อ่วม! ก๊าซหุงต้ม LPG ขึ้นราคาวันนี้ จับตา "กบง." ขึ้นอีกกิโลกรัมละ 1 บาท

อ่วม! ก๊าซหุงต้ม LPG ขึ้นราคาวันนี้ จับตา "กบง." ขึ้นอีกกิโลกรัมละ 1 บาท

ดีเดย์ “พลังงาน” ขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม LPG 1 มี.ค. 66 ถังละ 423 บาท จับตา กบง. เคาะขึ้นราคาต่อเนื่อง หวั่นการเมืองใหม่สนองนโยบายปรับลดราคา ป่วนสถานะกองทุนน้ำมันฯ ที่ยังติดลบกว่า 1 แสนล้าน เร่งหารือสถาบันการเงินกู้ 8 หมื่นล้าน หลังครม.เห็นชอบแล้ว หวังใช้หนี้เก่าให้หมดก่อน

แหล่งข่าวจาก กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากมติคณะกรรมบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ให้ขยับราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม LPG จากราคาถังละ 408 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม (กก.) เป็น 423 บาทต่อถัง 15 กก. มีผลระหว่างวันที่ 1-31 มี.ค. 2566 นั้น เนื่องจากราคา LPG ตลาดโลกยังสูงกว่าราคาขายมาก โดยปัจจุบันกระทรวงพลังงานใช้กลไกการสนับสนุนราคาของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) อุดหนุนในเดือนก.พ. 2566 ที่ราว 648 ล้านบาท เฉลี่ยวันละ 23.13 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม จากการปรับขึ้นราคาของกบง. จะช่วยให้กองทุนน้ำมันฯ ลดเงินอุดลงเหลือเฉลี่ยเดือนละประมาณ 417 ล้านบาท หรือวันละ 13.44 ล้านบาท จากกก.ละ 9 บาท เหลือ กก.ละ 8 บาทกว่า ๆ ซึ่งบัญชีกองทุนน้ำมันฯ ปัจจุบันยังคงติดลบ ณ วันที่ 26 ก.พ. 2566 ที่ 104,012 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชี LPG ที่ติดลบ 46,095 ล้านบาท และบัญชีน้ำมันที่ติดลบที่ 57,917 ล้านบาท ดังนั้น จึงต้องรอดูว่า นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธาน กบง. จะพิจารณาให้ปรับราคาในเดือนเม.ย. 2566 ขึ้นหรือคงราคาไว้หรือไม่ อย่างไร

“ส่วนตัวก็อยากให้ขึ้นราคา เพราะกองทุนน้ำมันฯ ติดลบเยอะและรับไม่ไหวแล้ว จึงควรจะขึ้นให้ได้มากที่สุด ซึ่งก็เข้าใจว่ากระทบประชาชนแต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะไม่มีเงินแล้ว จังหวะนี้หากเก็บเงินคืนได้ก็ควรเก็บก่อน เพราะหากการเมืองใหม่มา เดี๋ยวก็ต้องปรับลดราคาตามนโยบายที่หาเสียง ดังนั้น อาจจะขึ้นกก.ละ 1 บาท ก็ไม่น่าเกลียด อีกทั้ง ตอนนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูที่ราคาแอลพีจีแพงจึงควรรีบเอาเงินคืนมาก่อน” แหล่งข่าว กล่าว

แหล่งข่าว กล่าวว่า นอกจากนี้ ราคาน้ำมันก็เริ่มกลับมาแพงขึ้น โดยกระทรวงพลังงานยังคงติดตามราคาพลังงานที่ยังคงผผวนอย่างต่อเนื่อง โดยราคาน้ำมันดีเซล (Gas Oil) วันที่ 27 ก.พ. 2566 อยู่ที่ 101.59 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมายังอยู่ในระดับ 98-99 ดอลลาร์ต่อบาเรล ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ปรับขึ้นด้วยเช่นกันที่ขึ้นมาระดับ 35 บาท จากดอลลาร์ละ 32-33 บาท ถือว่าผันผวนมาก เหมือนกับเบนซินที่มีขึ้นและลง แม้ว่า กบง. จะปรับลดค่าการตลาด แต่ผู้ให้บริการน้ำมันก็ไม่สามารถลดราคาได้เนื่องจากปัจจัย ทั้งอัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับขึ้น เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ยังคงเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เฉลี่ยลิตรละ 4.77 บาท วันละ 325.38 ล้านบาท โดยคงราคาดีเซลหน้าสถานีบริการน้ำมันไว้ที่ลิตรละ 34 บาท จากก่อนหน้านี้เก็บลิตรละกว่า 5 บาทในช่วงเดือนธ.ค. 2565 ถึงเดือนก.พ. 2566 สามารถเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันได้กว่า 2 หมื่นล้านบาท แต่เงินกองทุนยังคงติดลบกว่า 1 แสนล้านบาท

แหล่งข่าว กล่าวว่า ภายหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ 80,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2566 คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้เชิญสถาบันการเงินเข้าหารือราว 6-7 สถาบัน หลายรายเริ่มสนใจเพราะสภาพคล่องกองทุนน้ำมันฯ เริ่มดีขึ้น แต่บางรายยังกังวลว่าพอมีเงินเยอะจะใช้หนี้เงินกู้ก่อนกำหนด จะทำให้ได้ดอกเบี้ยน้อยเหมือนไม่ได้อะไรเลย ซึ่งจากข้อมูลที่ได้รับทราบ แม้กองทุนน้ำมันฯ ได้เงินกู้มาก็ต้องใช้หนี้ที่ยังค้างอยู่กว่า 80,000 ล้านบาท รวมถึงลดการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพื่อลดราคาน้ำมันดีเซล เป็นต้น

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานนอกจากต้องบริหารราคาน้ำมันในประเทศแล้ว ยังต้องดูราคาประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเช่น เวียดนาม หากราคาน้ำมันในประเทศแพงกว่านักลงทุนก็จะย้ายการลงทุน กระทบต่อเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อก่อนเวียดนามแพงกว่า แต่ตอนนี้เริ่มถูกกว่าไทย ดังนั้น นอกจากจะต้องลดราคาน้ำมันให้ประชาชน ก็ต้องคำนึงถึงประเทศชาติและเศรษฐกิจด้วย อีกอย่างวันที่ 20 พ.ค. 2566 นโยบายลดภาษีน้ำมันดีเซลก็จะหมดลง และรัฐบาลจะยังคงต่อมาตรการอีกหรือไม่ก็ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง

“มองว่ากองทุนน้ำมันฯ จะกู้เงินงวดใหม่นี้ได้ในเดือนมี.ค. 2566 เพราะดูจากก้อนแรกรวม 3 หมื่นล้านบาท ได้แปลงจากหนี้การค้ามาเป็นหนี้สถาบันทางการเงิน เป็นการชำระหนี้เก่า ที่เหลืออยู่ราว 8 หมื่นล้าน เมื่อครบ 1 ปี วงเงินกู้จะกลับมาที่ 4 หมื่นล้านบาทเท่าเดิม ส่วนวงเงิน 1.5 แสนล้านบาทนั้น ต้องดูว่ากองทุนน้ำมันฯ จะกู้ครบหรือไม่ เพราะตอนนี้กระทรวงการคลังอนุมัติค้ำประกันให้รวม 1.1 แสนล้านบาท” แหล่งข่าว กล่าว