย ทั่วทิศ 2,000 กิโลเมตร วันนี้มีกรุงเทพ-พัทยา คนก็รอมอเตอร์เวย์โคราชเมื่อใดจะเปิด

ถ้าเปิดได้การลงทุนการท่องเที่ยวจะไปอีสานบางใหญ่-กาญจนบุรีก็ยังไม่เปิด จึงควรมีนโยบายมอเตอร์เวย์ทั่วไทย ไปเหนือ อีสาน ตะวันออก และลงใต้  ควบคู่กับถนน 4เลน ซึ่งจะเป็นจุดเชื่อมโยงการท่องเที่ยวทั่วประเทศด้วย